ภาพลักษณ์ การเมือง ภาพลักษณ์ อนุทิน ชาญวีรกูล ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คอลัมน์หน้า 3 : ภาพลักษณ์ การเมือง ภาพลักษณ์ อนุทิน ชาญวีรกูล ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ใช่ว่าการดำรงอยู่ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ไม่ว่าในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

จะดำเนินไปอย่าง “เปี่ยมสุข”

เพียงเผชิญกับหมัดตรงจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในกรณี “แทงม้าตัวเดียว” ก็หนักหนาสาหัสอย่างยิ่งแล้ว

เนื่องจาก “วัคซีน” มิได้ดำรงอยู่อย่าง “เต็มแขน”

Advertisement

แม้จะมีความพยายามจะ “ร่าง” พระราชกำหนดนิรโทษกรรมอย่างที่เรียกว่า “เหมาเข่ง” ออกมา ยิ่งถูกต่อต้านอย่างดุเดือด เข้มข้น

โดยเฉพาะจาก นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร

เมื่อประสบเข้ากับสถานการณ์ท้าตีท้าต่อยระหว่าง “ชมรมแพทย์ชนบท” กับ “องค์การเภสัชกรรม” ประดังเข้ามาอีก

เส้นทางของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จึงใช่ว่าจะ “ราบรื่น”

ประหนึ่งว่า การปรากฏขึ้นของเครื่องตรวจเชื้อ ATK จะดำเนินไปอย่างชนิดฉลุยไม่ว่าจะมองผ่าน องค์การเภสัชกรรม ไม่ว่าจะมองผ่าน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

กระนั้น ก็อุตส่าห์มี “จระเข้” ใหญ่ เข้ามา “ขวาง”

ความไม่พอใจอันสะท้อนมาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต่อบทบาทขององค์การเภสัชกรรม ก็หนักหนาพอแรงแล้ว

นี่ยังมี “ชมรมแพทย์ชนบท” ประกาศศึกขึ้นมาอีก

เหมือนกับว่าศึกครั้งนี้จะเป็นการปะทะของ 2 ฝ่าย นั่นก็คือระหว่าง องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชมรมแพทย์ชนบท

แต่ในที่สุดก็กระทบเข้ากับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล

ไม่ว่าจะในสถานะแห่งความเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะในสถานะแห่งความเป็นประธานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

มองหน้าก็ไม่มี “ความหวัง” มองหลังก็ไม่มี “ความภูมิใจไทย”

รู้อยู่เป็นอย่างดีว่า ปฏิกิริยาอันมาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปฏิกิริยาอันมาจากชมรมแพทย์ชนบท

ล้วนเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

ปมเงื่อนอยู่ตรงที่ “เครดิต” ที่แตกต่างกันระหว่างองค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อวางเรียงกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชมรมแพทย์ชนบท

เด่นชัดว่าฝ่ายใดมี “เครดิต” ทางสังคมมากกว่า

เพียงภาพลักษณ์ขององค์การเภสัชกรรมในเรื่องของ “วัคซีน” ก็เหน็ดเหนื่อยและเป็นด้านลบอย่างยิ่งแล้ว

เมื่อเทียบกับ “สปสช.” ยิ่งกลายเป็น “ลบ”

ยิ่งเมื่อ “ชมรมแพทย์ชนบท” ออกมาท้าทายบนฐานแห่งความมั่นใจในความเป็น “ผู้ปฏิบัติ” ด่านหน้าของพวกตน

ยิ่งทำให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล อยู่ในสภาวะ “กระอักเลือด”

สถานะของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะรัฐมนตรี จึงแทบไม่แตกต่างไปจากสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี

นั่นก็คือ ตกเป็น “เป้า” ในทางการเมือง

ไม่ว่าจะมองผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมองผ่าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล ล้วนเป็นเงาสะท้อนแห่ง “รัฐล้มเหลว”

ยืนยันภาวะ “รุ่งริ่ง” มากกว่าจะ “รุ่งโรจน์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image