จุดอ่อน บกพร่อง ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณี ‘ธรรมนัส’

คอลัมน์หน้า 3 : จุดอ่อน บกพร่อง ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณี ‘ธรรมนัส’

คอลัมน์หน้า 3 : จุดอ่อน บกพร่อง ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณี ‘ธรรมนัส’

การยึดงาน 4 ส่วนราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้มาอยู่ในความรับผิดชอบของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

มากด้วยความละเอียดอ่อน และอ่อนไหว

เป็น “อำนาจ” ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีจะสามารถทำได้ แต่ภายในการตัดสินใจนี้ก็ล่อแหลม

ไม่เพียงแต่ต่อ “รัฐมนตรี” ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Advertisement

หากที่สำคัญเป็นอย่างมากการกำกับและดูแลงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เคยอยู่ในมือของรองนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์

มิได้เป็นงานของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ในยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยทำอย่างนี้ได้ไม่ว่าต่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ไม่ว่าต่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

Advertisement

แต่ไม่ใช่อย่างที่ทำในเดือนกันยายน 2564

ความจริงในทางการเมือง “ก่อน” และ “หลัง” การเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ได้เกิดลักษณะพิเศษในรัฐบาลขึ้นอย่างเด่นชัด

อำนาจมิได้อยู่มือ “คสช.” อย่างเบ็ดเสร็จ

หากอำนาจยังอยู่ในมือ ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะตัดสินใจอย่างไรก็ดูเหมาะสม

ไม่มีใครคัดค้าน ต่อต้าน

แต่พลันที่มีการจัดตั้ง “รัฐบาลผสม” อันประกอบด้วยพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา

“อำนาจ” ก็มิได้เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด

ในเมื่อมีการแบ่งงานผ่าน “รองนายกรัฐมนตรี” จากพรรคภูมิใจไทย จากพรรคประชาธิปัตย์ ก็จำเป็นต้องให้ความเคารพ

การตัดสินใจในกรณี “เกษตรและสหกรณ์” จึงแปลก แปร่ง

ความแปลกแปร่งมิได้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงดำเนินไปเพื่อแสดงการเอาอกเอาใจต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เท่านั้น

หากแต่ยัง “สะท้อน” ความคิดในเชิง “บริหาร”

เนื่องจากเป้าหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็เพื่อแสดงความเด็ดขาดของนายกรัฐมนตรี

แต่การ “แบ่งงาน” ใหม่กลับแสดงความอ่อนแอ

เพราะงานที่แย่งมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ แย่งมาจากรองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

เพื่อมอบให้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ในเมื่อเป็นงานเดิมของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในความเป็นจริงก็เท่ากับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ยังดำรงบทบาทและความหมายอยู่

คำสั่ง “ปลด” จึงแทบไม่มี “ความหมาย” ในทางเป็นจริง

ความไม่พอใจโดยฉับพลันย่อมเป็นความไม่พอใจจากพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมเป็นความไม่พอใจของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเกษตรฯ

เป็น “ปฏิกิริยา” โดยตรงถึง “นายกรัฐมนตรี”

ความไม่พอใจนี้หากไม่สามารถแก้ได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที ย่อมทำให้ความขัดแย้งยิ่งขยายกรอบและขอบเขตออกไป

ชี้ชัดถึงความไร้หลักการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image