‘45 ปี 6 ตุลา’ กับ กฤษฎางค์ นุตจรัส หนักแน่น มั่นคง

คอลัมน์หน้า 3 : ‘45 ปี 6 ตุลา’ กับ กฤษฎางค์ นุตจรัส หนักแน่น มั่นคง

พลันที่ฝ่ายบริหาร ธรรมศาสตร์ มีมติให้จัดงาน 45 ปี 6 ตุลา ทาง “ออนไลน์” ภายใต้ข้ออ้างว่าเกรงจะก่อให้เกิด “คลัสเตอร์” แพร่โควิด

บรรยากาศก็ “อึมครึม”

น่าสังเกตว่า หลังพิงของฝ่ายบริหาร ธรรมศาสตร์ ไม่เพียงจะอยู่ที่ พ.ร.ก. “ฉุกเฉิน” อันเป็นอาวุธเดียวกันกับของ “รัฐบาล”

นับแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา

Advertisement

หากแต่ยังมี “องค์การนักศึกษา” ประสานกับ “ตัวแทน” ของนักศึกษาแต่ละคณะออกมาแสดงความเห็นชอบ

แต่เมื่อประสบเข้ากับกระแส “ต้าน”

ไม่ว่าจะเริ่มจาก “สภานักศึกษา” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะตามมาด้วยการไม่ยอมขานรับของ
นายกฤษฎางค์ นุตจรัส

Advertisement

สถานการณ์ 45 ปี 6 ตุลาคมก็เริ่ม “เปลี่ยน”

ทําไมบทบาทของ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ที่ออกมา “ขวาง” มติของฝ่ายบริหาร ธรรมศาสตร์ จึงก่อให้เกิดผลสะเทือน

1 เพราะตัวของ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส

ขณะเดียวกัน 1 เพราะบทบาทและการเคลื่อนไหวอย่างชนิด “กัดไม่ยอมปล่อย” ของสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อย่าลืม “รากฐาน” ของ “สภานักศึกษา”

เด่นชัดตั้งแต่เมื่อปี 2563 มาแล้วว่า ฝ่ายที่กุมเสียงข้างมากอยู่ในสภานักศึกษา คือ พรรคโดมปฏิวัติ

อันเป็นพรรคของ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และเพื่อน

แม้วันนี้ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ จะถูก “จำขัง” ณ คุก แต่ก็ยังมี น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และยังมี น.ส.เบญจา อะปัน

เมื่อประสานพลังกับ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ก็เกิด “กัมมันตะ”

สังคมรับรู้สถานะของ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ในเดือนตุลาคม 2564 ผ่านคุณสมบัติ 2 ประการสำคัญในทางการเมือง

1 เขาได้รับเลือกเป็น “องค์ปาฐก” ใน 45 ปี 6 ตุลาคม

ขณะเดียวกัน 1 เขาเป็นทนายสิทธิมนุษยชนและรับว่าความในคดีของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” กระทั่ง “ทะลุฟ้า”

ยิ่งกว่านั้น ยังอยู่ที่ “ความเป็นมา”

เขาไม่เพียงแต่เป็นคนหนึ่งที่รับชะตากรรมจากสถานการณ์เมื่อวันที่6 ตุลาคม 2519 เท่านั้น หากยังได้รับเลือกจากประชาคมธรรมศาสตร์ในปี 2520

เป็น “นายก อมธ.”

เขาจึงอยู่กับสถานการณ์การรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตั้งแต่ปีแรกคือเมื่อเดือนตุลาคม 2520

และดำรงความเป็น “คน 6 ตุลา” มาอย่างไม่เคยเปลี่ยน

ภายในความขัดแย้งจากกรณี “45 ปี 6 ตุลา” แม้จะมีความเงียบดำรงอยู่ แต่ก็เป็นความเงียบอย่างมี “พลวัต” ในตัวเอง

เห็นได้จาก “แถลงการณ์” จาก “องค์การนักศึกษา”

เห็นได้จากการออกมายืนยันของ “คณะกรรมการจัดงาน” ที่จะยืนหยัดจัดในสถานที่จริงทางประวัติศาสตร์ ไม่ยอมรับการจัดแบบ “ออนไลน์”

นี่คือภาวะ “คุกรุ่น” ก่อนถึง “45 ปี 6 ตุลาคม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image