พปชร. ฝุ่นตลบ 3 ป. ช่วงชิง คลื่นใต้น้ำ ยังแรง

พปชร. ฝุ่นตลบ 3 ป. ช่วงชิง คลื่นใต้น้ำ ยังแรง

คอลัมน์หน้า 3 : พปชร. ฝุ่นตลบ 3 ป. ช่วงชิง คลื่นใต้น้ำ ยังแรง

แม้ กกต.จะปฏิเสธข่าวว่า หนังสือแจ้งเตือนพรรคการเมืองเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปนั้นไม่ได้เป็นสัญญาณว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. เกิดขึ้น

แต่ดูเหมือนทุกพรรคการเมืองต่างแสดงความพร้อมที่จะลงเลือกตั้ง

พร้อมแล้วแม้ว่ารัฐบาลยังมีวาระเหลือถึงปี 2566

พรรคประชาธิปัตย์มีความพร้อมเสนอชื่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรี

Advertisement

พรรคภูมิใจไทย พร้อมเสนอชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็มีความพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ได้ตระเวนลงพื้นที่ในช่วงปิดสมัยประชุมรัฐสภา และแนะนำตัวว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละแห่ง

Advertisement

พรรคก้าวไกลก็แนะนำตัวว่าที่ผู้สมัครในบางจังหวัด

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต่างแยกย้ายกันลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วม

ตอกย้ำว่าอีกไม่นาน การเลือกตั้งทั่วไปอาจจะเกิดขึ้น

การลงพื้นที่ของนายกฯ และพรรคการเมืองต่างๆ นั้นมีเป้าหมายเพื่อการหาเสียง

เพียงแต่การหาเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ยังคงมี “เบื้องหลัง” หลังจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุดผ่านพ้นไป

หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ได้ปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย

ก่อเกิดเป็นกระแสคลื่นที่โหมกระหน่ำรัฐบาลมาจนถึงบัดนี้

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้เกิดปรากฏการณ์ “แยกกันเดินลงพื้นที่” ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร

ก่อเกิดการเปรียบเทียบจำนวน ส.ส.พลังประชารัฐที่ไปต้อนรับ คณะบิ๊กตู่ กับ คณะบิ๊กป้อม

ก่อเกิดกระแสพรรคใหม่ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ตระเตรียมไว้หากพรรคพลังประชารัฐเบี้ยว

เกิดความเคลื่อนไหวของ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ที่ประกาศทิ้ง พปชร. ไปสังกัดพรรคใหม่ และกลายเป็นชนวนร้าวภายในพื้นที่ภาคใต้ของ พปชร.

ตอกย้ำกระแสร้าวภายในพรรคที่ยังปรากฏ

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปลด ร.อ.ธรรมนัส พ้นจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทวงเกษตรฯ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ แบ่งงานรองนายกฯดูแล 4 กรมของกระทรวงเกษตรฯ ที่ ร.อ.ธรรมนัส เคยควบคุม

ออกคำสั่งในนาม ครม. มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร ดูแลทั้ง 4 กรม

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ในความดูแลของพรรคประชาธิปัตย์ มี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ

นายจุรินทร์ ซึ่งเป็นรองนายกฯ น่าจะเป็นผู้ที่ดูแล ไม่ใช่ พล.อ.ประวิตร

เมื่อการมอบหมายงานมีลักษณะแปลกๆ พลพรรค ปชป. จึงออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ทบทวนคำสั่ง ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ชี้แจงว่า 4 กรมดังกล่าวเป็นของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามนโยบายของพรรคจึงต้องมาดูแล

หลังจาก พล.อ.ประวิตร ชี้แจง รุ่งขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็เปลี่ยนแปลงคำสั่ง

โยก 4 กรมที่เคยมอบให้ พล.อ.ประวิตร ดูแล ไปให้ นายจุรินทร์ ดูแล

แม้เรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร จะบอกว่าไร้ปัญหา แต่การดำเนินการดังกล่าวย่อมเป็นปัญหา

คลื่นความขัดแย้งดำรงอยู่

ต่อมา พล.อ.ประวิตร แต่งตั้ง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นที่ปรึกษา ให้เหตุผลว่าต้องการให้มาช่วยพรรค

สำหรับ นายสมศักดิ์ นั้นเป็นกลุ่มสามมิตร และเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐอยู่แล้ว

แต่ นายพีระพันธุ์ เพิ่งสมัครเป็นสมาชิก พปชร.

และเมื่อตรวจสอบสายสัมพันธ์ พบว่า นายพีระพันธุ์ เป็นคนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดึงตัวไปช่วยงานที่ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่ที่ นายพีระพันธุ์ ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์

งานสำคัญที่ นายพีระพันธุ์ ได้รับมอบหมาย นอกจากตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯแล้ว ยังได้รับการผลักดันให้เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การที่ พล.อ.ประวิตร ตั้ง นายพีระพันธุ์ เป็นที่ปรึกษา จึงมีความหมาย

ว่ากันว่า เรื่องดังกล่าว น่าจะเป็นความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มอบให้นายพีระพันธุ์ ทำหน้าที่ “เลขาฯของบิ๊กป้อม” เพื่อรวบรวมข่าวสารของ ส.ส.และพรรคไปประสานกับ พล.อ.ประยุทธ์

เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่มอบให้ นายอนุชา บูรพชัยศรี อดีตโฆษกรัฐบาลมาเก็บข้อมูลในการประชุมพรรค พปชร.

และมีการวางตัว นายพีระพันธุ์ ให้มีอนาคตใน พปชร.

อาจขึ้นชั้นเลขาธิการพรรค หรือหัวหน้าพรรคคนต่อไป

การแต่งตั้ง นายพีระพันธุ์ ครั้งนี้ เป็นความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประวิตร หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยแต่งตั้ง พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือ บิ๊กน้อย เป็นประธานยุทธศาสตร์ พรรคพลังประชารัฐ

ครั้งนั้นก็มีการคาดหมายว่า อาจจะวางตัว พล.อ.วิชญ์ เป็นเลขาธิการพรรคคนต่อไป

เป็นเลขาธิการพรรคคนต่อจาก ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน

การวางตัว พล.อ.วิชญ์ ดังกล่าว เมื่อผนวกกับกระแสข่าวเกี่ยวกับ นายพีระพันธุ์ ที่เข้ามาเพื่อดูแลพรรคเช่นกัน

ทำให้มองเห็นคลื่นใต้น้ำภายในพรรคพลังประชารัฐ

เป็นคลื่นใต้น้ำที่เกิดขึ้นจากการปะทะกันระหว่างขั้ว พล.อ.ประยุทธ์ กับขั้ว พล.อ.ประวิตร เหมือนเดิม

เป็นการปะทะกันภายในพรรคพลังประชารัฐที่ทุกฝ่ายต้องจับตามอง

มองว่าการปะทะกันครั้งนี้จะยุติลงด้วยการ “แตกหัก” หรือยุติลงด้วยการ “ประนีประนอม”

เพราะผลจากการปะทะต่อรอง ย่อมมีผลต่อรัฐบาลชุดนี้ และนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

ทั้งนี้ มีกระแสข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐอาจจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ มากกว่า 1 คน

เพราะประเด็นนั่งนายกฯเกิน 8 ปียังไม่เคลียร์

เสถียรภาพของรัฐบาลต้องเกิดจากความสามัคคีภายในพรรคพลังประชารัฐ ความสามัคคีของพลังประชารัฐจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากความกลมเกลียวของ 3 ป.

ถ้า 3 ป. ประนีประนอมกันลงตัว ฝุ่นที่ตลบอยู่ในขณะนี้จะหายไป

แต่ถ้าบทสุดท้ายจบลงที่ “แตกหัก”

อะไรๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้

ณ เวลานี้ แม้ความเคลื่อนไหวของ 3 ป. จะแลดูเสมือนกลับคืนสู่ปกติ

แต่แท้จริงแล้ว คลื่นใต้น้ำยังแรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image