ถึงเวลา ‘จัดทัพ’ พท.กระชากวัย พปชร.วุ่นเรื้อรัง

วิเคราะห์หน้า 3 : ถึงเวลา‘จัดทัพ’ พท.กระชากวัย พปชร.วุ่นเรื้อรัง

คอลัมน์หน้า 3 : ถึงเวลา ‘จัดทัพ’ พท.กระชากวัย พปชร.วุ่นเรื้อรัง

การเมืองร้อนแรง เฉพาะเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมาวันเดียว คอการเมืองนั่งปัดหน้าจอโทรศัพท์กันมือหงิก

ข่าวจากเวทีขอนแก่น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประกาศลาออก ส่งไม้ต่อให้คนรุ่นใหม่ ตามมาด้วยการจัดทัพกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

ได้ น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หลายสมัย ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เป็นเลขาธิการพรรคต่อไป

รองหัวหน้าพรรค และตำแหน่ง กก.บห.พรรค มาจากเจเนอเรชั่นหนุ่มสาวที่มีประสบการณ์ทางการเมืองแพรวพราวของพรรค

Advertisement

บรรดาผู้อาวุโสที่กรำศึกร่วมกับพรรคมายาวนาน ถอยไปเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ ซึ่งจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางการเมืองของพรรค

เรียกเสียงฮือฮาอย่างมาก คือ การเปิดตัว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของ นายทักษิณ ชินวัตร และเป็นหลานสาวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

น.ส.แพทองธาร หรืออุ๊งอิ๊ง ขึ้นเวทีโชว์วิสัยทัศน์ เสนอมุมมองคนรุ่นใหม่ต่อการเมือง เล็งที่จะปฏิรูป 3 เรื่องสำคัญคือ 1.การศึกษา 2.เทคโนโลยี 3.ส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์

นักข่าวไล่ถามว่า จะเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทยด้วยไหม คำตอบจากลูกสาวอดีตนายกฯ ทักษิณคือ เป็นเรื่องของอนาคต

เป็นการปรับเปลี่ยนที่ช่วยกระชับอายุ ลดรอยตีนกา ทำให้ชื่อพรรคเพื่อไทยกลายเป็นหัวข้อของการสนทนา และวิเคราะห์คาดการณ์ทันที

น่าสนใจอย่างมากว่า หากเกิดการเลือกตั้งขึ้นมาเมื่อไหร่ ชื่อของ “แพทองธาร” จะเป็น 1 ใน 3 แคนดิเคตนายกฯของพรรค

ที่จะต้องส่งให้ กกต. ตามมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่

กระแสตอบรับการเปลี่ยนแปลงของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ จะเป็นผู้ให้คำตอบ

ร่วมกับการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย และตัวของ น.ส.แพทองธารเอง

อีกข่าวที่ดำเนินไปคู่ขนานกันคือ สถานการณ์ในพรรคพลังประชารัฐ

คอข่าวถามกันวุ่นว่า จบไหม จบยังไง

คำตอบคือ แม้ลุงป้อมทุบโต๊ะให้จบ แต่เรื่องไม่จบ

หลังการปลด 2 รมช. คนสนิท ลุงป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร. บรรยากาศในพรรคอึมครึมมาตลอด

มีเสียงเรียกร้องให้พรรคจัดทัพกรรมการบริหารพรรคใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนเลขาธิการพรรค แต่ลุงป้อมไม่ยินยอม

การเดินสายตรวจราชการ ตรวจน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับ ลุงป้อม ซึ่งเป็นรองนายกฯ เกิดการเปรียบเทียบ ในเรื่องจำนวน ส.ส.ที่ไปต้อนรับ ในเรื่องประชาชนที่ไปต้อนรับ

ลุงตู่โดนหนัก เพราะมีฝ่ายเห็นต่างไปชูป้ายด่า ขณะที่ลุงป้อม ดีกรีเบากว่ามาก

ปรากฏการณ์เหล่านี้ หลายๆ สายตาของสังคม มองไปที่ “ผู้กองนัส”

เมื่อพ้นจาก รมช.เกษตรฯ ผู้กองนัส หรือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เดินหน้าต่อในบทบาท เลขาธิการพรรค ลงไปจัดเตรียมผู้สมัครสำหรับการเลือกตั้งตามจังหวัดต่างๆ

สร้างความไม่พอใจ ให้กับอีกขั้วในพรรค พปชร. เพราะยิ่งสร้างอิทธิพลในพรรคให้กับ ผู้กองนัส

ตามมาด้วยข่าวว่า ผู้กองนัสทำโพลของผู้สมัคร เพื่อใช้ประกอบการตัดสินว่าจะให้ลงสมัครต่อไปหรือไม่

ในเรื่องเหล่านี้ ทางพล.อ.ประยุทธ์ ได้ปรับเปลี่ยน จัดวาง ยุทธศาสตร์การเมืองของตนเองในพรรค พปชร.ใหม่

แทนที่จะลอยตัว ไม่สัมผัสสัมพันธ์กับ ส.ส. โดยให้บิ๊กป้อมทำหน้าที่แทน จนเกิดปัญหาช่องว่างห่างเหินจาก ส.ส. ก็เริ่มที่จะลงไปสัมพันธ์มากขึ้น

และส่ง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค มือทำงานด้านกฎหมายที่บิ๊กตู่ไว้วางใจ ให้เข้าไปช่วยงานลุงป้อม

แต่ก็โดนเครือข่ายของบิ๊กป้อม เปิดศึกไล่ถล่ม แบบไม่เกรงใจนายกฯบิ๊กตู่

และมีการตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย ไว้สำรอง

ซึ่งเรื่องก็ไปถึงหู “ลุงป้อม” จนได้

เมื่อปะหน้า “ลุงฉิ่ง” ลุงป้อมถึงกับถามตรงๆ แบบเดือดๆ

เป็นเรื่องเกรียวกราวในแวดวงรัฐบาล

และยังมีเสียงลุงป้อมแว่วตามมาว่า ถ้านายกฯ ตั้งพรรคใหม่ กูเลิก

เรื่องการทำโพลของผู้กองนัส กลายเป็จุดแตกหัก ให้ “2 ป.” เห็นว่าจะปล่อยให้พรรค พปชร. เดินไปภายใต้ “ลุงป้อม-ผู้กองนัส” ไม่ได้แล้ว

บิ๊กตู่เรียกประชุม รมต.ที่ใกล้ชิด ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย

ตามมาด้วยการประกาศยื่นใบลาออกของสมาชิกพรรคกลุ่มหนึ่ง ส่วนมากเป็น รมต. จำนวน 9 คน จากทั้งหมด 22 ราย

เป้าหมายคือ หากกรรมการบริหารพรรค ลาออกครึ่งหนึ่ง จะต้องมีการประชุมใหญ่ เลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ รวมถึงหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคด้วย

โดยเล็งว่า การประชุมกรรมการบริหารพรรค ในวันที่ 28 ตุลาคม น่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลง

เอาเข้าจริงๆ จำนวนกรรมการบริหารที่ลาออก ไม่ถึงครึ่ง

ก่อนการประชุมวันที่ 28 ตุลาคม การเคลียร์หลายครั้ง สะท้อนว่า ความขัดแย้งลงลึกเกินแก้ไข

แต่ไม่มีใครอยากลงสนามเลือกตั้งในสภาพอย่างนี้ จำเป็นต้องจับมือกันเดินต่อไป ภายใต้เงื่อนไขของกฎกติกาและการเมืองที่ พปชร.ยังได้เปรียบ

การประชุมกรรมการบริหารพรรควันที่ 28 ตุลาคม จึงผ่านไปแบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น

แต่ทุกคนใน พปชร. รู้ดีว่า ยิ่งจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง

ภาพของการเมืองหลังจากนี้ มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะส่งผลต่อการช่วงชิงอำนาจหลังการเลือกตั้ง

พรรคเพื่อไทยยกเครื่องใหม่ ใช้เครื่องจักรการเมืองรุ่นใหม่ เกิดจุดขายชัดเจน

แน่นอนว่า สิ่งที่จะตามมาคือ เกมต่อต้านจากฝ่ายตรงข้าม

พรรคก้าวไกล เร่งจัดผู้สมัคร กระแสดีขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาคือจะไปเจอด่านสกัดยัดข้อหาเข้าวันไหนยังไม่มีใครรู้

พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรค มีเป้าหมายรักษาฐานเสียง ขยายเท่าที่ต้นทุนในมือจะอำนวย

ส่วนพรรค พปชร. มีเป้าหมายสำคัญคือ “ไปต่อ” โดยมี “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ อีกครั้ง ที่ผ่านมาเป็นรัฐบาลที่แข็งแกร่งทางการเมือง ด้วยการโอบอุ้มจากกฎกติกาของรัฐธรรมนูญ 2560

ฝ่ายค้านจัดหนักมาหลายรอบ มีรอยยุบรอบคัน แต่ก็ยังวิ่งได้

แต่ปัญหาเกิดจากแก่นแกนของพรรคที่มีพื้นฐานเป็นพี่น้องกันคือ 3 ป.

สอดคล้องกับหลักการยุทธโบราณที่ว่า ป้อมค่ายแข็งแกร่ง ตีแตกจากภายใน

เป้าหมายของบิ๊กตู่ ที่จะไปต่อ ยากขึ้นเรื่อยๆ

อุปสรรคมาจากภายใน จากพี่ๆ น้องๆ คนรอบๆ ตัว นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image