ชิงปธ.วิป-สภาล่ม เปิดสมัยประชุม รัฐบาล เสี่ยง

วิเคราะห์หน้า 3 : ชิงปธ.วิป-สภาล่ม เปิดสมัยประชุม รัฐบาล เสี่ยง

วิเคราะห์หน้า 3 : ชิงปธ.วิป-สภาล่ม เปิดสมัยประชุม รัฐบาล เสี่ยง

ถึงคิว นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และพวก

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาคำฟ้องคดีที่อัยการสูงสุดกล่าวหา นายวิรัช รัตนเศรษฐ กับพวก รวม 87 คน ในคดีสนามฟุตซอล

ผลการพิจารณา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีมติรับฟ้อง

ทำให้นายวิรัชต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

Advertisement

นอกจากนายวิรัชแล้ว ยังมี นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ ภรรยา และ นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ น้องสาวของนางทัศนียา ถูกฟ้องด้วย

ทำให้นางทัศนียาและนางทัศนาพรต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.เช่นกัน

การพ้นจาก ส.ส.ของนายวิรัช มีนัยยะทางการเมือง เพราะอีกบทบาทหนึ่งของนายวิรัชคือเป็นประธานวิปรัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่ประสานงานกับพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้านและรัฐบาล

Advertisement

การพ้นจากตำแหน่งและต้องหาบุคคลทดแทนในสถานการณ์การเมืองเช่นปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องที่สะท้อนภาพการเมืองมากมายให้เห็น

โดยเฉพาะการคุมเสียงในสภา ซึ่งหลังจากนายวิรัชพ้นจากเก้าอี้ประธานวิป การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกในสมัยประชุมนี้ก็ล่มลง

กลายเป็นข้อสังเกตที่ถามถึงเสถียรภาพของรัฐบาล

ย้อนกลับไปยังการประชุมรัฐสภาสมัยที่เพิ่งผ่านมา ในช่วงสุดท้ายก่อนปิดสมัยการประชุม ได้เกิดเหตุการณ์งัดข้อระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

เป็นเหตุการณ์ที่ปะทุขึ้นในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

มีกระแสข่าวว่าอาจจะมีการโหวตคว่ำ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส

จากกระแสข่าวที่เหมือนกับข่าวลือ พอใกล้วันเวลาโหวต กลับมีความเคลื่อนไหวที่ยืนยันว่าน่าจะเป็นจริง

แล้วในที่สุดกระแสความขัดแย้งที่เป็นเพียง “ข่าวสะพัด” ก็กลายเป็นจริงหลังจากการสภาผู้แทนราษฎรมีมติโหวต

แม้เสียงไม่ไว้วางใจจะไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาฯ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเสียงไม่ไว้วางใจมากที่สุด ในบรรดารัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

หลังจากนั้นก็มีการปลด ร.อ.ธรรมนัส และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย

ทุกอย่างที่ “ลือ” กลายเป็น “จริง”

ความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐนั้นมีความสำคัญ เพราะพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคใหญ่ และถือเป็นฐานเสียงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

เมื่อรัฐบาลไม่ไว้วางใจพรรคแกนนำรัฐบาล ย่อมเกิดปัญหา

แต่หลังจากความขัดแย้งเกิดขึ้น สมัยการประชุมรัฐสภาครั้งที่แล้วก็หมดลงพอดี ทำให้พลัง ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐ ยังไม่มีโอกาสแสดงอานุภาพ

กระทั่งการการประชุมรัฐสภาสมัยปัจจุบันเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน จึงมีความเคลื่อนไหว

ก่อนหน้านี้ มีความเคลื่อนไหวที่พรรคพลังประชารัฐ โดยปรากฏกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์ พูดคุยกับรัฐมนตรีที่อยู่ขั้วบิ๊กตู่ หารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

เพื่อ “ล้างไพ่” พรรคพลังประชารัฐ ด้วยการให้คณะกรรมการบริหารพรรคลาออก ทำให้ ร.อ.ธรรมนัส ต้องพ้นจากเลขาธิการพรรค

จากนั้นจะเลือกคณะกรรมการบริหารกันใหม่

แต่แผนดังกล่าวล่มลง เมื่อ พล.อ.ประวิตร ไม่เอาด้วย

สุดท้าย ร.อ.ธรรมนัสยังเป็นเลขาธิการพรรค

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือการแบ่งขั้วการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐอย่างชัดแจ้งขึ้น

ขั้ว พล.อ.ประยุทธ์ ขั้ว พล.อ.ประวิตร

โดยนายวิรัชกลายเป็นบุคคลที่อยู่ในขั้วของ พล.อ.ประวิตร

เมื่อนายวิรัช ซึ่งเป็นประธานวิปรัฐบาลต้องพ้นจาก ส.ส. เพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับฟ้องคดีสนามฟุตซอล

การแสวงหาประธานวิปรัฐบาลคนใหม่จึงเกิดขึ้น

การแต่งตั้งประธานวิปรัฐบาลนั้น ต้องให้ พล.อ.ประวิตร เป็นผู้เสนอ และพล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง

เมื่อ พล.อ.ประวิตรกับ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีรอยร้าว จึงเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตามการคัดเลือกผู้สมควรเป็นประธานวิปรัฐบาลคนต่อจากนายวิรัช

ทั้งนี้เบื้องต้น มี 3 ชื่อ ประกอบด้วย หนึ่ง นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ ที่กลุ่มของ นายวิรัช ผลักดันให้ทำหน้าที่แทน สอง นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ปัจจุบันเป็น รองประธานวิปรัฐบาล และสาม นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี กลุ่มสามมิตรเสนอเข้าประกวด

อย่างไรก็ตาม เมื่อรายชื่อถึงมือ พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐตัดสินใจส่งชื่อเดียวให้ พล.อ.ประยุทธ์พิจารณา

ชื่อนั้นคือ นายนิโรธ

ข้อน่าสังเกตสำหรับการพิจารณาแต่งตั้งประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ก็คือ การคาดหวังคุณสมบัติของประธานวิปคนใหม่

นายชัยวุฒิระบุว่า ประธานวิปรัฐบาลจำเป็นต้องดีลกับนายกรัฐมนตรีได้ด้วย

ทำให้มองเห็นสภาพการประสานงานระหว่างสภากับรัฐบาล

และเมื่อ พล.อ.ประวิตรยืนยันเสนอชื่อนายนิโรธ ซึ่งกลุ่มนายวิรัชผลักดันให้ทำหน้าที่ต่อเนื่อง ก็ปรากฏข่าวว่ารัฐบาลได้หารือกันว่าจะให้ นายอนุชา นาคาศัย จากกลุ่มสามมิตร และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ช่วยประสานงานด้วย

เท่ากับว่าแกนนำวิปรัฐบาลมีทั้งขั้วบิ๊กป้อม และขั้วบิ๊กตู่ ผสมกัน

ภาพของการนำเสนอประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ ทำให้เห็นสภาพความขัดแย้งที่ยังมีอยู่ของขั้วบิ๊กตู่ และขั้วบิ๊กป้อม

อย่างน้อยที่สุดก็แสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์กังวลต่อเอกภาพของเสียง ส.ส.ในสภาพอสมควร

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ยังมี ร.อ.ธรรมนัส เป็นเลขาฯ มี พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้า

ส่วนรัฐบาลก็จำเป็นต้องเสนอกฎหมายหลายฉบับที่ต้องผ่านเท่านั้น เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

ทางด้านพรรคร่วมฝ่ายค้านเอง ได้วางแผนใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎร บั่นทอนความแข็งแกร่งของรัฐบาลลงไปเรื่อยๆ

เปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งนี้ รัฐบาลจึงมีความสุ่มเสี่ยงในทุกมิติ

เสถียรภาพของรัฐบาลในยามนี้เสมือนยืนอยู่บนเส้นด้าย

ทุกอย่างแลดูไม่น่าไว้วางใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image