หนทาง วิบาก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนถึงปี 2566

คอลัมน์หน้า 3 : หนทาง วิบาก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนถึงปี 2566

ถามว่าปฏิบัติการ “ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง” ที่อุดรธานีเป้าหมายคืออะไร ถามว่าการผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรมที่จะนะ เป้าหมายคืออะไร

เพื่อสร้าง “ผลงาน”

เป็นผลงานเพื่อที่ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะสามารถคุยได้ว่าเป็นการพัฒนา

พัฒนาให้แก่วัดป่าบ้านตาด พัฒนาให้แก่คำชะโนด

Advertisement

ยิ่งในเรื่องของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ยิ่งเป็นการขยายเพื่อสร้างความมั่งคั่งและยั่งยืนให้กับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และสงขลา

เป็น “เครื่องมือ” ยอดเยี่ยมในการหาเสียง สร้างคะแนน

แต่แล้วเมื่อเกิดปรากฏการณ์ “หากพัฒนาไม่ได้ก็ควรจะเกษียณ” ตามมา เช่นเดียวกับการเดินทางเข้ามายึดพื้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงคำสัญญา

Advertisement

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ต้องอยู่ในอาการนะจังงัง

สภาวะนะจังงังทางการเมืองจึงมิได้แสดงออกที่การเดินสะดุดหน้าโพเดียม หรือหัวกระแทกในยามจะเข้าไปนั่งในรถยนต์

หากแต่ทำให้สับสนในเรื่อง “ความเท่า” ในลักษณะ “เทียม”

และที่สุดก็นำไปสู่สภาพที่ตำรวจยกหูโทรศัพท์ไปหา “สาวบ้านดุง” กระทั่งบานปลายกลายเป็นประเด็นร้อนในทางการเมือง

เหมือนกับการเข้า “สลาย” การชุมนุมอย่าง “ดุดัน”

แม้จะดำเนินการอย่างมีการจัดระบบ มีการวางแผน เพื่อสกัดมิให้ “สื่อ” สามารถบันทึกภาพและการเคลื่อนไหวได้

แต่ทุกอย่างก็มิได้สมคล้อยไปตามความปรารถนา

เรื่องของ “สาวบ้านดุง” จึงไปอยู่ในบันทึกของต้นทางของบริการทางโทรศัพท์ ภาพการบุกเข้าจับกุมจึงกลายเป็น “ไวรัล” ในอีกไม่กี่วินาทีต่อมา

กลายเป็นเรื่อง “ประจาน” มากกว่าจะเรียกได้ว่า “ความสำเร็จ”

หากจินตนาการจากปฏิบัติการ “ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง” ที่อุดรธานี โยงมายังการสลายการชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล

ก็จะประจักษ์ในสถานการณ์อันเหนือความคาดหมาย

จินตนาการนี้จะยิ่งหนักหนาสาหัส หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลากยาวอายุรัฐบาลไปจนถึงวาระในเดือนมีนาคม 2566

เพราะใช่ว่าเรื่องราวที่คำชะโนดจะสงบ ราบคาบ

เพราะใช่ว่าการสลายการชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลจะจบลงอย่างง่ายดาย อย่างน้อยชาวจะนะที่ถูกกระทำคงไม่ยอมปิดปากเงียบ

ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะตอบคำถามอย่างไร

ถามว่าพื้นที่ของสงขลาอยู่ในโครงข่ายของ 8 ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งล้วนเป็นรัฐบาล

ที่คิดว่าเป็น “ผลงาน” ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นการประจานหรือไม่

การเมืองนับจากเดือนธันวาคม 2564 ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2566 จึงมากด้วยคำถามและดำเนินไปอย่างท้าทาย

ท้าทายต่อ “เอกภาพ” ภายใน “รัฐบาล”

ท้าทายต่อฝีมือและความสามารถทางด้านการบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสานเข้ากับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

จะลากยาวไปจนครบ “วาระ” ได้อย่างราบรื่น หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image