แนวโน้ม การเมือง กระแส ‘นิว’ โหวตเตอร์ คือ ภูมิทัศน์ใหม่

คอลัมน์หน้า 3 : แนวโน้ม การเมือง กระแส ‘นิว’ โหวตเตอร์ คือ ภูมิทัศน์ใหม่

คอลัมนิสต์หน้า 3 : แนวโน้ม การเมือง กระแส ‘นิว’ โหวตเตอร์ คือ ภูมิทัศน์ใหม่

เหตุปัจจัยอะไรทำให้คนอย่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา คนอย่าง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง จึงกลายเป็นทางเลือกของพรรคพลังประชารัฐ

เหมือนกับกรณีของ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร

นั่นก็เพราะมีหรือที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งเป็นผู้ว่าฯกทม.สืบต่อจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร มาตั้งแต่ปี 2559 จะไม่เข้าใจ

เข้าใจในฐาน “ประชากร” แห่ง “กทม.”

Advertisement

นั่นก็เนื่องจากในจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดของกรุงเทพมหานครคือ 4.5 ล้านคน เป็นคนที่มีอายุ 46 ปีขึ้นไป 2.3 ล้านคน

ตีแล้วก็มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้มีสิทธิ

จึงมีความเชื่อมั่นว่า หากประสานกับฐานการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ ก็ภายใน 2.3 ล้านคนนี่แหละที่จะเลือกตัวแทนในแบบเดียวกับเขาออกมา

กทม.จึงมิได้เป็นฐานของ “คนรุ่นใหม่”

หากประมวลจากสภาพการจำแนกผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามอายุเช่นนั้นก็น่าจะเข้าทางคนแบบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา หรือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

เพราะว่าประชากรอายุต่ำกว่า 45 มีน้อยกว่า

นั่นก็คือ ประชากรที่มีอายุระหว่าง 18-45 คน มีอยู่เพียง 1.3 ล้านคนเท่านั้น เลือกอย่างไรก็ไม่มีทางกุมโอกาสชนะได้

นั่นย่อมเป็นความเชื่อ และเป็นความเชื่อในแบบหยุดนิ่ง

เป็นความจริงที่ประชากรในช่วงระหว่าง 18-45 อาจมีเพียง 1.3 ล้านคน แต่ก็ต้องยอมรับว่าในแต่ละปีจะมี “นิวโหวตเตอร์” เพิ่มขึ้น

อย่างน้อยก็เพิ่มปีละ 5 หมื่นกว่าคน

นิวโหวตเตอร์ที่เหยียบบาทก้าวเข้าสู่ปีที่ 18 นั่นแหละที่ดำรงอยู่อย่างเลือดดีไฟแรงในทางความคิดและในการลงมือปฏิบัติ

ประสาน “ความคิด” อย่างเป็นเอกภาพกับ “การเมือง”

ต้องยอมรับการปรากฏขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 มีส่วนในการกระตุ้นเร้าต่อ “ภูมิทัศน์” ใหม่ในทางการเมือง

จากปฏิบัติการ “ปักธง” ใน “ความคิด”

โดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล โดย น.ส.พรรณิการ์ วานิช อย่างมีลักษณะอันเป็น “กัมมันตะ”

ได้นำไปสู่ “กระแส” และ “แนวโน้ม” ใหม่

นั่นก็คือ แทนที่ลักษณะครอบงำในทางความคิดจะมาจากทางด้านของคนอายุ 45 ปีขึ้น ตรงกันข้าม กลับมีแรงกระแทกจากด้านล่าง

เป็นอายุ 18-45 ต่างหากที่กำหนด “ทิศทาง”

เป็นทิศทางในการเร่งเร้าและกดดันให้บรรดา “ผู้ใหญ่” ทั้งภายในครอบครัวและในสังคมคล้อยไปตามความต้องการแห่งตน

ถามว่า “ทิศทาง“ นี้จะก่อให้เกิด “กระแส” ได้หรือไม่

การเมืองในกรุงเทพมหานครจึงส่อเค้าแห่งการเปลี่ยนแปลงให้เห็น จากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 และความต่อเนื่อง

ต่อเนื่องจาก “อนาคตใหม่” ไปยัง “ก้าวไกล”

โดยเฉพาะการประสานและร่วมมือกันในทาง “ความคิด” อย่างเป็นเอกภาพระหว่าง “คณะก้าวหน้า” และบทบาทของพรรคก้าวไกลยุค นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

โดยมีการเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.” เป็นคำตอบหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image