มอง ศึกผู้ว่าฯกทม. เห็น ความไม่แน่นอน บิ๊กตู่ พลังประชารัฐ

วิเคราะห์หน้า 3 : มอง ศึกผู้ว่าฯกทม. เห็น ความไม่แน่นอน บิ๊กตู่ พลังประชารัฐ

การกำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก็เพื่อประโยชน์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการจัดการทางการเมือง

เป้าหมายคือเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในอำนาจได้ต่อไปเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน

ทั้งนี้เพราะการเลือกตั้งแต่ละครั้ง เสมือนกับการกดดันให้รัฐบาลต้องนับถอยหลัง

นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในที่สุด

Advertisement

ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุญาตให้จัดเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

ที่ผ่านมารัฐบาลอนุญาตให้จัดเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกเทศบาล

และที่ผ่านมารัฐบาลอนุญาตให้จัดเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล

Advertisement

คงเหลือแต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และนายกเมืองพัทยา

โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. นั้นมีความสำคัญ เพราะน่าจะจุดกระแสความต้องการเลือกตั้งทั่วไปได้เป็นอย่างดี

ที่ผ่านมารัฐบาลทำเหมือนจะประวิงเวลาการเลือกตั้ง

แต่ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องยอมวางโรดแมปเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

ไม่เกินกลางปี 2565

สาเหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลต้องกำหนดระยะเวลาคร่าวๆ ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เพราะกระแสเรียกร้องดังกระหึ่มขึ้นทุกขณะ

เนื่องจากที่ผ่านมา ปรากฏชัดเจนว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.นั้นมีความพร้อม

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประกาศตัวลงสมัครผู้ว่าฯกทม. มานานแล้ว ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบันก็ประกาศความพร้อม

แม้ว่าก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา จะประกาศลงผู้ว่าฯกทม. แต่ตอนหลังประกาศถอนตัว แต่ดูเหมือนหลายพรรคและหลายคนต่างแสดงความพร้อม

เช่นเดียวกับคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ประกาศความพร้อมจัดการเลือกตั้งมาตั้งแต่ไก่โห่

การประกาศความพร้อมของพรรคการเมือง ผู้สมัคร และผู้จัดการเลือกตั้ง

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุที่รัฐบาลไม่ยอมประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เพราะอะไร

หรือเป็นเพราะพรรคพลังประชารัฐไม่พร้อม

อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาเดินหน้าไปเรื่อยๆ ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องกำหนดห้วงเวลาเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. หลังจากที่ถูกกล่าวหาว่ายื้อ

“ผมไม่ได้ยื้ออะไรทั้งสิ้น จนกว่าจะพร้อม อาจจะเร็ว อาจจะช้า เดี๋ยวดูอีกที ผมจะยื้อไปทำไม ไม่เกี่ยวอะไรกับผมทั้งสิ้น อะไรที่ทำได้ก็ทำ การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ไม่เกินกลางปี 2565 ไม่เกินนั้น เพราะต้องมีการเลือกตั้ง ส.ก.ด้วย ต้องเลือกไปพร้อมกัน”

คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ เปรียบเหมือนคำให้สัญญาว่าจะมีเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ไม่เกินกลางปี 2565

ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ได้เปิดตัว สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เป็นตัวแทนพรรคลงชิงชัยผู้ว่าฯกทม.

นายสุชัชวีร์เปิดตัวด้วยยุทธวิธีทางการตลาดอย่างเต็มสูบ เรียกตัวเองว่า “พี่เอ้” นำเสนอประวัติของตัวเองที่เกี่ยวโยงกับการพัฒนาเมือง บอกกล่าวถึงความฝัน การศึกษาที่เป็นศิษย์ของ “ทายาทไอน์สไตน์”
แล้วมาฉายภาพนโยบายที่ต้องการพัฒนาเมือง

ภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้”

หลังจากนายสุชัชวีร์เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่เรียกให้ผู้คนสนใจการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ขณะเดียวกันก็มีการตรวจสอบข้อมูลจากคำกล่าวบนเวที

กระทั่งได้ข้อมูลแย้งกรณี “ทายาทไอน์สไตน์” โดยอาจารย์ที่ปรึกษาที่นายสุชัชวีร์เข้าใจว่าเป็นหลานของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกนั้น ความจริงแล้วไม่ใช่

ศาสตราจารย์เฮอร์เบิร์ต ไอน์สไตน์ ตอบคำถามผ่านอีเมล์ ยอมรับว่านายสุชัชวีร์เป็นศิษย์

แต่ปฏิเสธเรื่องทายาทไอน์สไตน์

แม้การตรวจสอบข้อมูลนี้จะกระทบต่อการเปิดตัวของนายสุชัชวีร์ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ยืนยันว่าสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.นั้น เป็นที่สนใจของคนทั่วไป

ข้อเสนอของว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนกลายเป็นที่น่าสนใจ

ก่อนหน้านี้ นายชัชชาติเสนอนโยบายภายใต้แนวคิด “เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”

มีแนวทางการทำงาน 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.People เรื่องคน 2.Digital เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล 3.Green เรื่องสิ่งแวดล้อม และ 4.Economy เรื่องเศรษฐกิจ

ขณะที่นายสุชัชวีร์ชูแนวทางพรรคเรื่อง “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้” พร้อมเสนอแนวคิดทั้งด้านการแก้ไขปัญหารถติด แก้ไขปัญหาน้ำท่วม การพัฒนาการศึกษา นำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านต่างๆ เป็นต้น

การเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร 2 คนนี้ กลายเป็นบรรทัดฐาน

เป็นโจทย์ที่ว่าที่ผู้สมัครคนอื่นๆ ต้องไต่ระดับให้ดีกว่า

สําหรับพรรคพลังประชารัฐ แม้ว่าที่ผ่านมาจะประสบชัยชนะในสนามเลือกตั้งซ่อม แต่ดูเหมือนว่าการเอาชนะศึกในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.นี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย

แค่ตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะมาแข่งขันกันนายชัชชาติและนายสุชัชวีร์ ก็หายาก

แม้ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค หวังว่า นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ที่สร้างศรัทธาในการควบคุมสถานการณ์ช่วยผู้ประสบภัยติดถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย กระทั่งได้รับฉายาว่า “ผู้ว่าฯหมูป่า” จะอาสามาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

แต่ในที่สุด นายณรงค์ศักดิ์ก็ปฏิเสธ

“ไม่ลงสมัครอย่างแน่นอนเพราะทะเบียนบ้านผมอยู่ปทุมธานีแค่ 2 เดือน ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ กลัวชาวปทุมธานีจะมองไม่ดี โดยเลือกสวมบทบาทราชการจนเกษียณถึงปี 2568 เพื่อพัฒนาปทุมธานีให้ดีที่สุด”

พรรคพลังประชารัฐจึงต้องตัดสินใจ

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนภาพความพร้อมของพรรคพลังประชารัฐ

ความพร้อมในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

ต้องรอดูว่า วันที่ 21 ธันวาคม พรรคพลังประชารัฐจะมีท่าทีเช่นไร

ขณะที่ พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์คล้ายๆ กับจะไม่ส่ง แต่ภายในพรรคยังคิดว่าจำเป็นต้องส่งตัวแทนลงชิงสนามเมืองหลวง

ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ต้องเกิดขึ้นไม่เกินกลางปี 2565 ตามคำสัญญาของ พล.อ.ประยุทธ์

ถ้าไม่เกิดขึ้นตามคำพูด พล.อ.ประยุทธ์จะกลายเป็นตำบลกระสุนตกอีกครั้ง

แต่ถ้าเกิดขึ้น หลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ผลการเลือกตั้งย่อมส่งผลกระทบต่อพรรคที่ชนะ และพรรคที่พ่ายแพ้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และยิ่งเมื่อร่างแก้ไข พ.ร.ป. 2 ฉบับทั้ง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.พรรคการเมืองประกาศใช้ ความกดดันให้เลือกตั้ง ส.ส. จะเกิดขึ้นทันที

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีแผนอยู่ยาวไปจนถึงต้นปี 2566 แต่ทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน

แม้แต่ความพร้อมของพรรคพลังประชารัฐ

เมื่อถึงเวลานั้นก็อาจจะไม่มีอะไรแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image