ความคิด กลับบ้าน เจตจำนง ทักษิณ ชินวัตร สร้างมติ ‘การเมือง’

คอลัมน์หน้า 3 : ความคิด กลับบ้าน เจตจำนง ทักษิณ ชินวัตร สร้างมติ ‘การเมือง’

คอลัมน์หน้า 3 : ความคิด กลับบ้าน เจตจำนง ทักษิณ ชินวัตร สร้างมติ ‘การเมือง’

คําประกาศผ่านการเสนอตัว “กลับบ้าน” ในสถานะอันเป็นเหมือน “ของขวัญ” ปี 2565 ของ นายทักษิณ ชินวัตร มีความแหลมคม

แหลมคมและ “ท้าทาย” ในทางการเมือง

ไม่เพียงแต่ท้าทายโดยตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีรากฐานมาจากหัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

หากแต่ยัง “หยั่ง” ไปยังที่มาแห่ง “รัฐประหาร”

Advertisement

ไม่ว่าจะเป็น “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ไม่ว่าจะเป็นมวลมหาประชาชนในนามแห่ง “กปปส.”

เท่ากับ “ทดสอบ” ต่อพลังแห่ง “อำนาจ”

เป็นความต้องการเดียวกันกับในยุคของ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นความต้องการเดียวกันกับในยุคของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

Advertisement

ท้าทายใน “ความเป็นไปได้” อย่างยิ่ง

หากมีการหยิบยกกรณีของ นายปรีดี พนมยงค์ และกรณีของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นคู่แห่งการเปรียบเทียบ

กระนั้น ก็ยังมีกรณีของ จอมพล ถนอม กิตติขจร

เป็นความจริงที่กรณีของ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องอยู่ปารีสจนสิ้นลม เป็นความจริงที่กรณีของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องอยู่ที่ญี่ปุ่นจนสิ้นลม

ได้กลับมาก็เพียง “อังคาร”

แต่คำถามอันแหลมคมมากยิ่งกว่าก็คือ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ก็ถูก “ขับ” ออกไป มิใช่หรือ

เป็นการขับพร้อมกับ “ฉายา” ของ “3 ทรราช”

แล้วเหตุใด ไม่ว่า จอมพลถนอม กิตติขจร ไม่ว่า จอมพลประภาส จารุเสถียร ไม่ว่า พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ล้วนได้กลับ

ไฉน นายทักษิณ ชินวัตร จะไม่ได้กลับ

หากนับจากประสบการณ์อันเป็น “บทเรียน” ตั้งแต่ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา

ใช่ว่า นายทักษิณ ชินวัตร จะไม่เคยได้กลับ

อย่างน้อยภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ในรัฐบาลพรรคพลังประชาชน นายทักษิณ ชินวัตร ก็ได้กลับ

ภาพการก้มลงกราบ “แผ่นดิน” อย่างจำหลักอยู่

การเสนอตัว “กลับ” อีกครั้งหนึ่งจาก นายทักษิณ ชินวัตร ภายใต้สถานะแห่งการเป็น “ของขวัญ” ภายในปี 2565

จึงมิได้อยู่เหนือความคาดหมาย

ด้านหนึ่ง อาศัยกระบวนการเลือกตั้งเหมือนที่เคยกลับในปี 2551 ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง ยืนยันการกลับมาในแบบ “วางมือ” ทางการเมือง

ดำรงอยู่ในแบบ “ที่ปรึกษา” และกลับมาเพื่อ “เลี้ยงหลาน”

คําประกาศของ นายทักษิณ ชินวัตร ในสถานการณ์ขึ้นศักราชใหม่ 2565 จึงดำเนินไปเหมือนกับเป็นการทดสอบและหยั่งเชิง

ทดสอบ “พลัง” หยั่ง “กระแส”

เป็นพลังที่มีอยู่ในหมู่ “มวลชน” อันจะสะท้อนผ่านคะแนนและความนิยมต่อ “เพื่อไทย” เป็นการหยั่งกระแสว่าเป็นที่ต้องการเพียงใด

คำประกาศจึงเหมือนเรียกร้องให้เกิด “ประชามติ” ทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image