บทบาท เพื่อไทย กับ ประยุทธ์ จันทร์โอชา คู่ขัดแย้ง จริงหรือ

คอลัมน์หน้า 3 : บทบาท เพื่อไทย กับ ประยุทธ์ จันทร์โอชา คู่ขัดแย้ง จริงหรือ

เมื่อเห็นการออกตัวของพรรคเพื่อไทยที่นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ประสานกับการลงมือของ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

การรุกไล่ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้มข้นอย่างยิ่ง

หากประเมินจากถ้อยแถลงไม่ว่าจะจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ไม่ว่าจะจาก นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ย่อมสัมผัสได้ในความมั่นใจ

ในที่สุดแล้ว การยุบสภาก็ต้องมาในอีกไม่นานเกินรอ

Advertisement

กระนั้น ปฏิบัติการ “ไม่แสดงตัว” ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจากรูปธรรมที่ปรากฏในวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ ก็ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง

พลันที่เกิดเสียง “ค้าน” จากพรรคก้าวไกล

แม้ว่าปฏิกิริยาโต้กลับจากพรรคก้าวไกลจะก่อความหงุดหงิดให้เป็นอย่างสูงในพรรคเพื่อไทย แต่เสียง “ท้วง” นั้นยิ่งนานยิ่งกังวานก้อง

ก้องว่าแท้จริงแล้ว “ปมเงื่อน” ของ “ปัญหา” อยู่ ณ ที่ใด

เป็นความจริงที่ว่าการดำรงอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นแหละคือตัว “ปัญหา” หากสามารถปลด “ล็อก” ตรงนี้ได้ก็เรียบร้อย

ถามว่าบทบาทของ “พรรคเพื่อไทย” ดำเนินไปอย่างไร

ดำเนินไปอย่างเป็นคู่ขัดแย้ง “หลัก” สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนี้ หรือว่าเสมอเป็นเพียง “เครื่องเคียง” หนึ่ง

จึงต้องสอบค้นไปยัง “ปมเงื่อน” แห่ง “ความขัดแย้ง”

ความขัดแย้งในทางการเมืองหากมองภาพใหญ่ในนั้นก็มีพรรคร่วม “ฝ่ายค้าน” ดำรงอยู่ ก็มีพรรคเพื่อไทยมี “บทบาท” อยู่

แต่ตัวจริงแห่ง “ความขัดแย้ง” เป็นเรื่อง “ภายใน” ของพวกเขาเอง

มองอย่างผิวเผินจากปรากฏการณ์นับแต่เดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา เหมือนกับเป็นความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

แต่เอาเข้าจริงมีความ “ลึกซึ้ง” ยิ่งกว่านั้น

ความลึกซึ้งของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายใน “รัฐบาล” อันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ “นายกรัฐมนตรี”

มีมากกว่านั้น ดุเดือดกว่านั้น

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อาจจะเป็น “ตัวละคร” ที่แสดงตัวและดับเครื่องชน แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่ายังมีตัวละครอื่นค่อยๆ ปรากฏตัว

อย่างเช่น พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นต้น

ขณะเดียวกัน แม้จะมี 21 ส.ส.ถูกขับออกมาจากพรรคพลังประชารัฐเมื่อคืนวันที่ 19 มกราคม แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังอยู่ในนั้น

กลายเป็นว่า “พลังประชารัฐ” ก็มิอาจ “วางใจ” ได้

กลายเป็นว่านอกเหนือจากมีพรรคพลังประชารัฐเป็นคู่ขัดแย้งแล้ว ยังมีพรรคเศรษฐกิจไทยปรากฏขึ้นพร้อมกับ ส.ส.ร่วม 20 คน

ทั้งหมดล้วนอยู่ใต้ร่มเงา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ต้องยอมรับว่า ยิ่งมีการเคลื่อนไหวสังคมยิ่งมองเห็นภาพอย่างเด่นชัดเป็นลำดับว่าแท้จริงแล้วที่ฮึ่มๆ กันอยู่นี้ล้วนอยู่ใน “กลุ่ม 3 ป.”

นั่นก็คือ ระหว่าง 2 ป. กับ 1 ป.

2 ป.ย่อมเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขณะที่ 1 ป.ย่อมเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ตรงนี้ต่างหากคือ “ปม” อันเป็น “ปัญหา” ของจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image