สถานะ การเมือง ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จาก ‘รุก’ เป็น ‘รับ’

คอลัมน์หน้า 3 : สถานะ การเมือง ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จาก ‘รุก’ เป็น ‘รับ’

คอลัมน์หน้า 3 : สถานะ การเมือง ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จาก ‘รุก’ เป็น ‘รับ’

เด่นชัดยิ่งว่า นับแต่สถานการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา สถานะทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดการแปรเปลี่ยน

จาก “รุก” กลายเป็น “ตั้งรับ”

แม้จะพยายามพลิกกลับสถานการณ์ด้วยการเปิดเกม “รุก” หลายต่อหลายครั้ง แต่ก็มิอาจดำรงสถานะ “รุก” เอาไว้ได้อีก

เห็นได้จากการ “ปลด” ในวันที่ 8 กันยายน

Advertisement

เห็นได้จากการระดมพลังจาก “6 รัฐมนตรี” เข้าหารือเป็นการจำเพาะหลังประชุม ครม.เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564

แต่ผลก็กลายเป็น “ความล้มเหลว”

ปฏิบัติการลงมติ “ขับ” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกจากพรรคพลังประชารัฐ เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 19 มกราคม คือการยืนยัน

Advertisement

ว่าใครเป็นฝ่าย “รุก” ว่าใครเป็นฝ่าย “รับ”

ยิ่งเมื่อพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทยประสานกับพรรคก้าวไกลเปิดเกมผ่านญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ

ยิ่งเท่ากับเป็นการผนึกตัวรวม “พลัง”

นั่นก็คือ พลังจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล อันถือเป็นแรงกระแทกจาก “ภายนอก” เข้าไปยังสภาพ “ภายใน” ที่ดำรงอยู่

ดำรงอยู่ภายใต้ความขัดแย้ง แตกแยก

นั่นก็คือ การลดทอนลงในเชิงปริมาณของพรรคพลังประชารัฐจาก 116 กลับคงเหลือเพียง 96 คนในมือ

ทั้งยังเป็น 96 ที่มากด้วยความพลิกผัน

บางส่วนของพรรคพลังประชารัฐอาจไปเติมปริมาณให้พรรคภูมิใจไทยทะยานจาก 59 เป็น 62 ขึ้นอย่างเด่นชัด

นี่คือความอ่อนแอ นี่คือลักษณะแห่ง “อนิจจัง”

มีคำยืนยันจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล พร้อมกับจำนวน 260 เสียงที่มีอยู่ในมือเหมือนกับจะมาทดแทนอาการหลวมโพรกในพรรคพลังประชารัฐ

แต่อย่าลืม “ปฏิบัติการ” ของพรรคภูมิใจไทย

ก่อนหน้านั้น พรรคภูมิใจไทยเพิ่งมีมติให้ “7 รัฐมนตรี” ของตนนำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ก่อการประท้วงในแบบ “อารยะขัดขืน”

พุ่งปลายหอกไปยัง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

เป้าหมายเหมือนกับจะเน้นไปยังกระทรวงมหาดไทย ไปยังกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีส่วนในการจัดทำสัญญา “ร่วม” กับเอกชน

เป็นการทำตามคำสั่ง “มาตรา 44”

กระบวนท่าของพรรคภูมิใจไทยที่เริ่มด้วยท่วงทำนอง “ตบ” และตามมาด้วยท่วงทำนองโอ้โลมด้วยการ “จูบ” จึงชวนให้แคลงใจ

ว่าเป้าหมายแท้จริงคือ “ผลประโยชน์” ใด

นับแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีความแตกต่างอย่างเด่นชัดในทางการเมือง

แตกต่างกับห้วงหลังเดือนพฤษภาคม 2557

แตกต่างกับห้วงหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 และแตกต่างกับห้วงมีการขานชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนมิถุนายน 2562

ตกเป็นฝ่าย “ตั้งรับ” มิได้เป็นฝ่าย “รุก”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image