วิเคราะห์หน้า 3 : การเมือง ดินเนอร์ จังหวะก้าว บิ๊กตู่ อยู่ยาว ถึงสิ้นปี

วิเคราะห์ หน้า 3 : การเมือง ดินเนอร์ จังหวะก้าว บิ๊กตู่ อยู่ยาว ถึงสิ้นปี

วิเคราะห์หน้า 3 : การเมือง ดินเนอร์ จังหวะก้าว บิ๊กตู่ อยู่ยาว ถึงสิ้นปี

ผลการจัดโต๊ะเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้ง โดยครั้งนี้มีพรรคเล็กเข้าร่วมด้วย เบื้องต้นออกมาดูดี

เมื่อแกนนำพรรคเล็กต่างทยอยร่วมงานเลี้ยง ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมกันพร้อมหน้า

การจัดเลี้ยงครั้งนี้ทั้ง 2 ฝ่าย ได้แสดงท่าทีประนีประนอมกันมากขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ ขอบคุณพรรคเล็ก และเน้นย้ำว่า ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

Advertisement

ส่วนพรรคเล็กก็สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

ถึงกับมีกระแสข่าวออกมาว่า พรรคเล็กขอให้บิ๊กตู่อยู่ต่อ

อย่าเพิ่งยุบสภา

Advertisement

การจัดปาร์ตี้นี้กลายเป็นการเมือง หลังจากที่ก่อนหน้านี้พรรคร่วมรัฐบาลมีรอยร้าว โดยอาการร้าวแสดงออกจากผลการร่วมประชุมรัฐสภา

การประชุมรัฐสภามีความสำคัญต่อรัฐบาล เพราะยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา

นอกจากนี้ การประชุมรัฐสภาในสมัยการประชุมหน้าที่คาดว่าจะเปิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนั้น พรรคการเมืองฝ่ายค้าน “จองกฐิน” ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไว้แล้ว

ขณะที่การประชุมรัฐสภาครั้งที่ผ่านมา ปัญหาสภาล่มเกิดขึ้นบ่อย กลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล และถูกมองว่าเรื่องนี้จะเป็นจุดดับของ พล.อ.ประยุทธ์

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้คิดเหมือนกลุ่มที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า ไม่ปรับ ไม่ออก ไม่ยุบ

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร เพิ่งแย้มระยะเวลาที่เหมาะสมในการยุบสภาให้พรรคเล็กทราบไปว่า ยุบสภาปลายปีนี้ เลือกตั้งต้นปีหน้า น่าจะเหมาะ

ตอกย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล จะต้องผ่านการประชุมรัฐสภาสมัยหน้าไปให้ได้

เมื่อเป้าหมายชัดเจน การดำเนินการเพื่อให้ “อยู่ยาว” ไปถึงสิ้นปีก็เริ่มต้น

แรกๆ มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ หารือกับกลุ่มแกนนำพรรครัฐบาล ขอให้ดึงเสียง ส.ส. มาสนับสนุนรัฐบาลในการโหวตคะแนนเสียงในสภา

หลังจากนั้นมีกระแสข่าวหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่มีตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อให้เอาใจใส่ต่อเสียงในสภาด้วย กระทั่งมีกระแสข่าว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยโชว์โพย 260 ส.ส.

ช่วงที่สมัยการประชุมที่แล้วปิดลง และกำลังรอการเปิดสมัยประชุมอีกครั้ง พล.อ.ประวิตร ก็นัดปาร์ตี้พรรคร่วมรัฐบาล

เน้นเฉพาะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่มีตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้บรรดาพรรคเล็กร่วมรัฐบาลเริ่มส่งเสียง

เมื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พรรคเศรษฐกิจไทย ฉวยจังหวะที่พรรคเล็กกำลังน้อยใจ ชิงจัดปาร์ตี้พรรคเล็กทันที เปิดทางให้บรรดาแกนนำพรรคเล็กได้ระบายความในใจ

ตอกย้ำรอยร้าวระหว่างพรรคใหญ่และพรรคเล็กในพรรคร่วมรัฐบาลให้เกิดขึ้น

กระทั่ง พล.อ.ประวิตร ส่งสัญญาณอีกครั้ง ให้จัดดินเนอร์แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล

โดยเนื้อหาที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกให้พรรคเล็กได้ยิน คือ ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน

เป็นการปรับความเข้าใจ เพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนในสภา

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศชัดแจ้งว่าอยู่ต่อไปจนถึงสิ้นวาระการดำรงตำแหน่ง บรรดากลุ่มที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากตำแหน่งย่อมยอมไม่ได้

การทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากเก้าอี้ ณ เวลานี้มี 3 หนทางที่ปรากฏเป็นข่าว

หนทางแรก เกิดขึ้นได้ในการประชุมรัฐสภา โดยเฉพาะการพิจารณากฎหมายที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ หากรัฐสภาไม่เห็นชอบ นายกรัฐมนตรีต้องลาออก

หรือการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ ส.ส.ต้องลงมติ ซึ่งขณะนี้พรรคฝ่ายค้านประกาศแล้วว่าจะยื่นซักฟอกแน่ในสมัยการประชุมรัฐสภาที่จะถึงนี้

ประเด็นที่ยังเป็นคำถาม คือ พรรคฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรี เป็นรายบุคคล หรือจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์

ทั้งนี้เพราะ พรรคฝ่ายค้านเชื่อว่า พรรคร่วมรัฐบาลมีรอยร้าวลึก ยากจะสมานแผล ถ้าปักหมุดเพียงนายกฯคนเดียว ไม่พาดพิงไปถึงรองนายกฯ หรือรัฐมนตรีคนอื่น ซึ่งเป็นแกนนำพรรคร่วม โอกาสที่จะคว่ำ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยคะแนนโหวตน่าจะได้ผลชัดแจ้งกว่า

แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเสนอกฎหมาย หรือการซักฟอก สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมีก็คือเสียง ส.ส. ที่จะยกมือสนับสนุน

ดินเนอร์พรรคเล็กจึงเป็นปฏิบัติการอยู่ยาว

หนทางที่สอง คือ การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์

ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งนานเกินกว่า 8 ปีไม่ได้ และเมื่อนับวันเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่บนเก้าอี้นายกฯ ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันก็น่าจะเกินแล้ว

แต่ยังมีข้อโต้แย้งว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเริ่มนับหลังการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งดำเนินการตามรัฐธรรมนูญปี 2560

หากนับจากปี 2562 เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรียังไม่ถึง 8 ปี สามารถปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้

เรื่องดังกล่าวต้องรอถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นเดือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะนั่งในตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปีหากนับตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งต้องมีการร้อง และต้องมีการวินิจฉัย

เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องผ่านไปให้ได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ที่ศาลรัฐธรรมนูญเองก็มีปัญหา เนื่องจาก นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อายุครบ 70 ปี และดำรงตำแหน่งมาแล้ว 7 ปี 6 เดือนเศษ

ไม่ทราบว่าจะขาดคุณสมบัติของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่าต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี หรือไม่

ประเด็นดังกล่าวเริ่มต้นจากข้อสงสัย แล้วขยายผลเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา เพราะแม้แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคณะจำนวน 4 คนก็เกิดข้อสงสัย

ล่าสุดต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปวินิจฉัย

กรณีคุณสมบัติของประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่แตกต่างจากคุณสมบัติของนายกฯ

เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญฉบับเก่าและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เป็นเรื่องของการดำรงตำแหน่งข้ามรัฐธรรมนูญ

หนทางที่สาม หนีไม่พ้นการบริหารราชการแผ่นดิน

ทั้งนี้เพราะ การแก้ปัญหา ส.ส. และการแก้ปัญหาเรื่องคดีความ ล้วนเป็นการแก้ปัญหาให้ตัวเองและรัฐบาลของตัวเอง

ส่วนการแก้ปัญหาวิกฤตต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศขณะนี้ ถือเป็นการแก้ปัญหาให้ประชาชน

โจทย์ใหญ่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องแก้ไข มีทั้งเรื่องโรคโควิด-19 ทั้งผลกระทบจากสงครามรัสเซียบุกยูเครน ซึ่งกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาทางสังคมในไทย

เข้าใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ เองก็เข้าใจสถานการณ์ดี จึงพยายามผลักดันแพคเกจแก้ปัญหาให้ประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ปัญหาต่างๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องแก้ไข มีทั้งเสียงในสภา การแก้ต่างคดีความ และปัญหาประชาชน

ทุกปัญหาหาก พล.อ.ประยุทธ์ คลี่คลายลงได้ การบรรลุเป้าหมาย “อยู่ยาวถึงสิ้นปี” ก็ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น ทุกจังหวะก้าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีผลต่อเป้าหมายที่กำหนด

จะอยู่ยาวไปถึงสิ้นปีได้หรือไม่ ทุกอย่างยังเสี่ยง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image