อำนาจการเมือง ‘บิ๊กตู่’ ก่อนและหลัง 22 พ.ค. ทุกเสียงคือความหมาย

วิเคราะห์หน้า 3 : อำนาจการเมือง ‘บิ๊กตู่’ ก่อนและหลัง 22 พ.ค. ทุกเสียงคือความหมาย

วิเคราะห์หน้า 3 : อำนาจการเมือง ‘บิ๊กตู่’ ก่อนและหลัง 22 พ.ค. ทุกเสียงคือความหมาย

การเมืองเดินหน้าเข้าสู่เดือนพฤษภาคม เข้าสู่โหมดความร้อนแรงและเข้มข้นอีกครั้ง ที่้ต้องโฟกัส คือ การเมือง “ก่อน” และ “หลัง”

การเมืองก่อน วันที่ 22 พฤษภาคม ต้องถือว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ต้องถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจเต็มมือ ในการควบคุมทุกองคาพยพทางการเมือง นั่นคือ “การยุบสภา”

เพื่อสยบการขบเหลี่ยม ชิงไหวชิงพริบอำนาจ ทั้งภายในและภายนอกรัฐบาล ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถทิ้งไพ่ ยุบสภา เพื่อรีเซตทางการเมืองได้

Advertisement

เพราะต้องยอมรับว่า ในความจริง นักการเมือง นักเลือกตั้ง ไม่ว่าจะพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน เมื่อเข้ามามีอำนาจในสภาแล้ว

ย่อมต้องเปิดตำรา ยึดสูตรเดียวกัน นั่นคือ การบริหารจัดการ ให้อยู่ในอำนาจจนครบวาระ คือ 4 ปี ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

เพราะเอาเข้าจริง แม้ทุกคนจะทราบกันดีว่า ตามกติกาหากมีการยุบสภา ก่อนครบวาระ 4 ปี ก็ต้องมาลงสนามแข่งขันกันในการเลือกตั้ง

Advertisement

ซึ่งนักเลือกตั้งส่วนใหญ่ คงไม่มีใครอยากเหนื่อยกันบ่อยนัก ในการสู้ศึกเลือกตั้ง ท่ามกลางการแข่งขันทางการเมืองที่สูงมากขึ้น

ถ้าไม่ได้มีผลงานเข้าตาและครองใจประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะจอดป้าย “แพ้” การเลือกตั้ง ไม่ได้เข้าสภา ย่อมเกิดขึ้นได้เหมือนกัน

เช่นเดียวกับสัญญาณที่ส่งผ่าน 2 แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. ประกาศผ่านงานทำบุญพรรค ภท. ก้าวสู่ปีที่ 14 ว่า จะใช้ผลงานสร้างความมั่นใจ พร้อมให้ประชาชนพิสูจน์ ไม่ว่ารัฐบาลจะมีความมั่นคง

หรือมีอุปสรรคใด ไม่ว่าสภาจะมีสิ่งใดๆ เกิดขึ้น แต่สภาชุดนี้ก็จะครบวาระในวันที่ 22 มีนาคม 2566 ครบ 4 ปี ทำงานมาเข้าปีที่ 4 แล้ว จะไม่พูดว่าสภา หรือรัฐบาลเป็นอย่างไร

มีหน้าที่ทำงาน พูดแล้วต้องทำให้เกิดผลสำเร็จกับประชาชน ไม่ว่าจะพอใจหรือไม่ ต้องทำให้สำเร็จ อีก 11 เดือนต่อจากนี้คงไม่ลากไปนานกว่านี้แล้ว ก็จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่

สอดคล้องกับ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่สื่อสารผ่านวันครบรอบก้าวเข้าสู่ปีที่ 76

พรรค ปชป.เช่นกันว่า สิ่งที่ต้องทำให้ชัดเจนคือการทำหน้าที่ เพราะสถาบันการเมืองต้องรู้หน้าที่ว่าต้องทำอะไร เราเป็นพรรคร่วมรัฐบาลต้องรู้หน้าที่ว่าควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร

หากไม่รู้หน้าที่ว่าต้องทำอะไรก็จะพากันถอยหลัง และมั่นใจด้วยว่า ตลอดการทำงาน 3 ปีที่ผ่านมา พรรค ปชป.จะได้รับการยอมรับและไปนั่งในหัวใจของประชาชนได้อีกครั้ง

ไม่ต่างกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ที่โชว์ผลงานแบบจัดเต็ม

ระหว่างการประชุมใหญ่สามัญพรรค ครั้งที่ 1/2565 ในทุกด้าน ขณะเดียวกันยังปลุกใจนำพรรคไปสู่สถาบันทางการเมืองที่มั่นคง พร้อมกับมอบโจทย์ใหญ่

ให้สมาชิกพรรคร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การทำให้ประชาชนมาสนับสนุนพรรค พปชร.ให้ได้ 150 ที่นั่ง

สัญญาณจากทุกพรรคร่วมรัฐบาล นอกจากจะชัดเจนว่านับถอยหลังเพื่อไปสู่เป้าหมายรัฐบาลอยู่ครบ 4 ปี แต่ยังเตรียมความพร้อมทุกสรรพกำลัง รับการเลือกตั้งครั้งใหม่

หากมีอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ไม่ว่าจะมาจากเงื่อนไขและปัจจัยใดก็ตาม

ขณะที่สัญญาณจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยังคงจับจ้องและประเมินทุกความเคลื่อนไหว ต่อการเปิดเกมรุกใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในจังหวะเวลาใด

ด้วยปัจจัยทางการเมืองที่บีบคั้น “พล.อ.ประยุทธ์” ตามกรอบเวลาและเงื่อนไขที่เปิดช่องให้ พรรคร่วมฝ่ายค้านเดินหน้าปฏิบัติการเขย่าเก้าอี้นายกฯได้

ทั้งการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ แบบลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ซึ่งตามเงื่อนไขและกรอบเวลาสามารถ ยื่นญัตติดังกล่าว ได้ตั้งแต่

เปิดสมัยประชุมสภาสามัญประจำปี ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ไปจนถึงวันที่ 18 กันยายน 2565 และจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของรัฐบาล

ที่ยังไม่สามารถฟันธงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่า รัฐบาลจะประคองและเอาตัวรอดอยู่จนครบวาระ 4 ปีหรือไม่

การเมือง หลังวันที่ 22 พฤษภาคม จึงแหลมคมและมีผลสะเทือนต่อสถานะผู้นำรัฐบาล โดยเฉพาะเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์

เนื่องด้วย เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลแล้ว หากสภาบรรจุระเบียบวาระ ดังกล่าวเรียบร้อย

ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญมาตรา 151 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า เมื่อยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว จะยุบสภามิได้

นั่นเท่ากับว่า หลังการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ อำนาจในมือของนายกฯ โดยเฉพาะ “หมัดเด็ด” อย่างการยุบสภา จะหมดความหมายไปทันที

การจะ “อยู่” หรือ “ไป” ในตำแหน่ง นายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องขึ้นอยู่กับมือของ ส.ส.ในสภา เป็นผู้ชี้ขาด

เกมการต่อรองทางการเมือง ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเปิดหน้าชัด หรืออยู่เบื้องหลัง จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ถาโถมใส่กลุ่มผู้มีอำนาจในรัฐบาลอย่างแน่นอนอีกครั้ง เนื่องจากรู้ดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้อยู่ในสภาพอำนาจเต็มมืออีกต่อไป

อยู่ที่ว่าจะเลือกบริหารจัดการทางการเมืองในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ให้ออกมาในรูปแบบไหน

แน่นอนกลุ่มผู้มีอำนาจย่อมทำทุกวิถีทางให้ผ่านด่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องติดตามว่า ผลคะแนนที่จะออกมานั้นเป็นแบบไหน

จะโชกเลือด บาดแผลเต็มตัว หรือ แค่เจ็บเพียงเล็กน้อย อยู่ที่การทำหน้าที่ของขุนพลทั้งสองฝ่าย ว่าจะสู้กันเต็มที่แค่ไหน

เพราะทุกคะแนนโหวต ทั้งแต้ม ไว้วางใจ ไม่วางใจ และงดออกเสียง มากหรือน้อย ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้รับ

ล้วนส่งผลต่อ “ความเชื่อมั่น” ต่อเก้าอี้นายกฯ และ “เสถียรภาพ” ของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างแน่นอน ว่าจะจับมือเดินหน้าต่อ

เป็นพรรคร่วมรัฐบาลกันเหมือนเดิม หรือ ต้องเปลี่ยนสูตรใหม่ในการจัดตั้งรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image