กระแส การเมือง เจาะพื้นที่‘ส.ก.’ ใน กทม. กระแส ก้าวไกล

คอลัมน์หน้า 3 : กระแส การเมือง เจาะพื้นที่‘ส.ก.’ ใน กทม. กระแส ก้าวไกล

คอลัมน์หน้า 3 : กระแส การเมือง เจาะพื้นที่‘ส.ก.’ ใน กทม. กระแส ก้าวไกล

สนามเลือกตั้ง “ส.ก.” หรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 50 เขต กำลังจะกลายเป็น “หินลองทอง” อันแหลมคมยิ่งทางการเมือง

ไม่ว่า ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ไม่ว่า ดร.ยุทธพร อิสรชัย ล้วนนะจังงัง

แม้จะอาศัยฐานข้อมูลจากการเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562 มาอยู่ในมือก็ยากที่จะฟันธง

ยิ่ง ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ยิ่งฟุ้งกระจาย

Advertisement

เพราะแม้จะมีความมั่นใจในความหนักแน่นของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ

แต่ก็มิอาจ “ดูเบา” ต่อ “ก้าวไกล”

แม้ว่าแต่ละภาพของผู้สมัคร ส.ก.ภายใต้ร่มธงแห่งพรรคก้าวไกลจะ “ละอ่อน” อย่างยิ่ง “ไร้เดียงสา” อย่างยิ่ง

Advertisement

กระนั้น ก็มิอาจดูแคลนเหมือน “ไร้ตัวตน”

ต้องยอมรับว่า “ข้อมูล” ที่มีในมือไม่ว่าในระดับสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

หรือศูนย์ศึกษาการเมืองท้องถิ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่เพียงแต่เป็นข้อมูลอันจำหลักหนักแน่นของพรรคประชาธิปัตย์ ของพรรคเพื่อไทย ที่แม้จะแตกกระจายเป็นของพรรคพลังประชารัฐ ของพรรคไทยสร้างไทย

แต่ก็ดำรงอยู่อย่างหนักแน่น จริงจัง

ซึ่งหากเทียบกับ “กระแส” ที่หวือหวาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ “โซเชียล มีเดีย” ก็สร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่า

มากกว่าบรรดา “ละอ่อน” แห่ง “ก้าวไกล”

แม้การสำรวจของ “นิด้าโพล” เมื่อเดือนมีนาคมจะยืนยันความนิยมต่อพรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับ 1 เหนือเพื่อไทย กล้า และประชาธิปัตย์

แต่ก็ยากที่จะลบ “ความเชื่อเดิม” ไปได้อย่างง่ายดาย

การสำรวจล่าสุด “มติชนทีวีโพล” จากตัวอย่าง 7,400 ที่อยู่ในพื้นที่ “ออนไลน์” ถึงจุดสิ้นสุดเมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 12 เมษายน

ยิ่ง “เร้า” และน่า “ตระหนก”

ปรากฏว่าต่อคำถามที่จะเลือก “สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร” จากคนของพรรคการเมืองใดในวันที่ 22 พฤษภาคม

ร้อยละ 45.07 เลือกคน “ก้าวไกล”

ร้อยละ 34.33 เลือกคนของพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 8.44 เลือกคนของพรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 2.78 เลือกคนของพรรคประชาธิปัตย์

ร้อยละ 0.91 เลือกกลุ่มของอัศวิน ร้อยละ 0.55 เลือกคนของพลังประชารัฐ

หากว่าระดับความนิยมและความเชื่อมั่นในการเลือก ส.ก.ของพรรคก้าวไกลเป็นเช่นนี้ คะแนนย่อมจะเทให้กับ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร มากยิ่งขึ้น

ตรงนี้ต่างหากที่เป็น “แนวโน้ม” ใหม่

มีความเป็นไปได้ที่ “กระแส” ซึ่งกำลังก่อรูปขึ้นในการเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.” จะละม้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562

นั่นก็คือ การดำรงอยู่ของ “อนาคตใหม่”

เป็นไปได้หรือไม่ที่ปรากฏการณ์ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับคนของพรรคอนาคตใหม่จะส่งต่อมาให้กับคนของพรรคก้าวไกล

ตรงนี้ต่างหากที่ “ท้าทาย” คอการเมืองอย่างแหลมคมยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image