เคลียร์ปัจจัยร้อนเปิดสภา พรรควางเป้ากาบัตรชิงส.ส. สะท้อนฉันทามติผู้ว่าฯกทม.

การเมืองเคลื่อนเข้าสู่เดือนพฤษภาคม ในส่วนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเผชิญกับการตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ

ในวาระการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม เป็นต้นไปต่อเนื่องไปถึง 120 วัน

ทั้งวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ตามไทม์ไลน์ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะเกิดขึ้นคิวแรกในห้วงวันที่ 1-2 มิถุนายน จากนั้นจะเป็นวาระการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

Advertisement

ทั้งสองเรื่องสำคัญดังกล่าว ล้วนต้องใช้เสียงข้างมากของพรรคร่วมรัฐบาล เป็นตัวชี้ขาด การ “อยู่” หรือ “ไป” ต่อสถานะเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องด้วยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เป็นกฎหมายที่สำคัญหากไม่ผ่านความเห็นชอบต่อที่ประชุมสภา

นายกรัฐมนตรีจะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการยุบสภา หรือลาออก ขณะที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

Advertisement

จะมีเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 กำหนดไว้ว่า เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว นายกฯจะยุบสภาไม่ได้

ต้องมาลุ้นกับผลโหวต คะแนนไม่ไว้วางใจในส่วนของนายกรัฐมนตรี ต้องไม่ให้เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.เท่าที่มีอยู่ของสภา

โดยสัญญาณล่าสุดจากผู้มีอำนาจในรัฐบาลดูเหมือนจะมีความมั่นใจในเสียงสนับสนุน ให้ผ่านทั้ง 2 ด่าน ทั้งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เพื่อเดินหน้ารัฐบาลในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ และอยู่จนครบวาระ 4 ปี ในเดือนมีนาคม 2566

แม้ระหว่างทางจะมีท่าทีที่ดูเหมือนคุยกันไม่รู้เรื่อง ทั้งพรรคเล็กในนาม “กลุ่ม 16” และพรรคเศรษฐกิจไทยที่ผู้มีอำนาจตัวจริงยืนยันว่า ยังอยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาล

โดยมีความมั่นใจว่า ประเด็นร้อนที่รัฐบาลจะเผชิญในช่วงเปิดประชุมสภา รวมทั้งการยื่นตีความการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ของนายกฯ จะผ่านได้ไม่มีปัญหา

ขณะที่ทุกพรรคการเมือง ทั้งพรรคใหญ่ พรรคกลาง พรรคใหม่ พรรคเก่า ทยอยเปิดตัว เปิดหน้าขุนพล ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เพื่อเตรียมพร้อมในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หากมีเหตุและปัจจัย ทำให้รัฐบาลที่อยู่ในช่วงปีสุดท้ายอยู่ไม่ครบวาระในเดือนมีนาคม 2566 การเตรียมตัวไว้ให้พร้อม จึงไม่ควรมองข้าม

แต่ละพรรค ทั้งพรรคฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ย่อมต้องถอดบทเรียนในการทำหน้าที่ของตัวเองว่าตรงตามเป้าหมาย มีจุดอ่อน จุดแข็ง ต้องปรับแก้ไขกันเพียงใด

ก่อนลงสนามเลือกตั้งครั้งหน้า โดยเฉพาะที่ทุกพรรคการเมืองต่างวิเคราะห์ออกมาตรงกัน นั่นคือ จุดขายในตัวนโยบายด้านเศรษฐกิจ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และผลกระทบจากสงครามรัสเซียกับยูเครน

ที่คาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการชี้ขาดผลแพ้-ชนะ การเลือกตั้งครั้งหน้า โดยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หัวหน้าพรรคได้ให้โจทย์กับที่ประชุมพรรคล่าสุดไว้ว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องให้ประชาชนสนับสนุนพรรค พปชร.ให้ได้ 150 ที่นั่ง หากได้ไม่ถึงก็ตั้งเป้าไว้ว่า ต้องได้รับเลือกตั้งเท่ากับ หรือไม่น้อยไปกว่า

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่พรรค พปชร.ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.เข้ามา 121 คน ส่วนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็ประกาศเป้าหมายในการเลือกตั้งครั้งหน้าเช่นกันว่า เชื่อว่าจะได้รับเลือกตั้ง ส.ส.เกิน 100 คน ส่วนพรรคใหญ่ผู้นำฝ่ายค้านเบอร์หนึ่ง อย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) สื่อสารผ่านแกนนำพรรค

หนึ่งในนั้น คือ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ประกาศเป้าหมายในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า ต้องชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ทุกพื้นที่ ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องได้ ส.ส. 250 เสียงขึ้นไป เพื่อเอาชนะพรรค ส.ว. 250 คน มาขับเคลื่อนนโยบายของพรรค พท. ให้ประชาชนกลับมาอยู่ดีกินดีอีกครั้ง ทำไมต้องตั้งเป้าให้ได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 250 เสียง เนื่องด้วยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560

กำหนดให้ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี จะครบวาระในเดือนพฤษภาคม 2566 และมีอำนาจร่วมกับ ส.ส.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

หากพรรค พท.ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 250 เสียง ย่อมทำให้ ส.ว.ทั้ง 250 เสียง ไม่กล้าโหวตเลือกนายกฯ มาทำหน้าที่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ในสภาผู้แทนราษฎร

ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. รอบ 9 ปี ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง เสนอตัวให้ประชาชนเลือกถึง 31 คน โดยผลสำรวจของโพลที่น่าเชื่อถือสำนักต่างๆ

ระบุว่า ปัจจัยที่สำคัญในการชี้ขาดชัยชนะผู้ว่าฯกทม. อันดับหนึ่ง คือ ตัวนโยบายของผู้สมัคร รองลงมา คือ คุณสมบัติและชื่อเสียงของผู้สมัคร และตามด้วยฐานเสียงจัดตั้งผู้สมัคร

ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.แต่ละคน เป็นปัจจัยเลือกบุคคลใด เข้ามาทำหน้าที่ผู้ว่าฯกทม. แก้สารพัดปัญหาให้กับชาวกรุงเทพฯ

ในช่วงวาระการทำหน้าที่ตลอด 4 ปี ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. แต่ละคนจึงนำเสนอชุดนโยบายการแก้ไขปัญหาต่างๆ ใน กทม. ทั้งปัญหาจราจร น้ำท่วม ขยะ ไปจนถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯให้ดียิ่งขึ้น โดยนโยบายและคุณสมบัติของผู้สมัครคนใดจะผ่านฉันทามติของจากพี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพฯ เลือกให้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.คนใหม่

ย่อมเป็นฉันทามติที่จะส่งสัญญาณไปถึงการเลือกตั้ง ตามหลักการประชาธิปไตยที่ประชาชนมอบอำนาจเลือกตัวแทนให้เข้าไปทำหน้าที่บริหารเมืองหลวงอย่าง กทม.

ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล ที่ไม่ควรให้มีกลไกอื่นใดที่ไม่ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน มาบิดเบือนกลไกการเลือกผู้นำตามหลักการประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น

หากผู้ว่าฯกทม.ที่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามา ทำหน้าที่ได้ไม่ดี จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เมื่อครบวาระ 4 ปี ก็ควรจะเปลี่ยนแปลงตามกติกา ผ่านการเลือกตั้งด้วยอำนาจของประชาชน

ในการเลือกบุคคลที่คิดว่ามีความเหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image