ชนวนร้อนการเมืองเปิดสภา ฝุ่นตลบจัดทัพ สู้การเลือกตั้ง 2 ขั้วแก้เกม สู่เป้าเดินหน้าต่อ

ชนวนร้อนการเมืองเปิดสภาฯ ฝุ่นตลบจัดทัพ สู้การเลือกตั้ง 2 ขั้วแก้เกม สู่เป้าเดินหน้าต่อ

 

ชนวนร้อนการเมืองเปิดสภา

ฝุ่นตลบจัดทัพ สู้การเลือกตั้ง

2 ขั้วแก้เกม สู่เป้าเดินหน้าต่อ

Advertisement

การเมืองช่วงเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมเป็นต้นไป ในห้วง 120 วันนับจากนี้ ในส่วนของรัฐบาล

ต้องเผชิญกับระเบิดเวลา 3 ลูกใหญ่ ที่มีผลชี้วัดถึงการ “อยู่” หรือ “ไป” ของผู้นำรัฐบาล โดยเฉพาะเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ลูกแรก คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ตามกรอบเวลาน่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนมิถุนายน

Advertisement

แม้ในทางการเมือง เกือบทุกพรรคจะไม่นำเรื่องทางการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับบทบาทการตรวจสอบและการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ

เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเล่นเกมการเมืองกับ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่เป็นเรื่องสำคัญในการนำงบประมาณไปดูแลประชาชนและพัฒนาประเทศ

แต่ในสถานการณ์ทางการเมืองของ พรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับการดูแลและรักษาสัมพันธ์กับพรรคเล็กที่ระบุว่าอยู่กับฝั่งรัฐบาล

ในเวลานี้แกนนำพรรค พปชร.แทบจะต้องต่อสายคุยกับแกนนำพรรคเล็ก ที่มี “พิเชษฐ สถิรชวาล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16

เพื่อย้ำสัญญาณและจุดยืนของกลุ่ม 16 ว่ายังสนับสนุนอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลเหมือนเดิม ร้อนถึงเบอร์หนึ่งฝ่ายบริหาร อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ

เพื่อความไม่ประมาทต้องเรียก ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ในส่วนของ ครม. มาพูดคุยและเน้นย้ำ

ถึงขั้นตอนและคอนเฟิร์มเสียงสนับสนุนของพรรคร่วมรัฐบาลต้องมีเอกภาพ ไม่มีแตกแถว ขณะที่ ลูกที่สอง คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

เป้าหลัก คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่จะต้องเน้นหนักทั้งข้อมูลและหลักฐาน เพื่อหวังเช็กบิล นายกฯให้ได้ เนื่องจากเป็นการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้านครั้งสุดท้าย

ก่อนที่รัฐบาลจะครบวาระ 4 ปี ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ส่วน ลูกที่สาม คือ การตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในช่วงเดือนสิงหาคม ที่ผู้นำรัฐบาลจะต้องลุ้นกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะได้ไปต่อในตำแหน่ง นายกฯ หรือไม่ ระเบิดเวลา 2 ลูกแรก ของรัฐบาล

จึงอยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจจะควบคุมเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลให้มีเอกภาพ โหวตให้ผ่านทั้ง 2 เรื่องสำคัญ ช่วยปลดชนวนร้อนต่อเก้าอี้นายกฯ ได้หรือไม่

ขณะที่ทุกพรรคต่างไม่ไว้วางใจในสถานการณ์ทางการเมืองของรัฐบาลที่จะเผชิญวาระร้อนๆ ช่วงเปิดสมัยประชุมสภา การเตรียมความพร้อมทั้งขุนพลและเป้าหมาย

เพื่อรองรับการเลือกตั้งครั้งหน้า อย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เปิดแคมเปญ “ครอบครัวเพื่อไทย แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน” ที่มี “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรค พท. ลูกสาวของ “ทักษิณ ชินวัตร” มานั่งเป็น หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย อีกเก้าอี้หนึ่ง แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นแคนดิเดต นายกฯ

ของพรรค พท.หรือไม่ แต่พอประกาศเป้าหมายจะต้องชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน ให้ได้เสียงส.ส.ไม่ต่ำกว่า 253 เสียง เพื่อเอาชนะพรรคของ ส.ว.ที่มี 250 เสียง

มาโหวตเลือกนายกฯแข่งกับพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งมาจากเสียงของประชาชน ซึ่งการประกาศเป้าหมายของ “อุ๊งอิ๊ง” ว่า พรรค พท.ต้องชนะแบบแลนด์สไลด์ทุกพื้้นที่

เพื่อให้พรรค พท.กลับมาเป็นรัฐบาล แก้ปัญหาปากท้องทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ มีความสุขเหมือนเดิม แต่กลับสร้างแรงสั่นไหวให้กับระดับแกนนำพรรคการเมืองใหญ่

จนต้องออกมาตอบโต้ พร้อมกับ ฉายภาพความน่ากลัวของระบอบทักษิณจะฟื้นคืนชีพกลับมาทำร้ายประเทศอีกครั้ง หากพรรค พท.ชนะการเลือกตั้ง แล้วได้คนของระบอบทักษิณ

เข้ามาบริหารประเทศ แล้วมีการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง จนนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นในวงกว้าง หรือไปทำอะไรที่ฝืนกับหลักธรรมาภิบาล หลักกฎหมาย

อาจรวมไปถึงแนวคิดเรื่องการนิรโทษกรรมล้างความผิดให้บุคคลที่ต้องคดี สุดท้ายจะเกิดการต่อต้าน และอาจจะจบลงด้วยที่ทหารจะออกมาทำรัฐประหารอีกครั้ง

ซึ่งดูจะย้อนแย้งกับหลักการเสรีประชาธิปไตย ที่นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และนักวิชาการด้านกฎหมาย ออกมาเห็นต่างถึงหลักการและแนวคิด ของนักการเมืองคนดังกล่าว

แม้รัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ จะมีพฤติกรรมบางอย่างที่ฝืนหลักธรรมาภิบาลบ้าง กฎหมายบ้าง เอื้อประโยชน์พวกพ้องบ้าง ในรัฐเสรีประชาธิปไตยภายใต้การปกครองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ย่อมไม่ใช่ข้ออ้างในการกระทำผิดกฎหมายเสียเองด้วยการกระทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ ละเมิดต่อตัวบทกฎหมายต่างๆ

ในรัฐเสรีประชาธิปไตยนั้น หลักนิติธรรมถือเป็นหลักการที่คอยประคับประคองค้ำจุนให้ระบอบประชาธิปไตยดำรงคงอยู่ได้ แม้จะปรากฏการกระทำที่ขัดต่อตัวบทกฎหมาย

ไม่ถูกต้องกับหลักการ แต่การเข้าไปแก้ไขต้องเป็นวิธีการตามครรลองของกฎหมายและวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย ไม่มีข้ออ้าง หรือเงื่อนไขใดๆ สำหรับการกระทำที่ผิดกฎหมาย

จะจบลงด้วยการรัฐประหาร อีกทั้งถ้าจะทบทวนความจำกันให้ดี การเกิดรัฐประหารครั้งล่าสุดย่อมปฏิเสธข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่ได้ว่า มีพรรคการเมืองและนักการเมือง เข้าไปสร้างเงื่อนไข

และเชื้อเชิญให้กองทัพออกมาทำรัฐประหารเสียด้วยซ้ำ พร้อมกับยังมีการออกมายืนยันในเชิงสนับสนุนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศจนทหารต้องออกมารัฐประหารนั้นเหมาะสมแล้ว

ส่วนพรรคการเมืองที่กุมทุกกลไกอำนาจรัฐ อย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่อยากจะไปต่อในทางการเมืองหลังเลือกตั้ง กับเป้าหมาย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง

โจทย์ที่สำคัญ คือ ต้องแข่งขันกับพรรค พท.ไม่ให้ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ ซึ่งพรรค พปชร.คงต้องกลับมาปรับกลยุทธ์ทางการเมืองกันครั้งใหญ่ ทั้งการแก้ปัญหาภายใน

ตัวนโยบายในด้านเศรษฐกิจ และแคนดิเดตนายกฯ ทำอย่างไรถึงจะถูกใจ เพื่อให้ประชาชนกลับมาเลือกพรรค พปชร.อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นโจทย์หินอีกข้อของแกนนำพรรค พปชร.

ขณะที่พรรคการเมืองคู่แข่ง ทั้งพรรค พท. พรรคก้าวไกล แม้จะมีพร้อมทั้งตัวนโยบาย กระแสที่พร้อมสนับสนุน แต่ไม่ควรประมาทกลไกที่ซ่อนไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ

ที่อาจทำให้พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งเข้ามา แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล ซ้ำรอยการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ได้เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image