ส่องโพลศึกชิงผู้ว่าฯกทม จากเริ่มต้นถึงโค้งสุดท้าย ‘แพ้-ชนะ’ ชี้นัยยะการเมือง

วิเคราะห์ : ส่องโพลศึกชิงผู้ว่าฯกทม จากเริ่มต้นถึงโค้งสุดท้าย ‘แพ้-ชนะ’ชี้นัยยะการเมือง

ส่องโพลศึกชิงผู้ว่าฯกทม.

จากเริ่มต้นถึงโค้งสุดท้าย

‘แพ้-ชนะ’ชี้นัยยะการเมือง

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นับตัวเลขกลมๆ อีกประมาณ 7 วัน ที่ผู้มีสิทธิ ทั้ง 4,374,131 คน จะออกไปใช้สิทธิเลือกผู้ว่าฯกทม. ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ว่าจะมอบฉันทามติให้ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.คนใด มาทำหน้าที่ “ผู้ว่าฯกทม.” คนที่ 17 ดูแลสุข-ทุกข์ และคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในห้วงของวาระการดำรงตำแหน่งนับจากนี้อีก 4 ปี นับตั้งแต่วันสมัครและได้หมายเลขประจำตัว ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.แต่ละคน ทั้งแบบอิสระ และสังกัดพรรคการเมือง ต่างชูนโยบาย โชว์จุดขาย ขยายแนวร่วม สร้างการรับรู้ถึงตัวตน แนวคิด จุดยืนในเรื่องต่างๆ ตลอดจนภาวะผู้นำ ไปยังชาวกรุงเทพฯ ผ่านทุกช่องทางการสื่อสาร ทั้ง “ออฟไลน์” และ “ออนไลน์” เพื่อแปรเปลี่ยนความนิยมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาเป็นคะแนนให้กับ
ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.

Advertisement

ขณะที่ผลการสำรวจกระแสความนิยมของตัวผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.แต่ละคน ผ่านสำนักโพลที่น่าเชื่อของสถาบันต่างๆ ตั้งแต่วันเริ่มต้นจนเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง คะแนนนิยมของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ในลำดับที่หนึ่ง

ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นผลการสำรวจในครั้งใด ยังเป็น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. อิสระ หมายเลข 8 ได้เปอร์เซ็นต์จากผลโพลทิ้งห่างผู้สมัครในลำดับที่สองในสัดส่วน 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ในเกือบทุกครั้งของการสำรวจ ส่วนเปอร์เซ็นต์ความนิยมของผู้สมัคร ในลำดับที่ 2-5 ยังคงสลับหมุนเวียนกันขึ้นลง คือ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หมายเลข 4 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.อิสระ หมายเลข 6 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. จากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) หมายเลข 1 และ สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. อิสระ หมายเลข 3 อ้างอิงจากผลสำรวจของสถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่เปิดเผยสำรวจ ความคิดเห็นและพฤติกรรมของประชาชน 1,038 คน ต่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) 2565

ผลการสำรวจการตัดสินใจในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งพบว่า ประชาชนเลือก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 42.4% รองลงมาคือ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 12% พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง 6.7% วิโรจน์ ลักขณาอดิศร 5.7 สกลธี ภัททิยกุล 5.7% รสนา โตสิตระกูล 2.7% โฆสิต สุวินิจจิต 2.3% ยังไม่ได้ตัดสินใจ จำนวน 18.2% และไม่ประสงค์ลงคะแนน 2%

Advertisement

ส่วนปัจจัยการเลือกผู้ว่าฯกทม. อันดับหนึ่ง คือ นโยบายของผู้สมัคร 62.3% รองลงมา คือประสบการณ์การทำงานของผู้สมัคร 48.9% และการพูดจริงทำจริง จริงใจในการแก้ไขปัญหา 29.9% สำหรับประเด็นที่ประชาชนอยากให้ผู้ว่าฯกทม. ดำเนินการอันดับหนึ่งคือ การขนส่งสาธารณะและการจราจร 66.4% การจัดการสิ่งแวดล้อม ความสะอาด และพื้นที่สีเขียว 64.2% ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 52.5% ปัญหาน้ำท่วมขัง 45.4% และระบบสาธารณสุข และสุขอนามัย 41.7% ส่วนความเชื่อมั่นในการเลือกตั้ง พบว่า เชื่อว่าจะมีการซื้อเสียงเลือกตั้ง 71.9% รองลงมาคือ เชื่อว่า กกต.จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรมเพียง 49.1% นอกจากนี้ผลสำรวจความตระหนัก ความสนใจ และความตั้งใจที่จะไปเลือกตั้งพบว่า ไปเลือกตั้งแน่นอน 93.6%

เช่นเดียวกับผลสำรวจของ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ เฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กรณีโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จำนวนทั้งสิ้น 1,118 คน ระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคมที่ผ่านมา

พบว่าคนกรุงเทพฯ จะตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม.จากสาเหตุใด 68.07% มีนโยบายดี 46.51% ขยัน ตั้งใจทำงาน และ 36.05% ทำงานได้ทันที

ส่วนคนกรุงเทพฯ ชื่นชอบผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนใดมากที่สุด พบว่า 40.25% ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 15.47% สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 13.95% อัศวิน ขวัญเมือง 11.09% วิโรจน์ ลักขณาอดิศร 4.29% สกลธี ภัททิยกุล 1.52% รสนา โตสิตระกูล 0.98% ศิธา ทิวารี 1.89% ผู้สมัครอื่นๆ และ 10.56%ยังไม่ตัดสินใจ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง คนกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนใจในการเลือกผู้สมัครหรือไม่ พบว่า 91.67% ไม่เปลี่ยนใจ และ 8.33% เปลี่ยนใจ

ที่น่าสนใจจากตัวเลขผลการสำรวจของสำนักโพลพบว่า ชาวกรุงเทพฯมีความตื่นตัวที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งให้ความสำคัญในการพิจารณานโยบายของผู้สมัครแต่ละคนเป็นปัจจัยในการเลือกตั้ง ถือเป็นเรื่องดีที่ผู้สมัครจะแข่งกันนำเสนอนโยบายในเชิงสร้างสรรค์ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาว กทม. ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้พิจารณา

แต่ในการเมืองแบบไทยๆ ที่ยังก้าวไม่ถึงขั้นการปฏิรูปที่แท้จริง จะเห็นว่าในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เริ่มมีปฏิบัติการไอโอออกมาเตะสกัดผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. โดยเฉพาะผู้สมัครที่มีคะแนนนิยมในกลุ่มผู้นำ ทั้งการออกมายื่นร้องตรวจสอบเรื่องราวในอดีต การออกมาดิสเครดิตถึงจุดยืนทางการเมือง การตั้งคำถามถึงความอิสระในการลงรับสมัคร เพื่อหวังให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ตัดสินใจจะเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.คนนั้นๆ เกิดอาการไขว้เขว เปลี่ยนใจมาเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.อื่นแทน เหมือนกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ที่มีวลีผ่านการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คนหนึ่งที่ประกาศผ่านเวทีปราศรัยหาเสียงว่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” ช่วยให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.จากพรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. ในสมัยที่ 2 ของตัวเอง ซึ่งการตัดสินใจทางการเมืองของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในปัจจุบันจะแบ่งแยกกันได้อย่างชัดเจน ผ่านการรับรู้ข้อมูลผ่านบทบาท และจุดยืนการทำหน้าที่ของนักการเมืองในปัจจุบันว่าใคร พรรคไหน เป็นเช่นไร จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในห้วง 9 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง และการเข้ามาบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อเนื่อง

จนมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิบัติการไอโอของกลุ่มต่างๆ ที่หวังผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในครั้งนี้ จะเป็นการพิสูจน์ที่สำคัญอีกครั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวกทม. ผ่านผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่จะเกิดขึ้น ว่าการเมืองไทยจะมีพัฒนาการไปในทิศทางใด

ผล “ชนะ” การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ไม่ว่าผู้สมัคร คนใดได้รับเลือกตั้ง คงจะมีการวิเคราะห์กันต่อ เนื่องจากมีผลและนัยยะทางการเมืองที่สำคัญในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครทั้งแบบอิสระและสังกัดพรรคการเมือง ขณะที่ “ผู้แพ้” ใช่ว่าจะมองข้ามได้ เพราะคะแนนที่ผู้แพ้ได้รับถือว่ามีค่าไม่น้อยไปกว่าผู้ชนะ นอกจากจะนำมาถอดบทเรียนถึงความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น คะแนนที่ผู้แพ้ได้รับจะเป็นอีกหนึ่งตัวสะท้อนการเมืองภาพใหญ่ที่สำคัญของทุกพรรคการเมืองว่าจะต้องปรับกลยุทธ์ การวางแผนเตรียมความพร้อมทั้งนโยบาย ตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในการลงสนามเลือกตั้งทั่วไป ตามไทม์ไลน์ คือ ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ซึ่งผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนได้รับนั้น คงจะเป็นโจทย์ข้อสำคัญให้กับ “บุคคลนั้น” และ “พรรคการเมือง” ไปหาคำตอบให้กับตัวเองว่า

ควรจะต้องทำอย่างไร หากคิดจะไปต่อในทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image