บทเรียน การเมือง จากเลือกตั้ง ‘ผู้ว่าฯกทม.’ เลือกเชิง ยุทธศาสตร์

คอลัมน์หน้า 3 : บทเรียน การเมือง จากเลือกตั้ง ‘ผู้ว่าฯกทม.’ เลือกเชิง ยุทธศาสตร์ 

ทําไมข้อเสนอว่าด้วยการเลือกตั้งในเชิง “ยุทธศาสตร์” จึงเงียบหายไปในกลุ่มพรรคที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่าย “ประชาธิปไตย”

คำตอบ 1 เพราะการเลือกตั้งค่อนข้าง “ชัด”

ชัดว่าคะแนนและความนิยมของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ครองความเหนือกว่าตั้งแต่ยกที่ 1 กระทั่งโค้งสุดท้าย

คำตอบ 1 การเคลื่อนไหวนี้จึงอยู่กับ “อีกฝ่าย”

Advertisement

เห็นได้จากข้อเสนอเชิงเรียกร้องต่อ เบอร์ 3 นายสกลธี ภัททิยกุล เบอร์ 4 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เบอร์ 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เบอร์ 7 น.ส.รสนา โตสิตระกุล

จำเป็นต้องมา “ตกลง” ในเชิง “ยุทธศาสตร์”

เพราะหากไม่มีการผนึกกำลังและทำความตกลงร่วมกันในเชิง “ยุทธศาสตร์” ก็จะเดินเข้าสู่แนวทาง “เขามาแน่”

Advertisement

เพียงแต่เขาในที่นี้เป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ข้อเสนอต่อเบอร์ 3 เบอร์ 4 เบอร์ 6 และเบอร์ 7 ให้เกิดการเลือกในเชิง “ยุทธศาสตร์” ก็เพื่อเอาชนะต่อเบอร์ 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นสำคัญ

ถามว่าข้อเสนอนี้จะ “เวิร์ก” หรือไม่

หากประเมินผ่านการยืนหยัดสนับสนุนเบอร์ 3 นายสกลธี ภัททิยกุล จาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อย่างคงเส้นคงว่า

ก็อาจเป็น “ปัญหา” กลายเป็น “ประเด็น”

เนื่องจากไม่ว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ล้วนเรียกร้องให้เทคะแนนไปยังเบอร์ 7 น.ส.รสนา โตสิตระกูล

แล้ว “อัศวิน” กับ “สุชัชวีร์” จะคิดอย่างไร

ในเมื่อที่ยืนอยู่ข้างหลัง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ก็แข็งแกร่ง ในเมื่อที่ยืนอยู่ข้างหลัง นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ก็แข็งแกร่ง

ใครจะเป็น “เจ้าภาพ” ในการ “สมานฉันท์”

ตัวอย่างจากที่กำลังเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.” กำลังเป็นบทเรียนอันทรงความหมายยิ่งในทางการเมือง

นี่คือ “ภูมิทัศน์” ใหม่ ในทางการเมือง

เป็นภูมิทัศน์อันเป็นผลสะเทือนจากการเคลื่อนไหวก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 แน่นอน

แต่มิได้เป็นไปตาม “ความต้องการ” ของใคร

แม้ว่าไม่ว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แม้ว่าไม่ว่ามวลมหาประชาชน กปปส.จะมีศัตรูเดียวกัน

แต่ภาวการณ์ดำรงอยู่ของ “ศัตรู” ก็แปรเปลี่ยน

เพราะไม่เพียงแต่จะมีคนอย่าง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เท่านั้น หากแต่ยังมีคนอย่าง นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อยู่ด้วย

นี่คือภาวะ “เลื่อนไหล” นี่คือ “การแปรเปลี่ยน”

จึงไม่เพียงแต่ภายในของพรรคพลังประชารัฐจะต้องขบคิด จึงไม่เพียงแต่ภายในของพรรคประชาธิปัตย์จะต้องขบคิด

หากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลก็ต้องขบคิด

หากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หากแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการ หากมวลมหาประชาชน กปปส.ก็ต้องคิด

ฤดูกาลการเมือง “เปลี่ยน”ภูมิทัศน์การเมือง “เปลี่ยน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image