ผลแพ้-ชนะศึกผู้ว่าฯกทม. สะท้อนความหวั่นไหวรบ. ส่งผ่านการเมืองเปิดสภา

 

ผลแพ้-ชนะศึกผู้ว่าฯกทม.

สะท้อนความหวั่นไหวรบ.

ส่งผ่านการเมืองเปิดสภา

Advertisement

ศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะชี้ชะตาผลแพ้-ชนะ กันในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาว กทม.ทั้ง 4,402,941 คน

จะมอบฉันทามติให้ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.คนไหน มาทำหน้าที่ “ผู้ว่าฯกทม.” คนที่ 17 ดูแลสุข-ทุกข์ แก้สารพัดปัญหาให้กับชาว กทม. ในห้วง 4 ปี ของวาระการดำรงตำแหน่ง

ผลแพ้-ชนะ ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในรอบ 9 ปี จึงมีนัยยะส่งผลต่อการเดินหน้าต่อทางการเมืองของทั้งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.จากพรรคการเมือง และผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.แบบอิสระ

Advertisement

สะท้อนผ่านการลงพื้นที่และกลยุทธ์หาเสียงที่ส่งถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่คิดว่าเป็นฐานเสียงของตัวเอง ในช่วงโค้งสุดท้ายอย่างเข้มข้น แหลมคม เพื่อหวังช่วงชิงคะแนนมาให้ผู้สมัคร

คนที่กองเชียร์คาดหวังมาให้ได้มากที่สุด กลยุทธ์การเลือกตั้งในเชิงยุทธศาสตร์ จึงเริ่มเด่นชัดและเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจากกองเชียร์ ระดับแกนนำทางการเมือง

เครือข่ายนักวิชาการที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลออกอาการหวั่นไหว ต่อกระแสคะแนนนิยมของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.บางคน ที่ยืนหนึ่งผ่านผลสำรวจของสำนักโพลต่างๆ ว่ามีสิทธิจะชนะเลือกตั้ง

ต่างเปิดหน้าออกมาสื่อสารถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผ่านยุทธศาสตร์เดิมที่เคยใช้ได้ผล เมื่อครั้งเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในเดือนมีนาคม 2556 ผ่านยุทธศาสตร์ที่ว่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่”

แต่เหตุและปัจจัยทางการเมืองของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในปี 2565 นั้น นอกจากข้อมูลและข้อเท็จจริงทางการเมืองที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาว กทม. มีความตื่นรู้เท่าทันในทางการเมืองมากยิ่งขึ้น

อาจส่งผลให้ยุทธศาสตร์ “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” ใช้ไม่ได้ผลมากนักในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้

เนื่องด้วยข้อเท็จจริงในทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ในกลุ่มผู้นำ แบ่งขั้วตามฐานเสียงและผู้สนับสนุนทางการเมืองกันค่อนข้างชัดเจน

คือ กลุ่มผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ฝั่งเสรีประชาธิปไตย กับ กลุ่มผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ฝั่งอนุรักษนิยม โดยผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ในกลุ่มแรก ที่ถูกจัดว่าเป็น “เขา”

มีชื่อชัดเจนที่คาดว่าจะแบ่งคะแนนกันเองนั้น มีอยู่ประมาณ 3 คน ขณะที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ในกลุ่มที่สอง ที่ถูกจัดเป็น “เรา” มีชื่อเปิดหน้าชัดออกมาว่าจะมีการแบ่งคะแนนกันเองถึง 4 คน

ส่งผลต่อยุทธศาสตร์ “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” ที่จะนำมาใช้ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในปี 2565 อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จเหมือนกับยุทธศาสตร์ที่ใช้ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในปี 2556

เพราะในปี 2556 ขั้วการเมืองที่ลงสนามชิงชัยผู้ว่าฯกทม. แบ่งแยก “เรา” และ “เขา” กันอย่างชัดเจน เพราะมีการแข่งขันกันชัดเจน

คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯกทม. กับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ อดีตรอง ผบ.ตร. ซึ่งบทสรุปสุดท้าย ยุทธศาสตร์ “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” เดินเกมได้เข้าเป้า

ส่งผลให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ชนะได้นั่งเป็นผู้ว่าฯกทม. สมัยที่ 2 ต่างจากกลุ่มผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ในกลุ่ม “เรา” ในปี 2565 ที่จะมีการแบ่งคะแนนกันถึง 4 คน ซึ่งมีความยาก

ในการที่จะตกลงกันนอกรอบ หรือโน้มน้าว ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ฝั่งอนุรักษนิยม ร่วมกันเทคะแนนให้ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. คนใดคนหนึ่งในกลุ่มนี้

เพราะผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ต่างหวังผลกับคะแนนที่จะได้รับเพื่อนำไปเป็นเงื่อนไขและปัจจัยที่สำคัญ ในการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าทางการเมืองต่อไป อย่างไรด้วยเหมือนกัน

การจะยอมเทคะแนนให้กันโดยไม่เคลียร์กันให้ชัดเจนก่อนวันกาบัตรนั้น ย่อมไม่เป็นผลดีต่อผลการเลือกตั้งต่อกลุ่มที่หวังจะใช้ยุทธศาสตร์ “ไม่เลือกเรา เขามาแน่”

ขณะที่ไทม์ไลน์การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญจะเริ่มต้นอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม เป็นต้นไป จวบจนครบ 120 วัน ของสมัยประชุม

วาระร้อนเรื่องแรกที่มีคิวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภา นั่นคือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท

ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายนนี้ แม้ในทางการเมือง เกือบทุกพรรคจะไม่นำเรื่องทางการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับบทบาทการตรวจสอบและการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเล่นเกมการเมืองกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่เป็นเรื่องสำคัญในการนำงบประมาณไปดูแลประชาชนและพัฒนาประเทศ

แต่ในสถานการณ์ทางการเมืองของพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ยังเจอกับปัญหาความไม่มีเอกภาพภายในพรรค โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับพรรคเล็กที่ระบุว่าอยู่ฝั่งเดียวรัฐบาล อย่าง “พิเชษฐ สถิรชวาล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร.ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16 ประกาศเดินหน้าตรวจสอบงบประมาณ

โดยเฉพาะการตรวจสอบโครงการระบบท่อส่งน้ำภาคตะวันออก (อีอีซี) วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ร่วมกับรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) อย่าง “ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ที่ประกาศว่า

มีข้อมูลหลักฐานถึงความไม่ชอบมาพากล ที่จะโยงถึงแกนนำพรรค พปชร. ระดับเลขาธิการพรรค อย่าง “สันติ พร้อมพัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่มีส่วนรับผิดชอบในการประมูลโครงการดังกล่าวด้วย หากไม่เคลียร์ปัญหาภายในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลให้เรียบร้อย รัฐบาลอาจจะตกม้าตายเอาง่ายๆ

หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภา

ร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องออกมาเน้นย้ำ พร้อมกับกำชับต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกันว่า

ต้องขอให้แกนนำพรรคร่วมทุกพรรคกำชับสมาชิกของแต่ละพรรคร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ให้เกิดความเรียบร้อย พร้อมกับห้ามไม่ให้ ส.ส.เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในครั้งนี้ หากใครฝ่าฝืนก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

เช่นเดียวกับ “จุติ ไกรฤกษ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หนึ่งในรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เสริมว่า พ.ร.บ.งบปีนี้ถือเป็นโค้งสุดท้ายของรัฐบาล อาจมีการใส่ความแบบรุนแรงสุดโต่ง จึงอยากให้รัฐมนตรีนำเสนอเพื่อความเข้าใจในภาพรวมก่อนที่จะเข้าสู่สภา รวมถึงให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้ให้ความรู้ต่อ ส.ส.ก่อนกฎหมายจะเข้าสภา

ผลแพ้-ชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ จะส่งผลต่อการเมืองในภาพใหญ่อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image