ต่อมเร้า การเมือง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เอฟเฟ็กต์ รัฐราชการ รวมศูนย์

คอลัมน์หน้า 3 : ต่อมเร้า การเมือง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เอฟเฟ็กต์ รัฐราชการ รวมศูนย์

ถามว่า “อาฟเตอร์ ช็อก” อันเนื่องแต่ชัยชนะกว่า 1.3 ล้านคะแนน อัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้จากคนกรุงเทพมหานครคืออะไร

1 คือผลสะเทือนของ “การเลือกตั้ง”

ไม่เพียงเป็นการเปรียบเทียบอย่างขาวกับดำต่อการแหวกเมฆมาด้วย “มาตรา 44” ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

และตามมาด้วย นายสกลธี ภัททิยกุล ในตำแหน่ง “รองผู้ว่าฯ” เท่านั้น

Advertisement

หากที่แหลมคมและสำคัญเป็นอย่างสูงยังเป็น “คำถาม” ที่ว่าทำไมคนกรุงเทพมหานครจึงได้เลือกตั้ง
“ผู้ว่าฯ”

แล้วทำไม “พวกเรา” จึงไม่ได้ “เลือก”

ผลสะเทือน 1 นี้จึงกลายเป็นคำถามตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

Advertisement

คำถามนี้มีแนวโน้มจะกลายเป็น “ประเด็น”

อย่าลืมเป็นอันขาดว่ามีการเคลื่อนไหวของ “คณะก้าวหน้า” และพันธมิตรในการ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น”

เริ่มก้าวที่ 1 ในวันที่ 1 เมษายน

เท่ากับก่อให้เกิดนัยประหวัดไปยังการปฏิรูป “โครงสร้าง” ระบบราชการที่เกิดขึ้นในวันที่ 1 เมษายน 2436

ผ่านมาแล้ว 100 กว่าปี แต่ก็ยังเหมือนเดิม

นั่นก็คือ ระบบราชการที่อยู่ภายใต้โครงสร้างอันแข็งแกร่ง ตายตัวของสิ่งที่เรียกอย่างรวบรัดว่า

“รัฐราชการรวมศูนย์”

บนพื้นฐานแห่งการสรุปว่า หากไม่ทวงคืนอำนาจโดยการรื้อระบบ“รัฐราชการรวมศูนย์” ที่แข็งทื่อ ตายตัว

สังคมประเทศไทยก็หยุดนิ่งมิอาจก้าวไปข้างหน้า

บรรยากาศอันคึกคักที่สัมผัสได้ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม ผ่านการเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯกทม.” จึงเท่ากับเป็นสินค้าตัวอย่าง

เย้ายวนใจอย่างยิ่งยวด

เมื่อประสานเข้ากับการปักธงในทางความคิดต่อ “รัฐราชการรวมศูนย์” อันเป็นภารกิจหลักของพรรคอนาคตใหม่

ต่อเนื่องมายัง “พรรคก้าวไกล” และ “คณะก้าวหน้า”

เมื่อการเคลื่อนไหว 2 ส่วนนี้ประสานมาบรรจบอย่างมิได้นัดหมายจึงนำไปสู่ความคาดหวังหนึ่งในทางการเมือง

โอกาสที่กระแสการทวงคืน “อำนาจ” จักต้องเกิดขึ้น

เนื่องจากลักษณะการปกครองในลักษณะ “รัฐรวมศูนย์” ซึ่งมีกรุงเทพมหานครดำรงในสถานะ “เจ้าอาณานิคม” เช่นนี้เด่นชัดว่าดำเนินไปในลักษณะกดขี่ ขูดรีด

กดขี่ต่อแต่ละ “จังหวัด” ขูดรีดผ่านระบบ “เจ้าเมือง”

การเคลื่อนไหวของคณะก้าวหน้าอาจเสมอเป็นเพียงการปักธงในทาง “ความคิด” แต่เมื่อประสานกับความเป็นจริงในกรณี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

“ความคิด” ก็แปรเป็น “การเมือง”

กลายเป็นคำถามที่ผู้คนในแต่ละจังหวัดจะตั้งและเสนอขึ้นต่อ “ผู้ว่าฯ” ต่อ “นายอำเภอ” เมื่อเปรียบเทียบกับ อบต. กับเทศบาล กับ อบจ.

นี่คือผลสะเทือนจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image