ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก 11 รมต. ผลได้-เสียเปลี่ยนการเมือง รบ.ลุยฝ่าด่านอยู่ครบวาระ

ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก11รมต. ผลได้-เสียเปลี่ยนการเมือง รบ.ลุยฝ่าด่านอยู่ครบวาระ

ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก11รมต.
ผลได้-เสียเปลี่ยนการเมือง
รบ.ลุยฝ่าด่านอยู่ครบวาระ

พรรคร่วมฝ่ายค้านเดินเกมรุกทางการเมืองต่อฝ่ายรัฐบาล ด้วยการเดินหน้ายื่นญัตติการอภิปรายนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา
ภายใต้ยุทธการ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน” แน่นอนว่า เมื่อยื่นญัตติแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 วรรคสอง ระบุไว้ว่า นายกรัฐมนตรีจะยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติดังกล่าวออกจากวาระการประชุม การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯและรัฐมนตรีครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 4 และเป็นครั้งสุดท้ายของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก่อนที่รัฐบาลจะครบวาระในเดือนมีนาคม 2566 การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงต้องเน้นหนักทั้งเนื้อหา สาระ และข้อมูลที่จะใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจ

โดยล็อกเป้าหมายตัวบุคคลที่จะเปิดอภิปราย มุ่งอภิปรายไปที่หัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค ของพรรคที่เป็นแกนนำในซีกรัฐบาลเป็นหลัก ล้วนเป็นพรรคร่วมที่มีเสียง ส.ส.สนับสนุนให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อยู่รอดมาจนถึงวันนี้ เบ็ดเสร็จเป้าหมายที่อยู่ในข่ายถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมทั้งสิ้น 11 คน จาก 3 พรรคร่วมรัฐบาล

แบ่งเป็น พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คือกลุ่ม 3 ป. ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค พปชร. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะที่รัฐมนตรีของพรรค พปชร.คือ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และเลขาธิการพรรค พปชร. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการพรรค พปชร. และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และรองหัวหน้าพรรค พปชร. ส่วนรายชื่อพรรคภูมิใจไทย (ภท.) คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. กับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะเลขาธิการพรรค ภท.

Advertisement

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ปชป. และ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

เป้าหมายสูงสุดของพรรคร่วมฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย คือล้ม พล.อ.ประยุทธ์ ให้พ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้ได้ ผ่านข้อกล่าวหาที่ดูรุนแรง ตามพฤติการณ์ของรัฐมนตรีแต่ละคนที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะมุ่งเป้าอภิปราย ทั้งความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน การทุจริตในการหาประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง ทำผิดกฎหมายขัดต่อจริยธรรม และนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภา ไม่ได้ทำหรือทำแล้วล้มเหลว

หากย้อนดูสถิติผลการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตลอดการอภิปราย 3 ครั้งที่ผ่านมา ถ้าจะพิจารณาในส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ถือว่าเสียงข้างมากของพรรคร่วมรัฐบาล ยังลงมติโหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้ทำหน้าที่นายกฯต่อไป โดยการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 พล.อ.ประยุทธ์ได้คะแนนไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 49 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 ครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้คะแนนไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 206 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และครั้งที่ 3 เมื่่อวันที่ 4 กันยายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ได้คะแนนไว้วางใจ 264 ไม่ไว้วางใจ 208 งดออกเสียง 3 ซึ่งคะแนนไม่ไว้วางใจนายกฯ มีเพิ่มมากขึ้นทุกครั้งของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

Advertisement

ในทางการเมืองหากไม่มีอุบัติเหตุ หรือปฏิบัติการล้มเก้าอี้นายกฯกลางสภา หากนับเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ยังมีความเป็นเอกภาพ ด้วยสถานะของเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร

ย่อมจะรวมเสียงสนับสนุนให้นายกฯและรัฐมนตรีผ่านการอภิปราย แม้จะมีดราม่าในการเสนอชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งสุดท้ายที่จากเดิมมีแค่ 10 คน

แต่ช่วงก่อนยื่นญัตติเพียงไม่กี่ชั่วโมงในวันที่ 15 มิถุนายน กลับมีรายชื่อเพิ่มรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายมาเป็น 11 คน ทำให้ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ในฐานะ ส.ส.ชลบุรี และผู้อำนวยการพรรค พปชร. ข้องใจพร้อมกับยื่นร้องต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน

ว่าเป็น “ญัตติเถื่อน” หรือไม่ เนื่องจากมีกระบวนการเพิ่มรายชื่อกันภายหลัง และอาจจะมี ส.ส.ร่วมลงชื่อเสนอเป็นญัตติที่ไม่ถูกต้องได้

อีกทั้ง “สุชาติ” ยังรู้มาด้วยว่ามีผู้มีอิทธิพลนอกฝ่ายค้านส่งรายชื่อและข้อมูลการอภิปราย เพิ่มไปในญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อหวังผลในทางการเมือง ซึ่งพอจะคาดการณ์ได้ว่าเป็นฝีมือของใคร เพราะหวังผลให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเขย่าเก้าอี้ของรัฐมนตรีบางคนให้สั่นคลอน หรือขั้นรุนแรงอาจถึงกับตกเก้าอี้ได้

แม้พรรคร่วมรัฐบาลจะออกมายืนยันถึงความมั่นใจในเสียงสนับสนุน พร้อมกับยึดบรรทัดฐานการโหวตสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในวาระแรก
ที่มีเสียงสนับสนุนถึง 278 ต่อ 194 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ขณะเดียวกันยังมีเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) 7 คน พรรคก้าวไกล (ก.ก.) 4 คน และพรรคประชาชาติ (ปช.) 1 คน โหวตสวนมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน มาสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลด้วย ยิ่งเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีอยู่ในขณะนี้ 208 เสียง ห่างจากเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล 269 เสียง อยู่ 61 เสียง จะโหวตกันครั้งไหนก็ไม่มีทางชนะฝ่ายรัฐบาลได้ แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย แกนนำรัฐบาลคงจะยึดเอาบรรทัดฐานการลงมติสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ มาชี้วัดคงไม่ได้ ยิ่งพรรคการเมืองที่อยู่ในสถานะ “สะวิงโหวต” พร้อมเป็นตัวแปรชี้ขาดว่ารัฐบาลจะอยู่หรือไม่ อย่างกลุ่ม 16 และพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวหน้าพรรค ศท. เป็นแกนนำ ออกมาส่งสัญญาณว่า ดูจากรายชื่อผู้ถูกอภิปรายแล้วรู้สึกว่าหนักทุกคน ยกเว้น พล.อ.ประวิตร เพียงคนเดียว ที่จะผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จุดยืนการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรค ศท.และกลุ่ม 16 คงจะต้องหารือ หลังจากฟังการอภิปรายของฝ่ายค้านและการชี้แจงของรัฐมนตรีแต่ละคนว่ามีเหตุผลที่รับฟังได้หรือไม่

แน่นอนฝ่ายผู้มีอำนาจในพรรคร่วมรัฐบาลย่อมงัดทุกกลยุทธ์และตำราทางการเมือง เพื่อหวังผ่านด่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดทาย เพราะมีผลได้เสีย และเดิมพันทางการเมืองที่สูง

หากผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ไปได้ พรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมเดินหน้าไปสู่เป้าหมายอยู่ครบวาระ 4 ปี ในเดือนมีนาคม 2566

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image