ที่เห็นและเป็นไป : อนาคต‘พรรคอุปถัมภ์นิยม’

ที่เห็นและเป็นไป : อนาคต‘พรรคอุปถัมภ์นิยม’

ที่เห็นและเป็นไป : อนาคต‘พรรคอุปถัมภ์นิยม’

การเมืองปีสุดท้าย “รัฐบาลลุงตู่” ก่อนหมดวาระต้องเลือกตั้งใหม่เกิดปรากฏการณ์ที่เห็นพัฒนาการอย่างยิ่ง

เป็นปรากฏการณ์ที่ชวนเชิญให้จับตาอันเกิดจากปฏิบัติการของ “พรรคก้าวไกล”

ใครจะเชื่อว่า “พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” อันมุ่งหมายคืนสิทธิการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับไปให้ชาวบ้าน แทนที่จะกฎหมายจะทำให้ผูกขาดอยู่แค่กับทุนใหญ่

Advertisement

เช่นเดียวกับนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่า “สิทธิมนุษยชน” ระดับยอมรับให้ “แต่งงานกันได้โดยไม่เอาเรื่องหญิง เรื่องชาย หรือการกำหนดเพศใดๆ มาเป็นเงื่อนไข” จะเกิดขึ้นได้การออก “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม”

ทั้งที่การการผลิตเหล้า เบียร์ถูกสร้างเป็นความเชื่อว่าคือเรื่องต้องห้ามสำหรับประชาชนทั่วไปมานาน จนกลายเป็นการยอมรับไปแล้วว่าชีวิตประชาชนจะอยู่ในภัยอันตรายหากการผลิตเครื่องดื่มประเภทนี้ไม่ถูกควบคุมคุณภาพโดยโรงงานใหญ่เท่านั้น

ทั้งที่ชีวิตคู่อย่างเสรีของทุกเพศสภาพเคยเป็นแค่เรื่องไม่มีผลทางกฎหมายในทุกมิติ

Advertisement

วันนิ้ “พรรคก้าวไกล” เสนอเรื่องเหลือเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้นั้นให้เกิดขึ้น โดย “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ส่วนใหญ่ยกมือให้ผ่านวาระรับหลักการอย่างพลิกความคาดหมาย

การพลิกมติวิปพรรคร่วมรัฐบาลที่ให้ตีตกไป นับว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมืองก็เรื่องหนึ่ง

แต่มีอีกมิติที่ชวนให้เหลียวมอง หากโฟกัสไปที่ “พรรคก้าวไกล”

“พรรคก้าวไกล” อวตารมาจาก “พรรคอนาคตใหม่” ที่ถูกยุบไป คือพรรคที่เสนอนโยบายรื้อโครงสร้างอำนาจ รื้อโครงสร้างการเมือง ต่อต้านระบบอุปถัมภ์แบบบ้านใหม่ และการลงไปทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขในทางปฏิบัติซึ่งควรเป็นหน้าที่ของราชการ

นำเสนอ ส.ส.ที่มีหน้าที่ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจทางการเมือง เน้นนโยบายมุ่งไปที่การเปลี่ยนแปลงค่านิยม สร้างชีวิตที่เท่าเทียม สร้างสิทธิที่เสมอภาค และเปิดเสรีภาพให้ชีวิต

โดยเชื่อว่าการอำนวยสิ่งเหล่านี้ให้จะทำให้ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องมีชีวิตอยู่แค่คอยความช่วยเหลือจากผู้มีอำนาจเหนือกว่าอย่างที่เป็นอยู่

เชื่อว่านั่นเป็นการ “ให้เบ็ด” เพื่อให้หากินได้เอง แทนที่จะให้ “ปลา” ที่ต้องคอยชะเง้อรอคนให้อยู่ทุกครั้งที่ต้องการ

เป็นการสร้าง “พรรคพึ่งตัวเองนิยม” ขึ้นมาแข่งกับ “พรรคอุปถัมภ์นิยม”

ท่ามกลางมุมมองการเมืองในชัยชนะของ “กปปส.” ที่ “ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ฉลาดพอที่ให้สิทธิเท่าเทียมในการมีส่วนร่วมทางการเมือง” ทำให้ต่อเนื่องมาสู่การสืบทอดอำนาจอย่างยาวนาน

“ระบบอุปถัมภ์” เป็นความเชื่อมั่นว่าเป็นกลไกสร้างและรักษาฐานเสียงได้ดีที่สุด

การลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหา เยียวยา และแจกจ่าย คือการหาเสียงที่เป็นหลักประกันชัยชนะได้ดีที่สุด

“ให้ปลา” ที่อิ่มท้องได้ทันที ได้ผลกว่า “ให้เบ็ด” กับคนที่ไม่รู้จะไปตกปลาที่ไหน อย่างไร

การทำงานการเมืองโดยเน้น “สร้างศักยภาพที่พึ่งตัวเองได้” ด้วย “โอกาสที่เท่าเทียม” ถูกมองว่าเป็นความเพ้อฝัน ไม่มีทางทะลุผ่านด่านของ “อุปถัมภ์นิยม” ที่เชื่อว่าประชาชนตอบรับมากกว่าไปได้

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการผ่าน “พ.ร.บ.ที่เหลือเชื่อว่าจะออกมาได้” ย่อมเป็นปรากฏการณ์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง

ไม่เพียงวิถีทางพัฒนาประเทศในกรอบความคิดแบบ “พรรคก้าวไกล” จะได้รับการตอบรับชัดเจนขึ้นเท่านั้น

แต่แรงกดดันที่เกิด เป็นคำถามต่อ “พรรคอุปถัมภ์นิยม” ว่าอนาคตจะตกไปสู่สภาพเช่นไร

เป็นอนาคตในความรู้สึกนึกคิดของผู้คน

ไม่ใช่แค่ความคิดของประชาชนเท่านั้น แต่เป็นความคิดที่แท้จริงของ ส.ส.ในสภาว่าถ้ามีโอกาสเลือกอย่างเสรี จะเลือกอนาคตประเทศแบบไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image