พลิกสูตรใช้หาร 100 แก้เกมมุ่งชิงส.ส.เขต สู่เป้าจับมือตั้งรัฐบาล

พลิกสูตรใช้หาร100

แก้เกมมุ่งชิงส.ส.เขต

สู่เป้าจับมือตั้งรัฐบาล

กติกาการเลือกตั้งครั้งต่อไปให้สอดคล้องกับระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ คือ ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่ดูยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากสัญญาณและทิศทางล่าสุดของกลุ่มผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะจากกลุ่ม 3 ป. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังไม่ชัดเจน ในการออกกฎหมายลูก โดยเฉพาะสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน ที่สัญญาณของผู้มีอำนาจที่ส่งผ่านมายังพรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่คุมเสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภา ยังคงกลับไป กลับมา จากเดิมฝั่งผู้มีอำนาจ ต้องการให้ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 500

Advertisement

ส่งผลให้เสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภา มีมติเห็นด้วยกับคำสงวนคำแปรญัตติของ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เสนอให้ใช้สูตรหารด้วย 500

ในการพิจารณาในวาระที่ 2 โดยกลับมติจากวาระรับหลักการที่เห็นด้วยกับสูตรหารด้วย 100 ทำให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ต้องนำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กลับมาแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการใช้สูตรหารด้วย 500 รอเพียงวาระเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ว่าจะยืนยันใช้สูตรหารด้วย 500 ในการลงมติวาระที่ 3 หรือไม่ โดยมีเดดไลน์กำหนดให้รัฐสภาต้องพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้เสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 สิงหาคมนี้

เหตุที่ผู้มีอำนาจเกิดความไม่นิ่งและกลับไปกลับมาในการเดินเกมการเมือง ผ่านการออกกติกาเลือกตั้ง โดยเฉพาะสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากวาระรับหลักการเป็น หารด้วย 100 พอถึงชั้นพิจารณาเป็นรายมาตราในวาระ 2 เกิดเปลี่ยนใจกลับมติ มาเป็นสนับสนุนสูตรหารด้วย 500 แต่พอใกล้จะครบเดดไลน์ 180 วัน ในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้จบในวาระที่ 3 ในวันที่ 15 สิงหาคม เกิดการเปลี่ยนใจจากผู้มีอำนาจจะให้กลับมาใช้สูตรหารด้วย 100 จึงส่งสัญญาณให้สมาชิกรัฐสภา ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ใช้เงื่อนไข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 (1) มีที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าวไม่เสร็จภายใน 180 วัน โดยใช้วิธีทำให้องค์ประชุมรัฐสภาล่ม ทั้งการไม่เข้าร่วมประชุม หรือเข้าร่วมแต่ไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม ทำให้ที่ประชุมรัฐสภาไม่สามารถเดินหน้าลงมติในวาระที่ 3 ได้

ประเด็นที่มีการเปลี่ยนสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กลับไป เปลี่ยนมานั้น เนื่องด้วยทีมที่ปรึกษาและกุนซือของฝ่ายผู้มีอำนาจ นั่งคิด วิเคราะห์ แก้โจทย์ในทุกสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาแล้ว ไม่ว่าสูตรหารด้วย 100 ก็เกรงว่าจะเข้าทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่จะมุ่งสู่ยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ เนื่องด้วยกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ พรรค พท.นอกจากจะมีจุดแข็งของ ส.ส.เขต ที่มีเขตเพิ่มมาเป็น 400 เขตแล้ว หากใช้สูตรหารด้วย 100 จะทำให้พรรค พท.เข้ามามีส่วนแบ่งในสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มีอยู่ทั้งหมด 100 คนด้วย

ส่วนการใช้สูตรหารด้วย 500 ก็เพื่อใช้สกัดยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ของพรรค พท. แต่จะไปเข้าทางการเมืองของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เนื่องจากพรรค ก.ก.อาจจะไม่มี ส.ส.เขตที่เข้มแข็งมากนัก

แต่ด้วยกระแสพรรคที่ครองใจคนรุ่นใหม่ และกลุ่มวัยทำงาน อาจส่งผลให้พรรค ก.ก.ได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อมากพอสมควร

อีกทั้งการใช้สูตรหารด้วย 500 ที่มีการนำ ส.ส.พึงมี เข้ามากำหนดว่าแต่ละพรรคควรจะได้ ส.ส.พึงมีเท่าใด แม้จะเป็นกติกาที่สกัดไม่ให้พรรคใหญ่ มี ส.ส.มากเกินไป เช่น พรรค พท.หากได้ ส.ส.เขต เกินจำนวน ส.ส.พึงมีที่พรรคควรจะได้รับแล้ว ก็จะไม่มีโอกาสได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่กติกาดังกล่าวอาจจะกระทบกับพรรคที่อาจจะมี ส.ส.เขตเข้ามามากจนครบหรือเกินเกณฑ์จำนวน ส.ส.พึงมี อย่างพรรค พปชร. พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่อาจจะไม่ได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยเหมือนกัน แน่นอนจะกระทบกับ “บิ๊กเนม” และ “แกนนำพรรค” ที่ส่วนใหญ่จะวางตำแหน่งของแต่ละคนไว้ในบัญชีของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หากเป็นไปเช่นนั้นอาจส่งผลให้ “บิ๊กเนม” จะชวดไม่ได้เข้าสภา ทำให้ผู้มีอำนาจต้องยอมกลับมาใช้สูตรหารด้วย 100 และระดมสรรพกำลังของแต่ละพรรคร่วมรัฐบาลไปต่อสู้ในสนามของ ส.ส.เขตซึ่งมีถึง 400 ที่นั่ง หากแต่ละพรรคไปช่วงชิง ส.ส.เขต กลับมาได้มากเท่าใด ก็ย่อมจะส่งผลให้ ส.ส.เขตของพรรค พท.ได้ลดน้อยลงไปด้วย ซึ่งจะทำให้ยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ของพรรค พท.ไม่ประสบผลสำเร็จ โอกาสในการหวนมาจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลภายหลังเลือกตั้งครั้งหน้าของพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบันก็อาจจะพอมีโอกาส เพราะทุกอย่างล้วนเป็นไปตามคณิตศาสตร์การเมือง ซึ่งพรรค พท.ย่อมมีบทเรียนมาแล้วในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับที่หนึ่ง แต่ไม่สามารถรวมเสียง ส.ส.มาตั้งรัฐบาลได้

ขณะที่สัญญาณการเตรียมพร้อมเลือกตั้งเริ่มชัดเจนยิ่งขึ้น หลายพรรคทยอยเปิดตัวทั้งผู้นำและสมาชิกพรรคที่จะร่วมกันขับเคลื่อนกับการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ทั้งพรรครวมแผ่นดิน ที่รีแบรนด์เปลี่ยนชื่อจากพรรคพลังชาติไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคเล็ก 1 เสียงที่ร่วมรัฐบาล โดยมี “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย นั่งเป็นหัวหน้าพรรครวมแผ่นดิน พร้อมกับประกาศเป้าหมายคว้า ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ต่ำ 25 เสียง ซึ่งพรรครวมแผ่นดินถือเป็นอีกหนึ่ง พันธมิตรทางการเมืองของพรรค พปชร. ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นหัวหน้าพรรค เพราะ “บิ๊กน้อย” ถือเป็นอีกหนึ่งมือทำงานใกล้ชิดให้กับ “บิ๊กป้อม” ตั้งแต่เมื่อครั้งรับราชการทหาร

นอกจากนี้ ยังมีพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ได้ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกฯ มานั่งเป็นหัวหน้าพรรค และ “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นเลขาธิการพรรค ตามโผ โดยมีคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และสมาชิกพรรค ที่ส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ส.ปชป. อาทิ วิทยา แก้วภราดรัย อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช และอดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. ส่วนยุทธศาสตร์ของพรรคใหม่ที่เป็นเครือข่ายของกลุ่มผู้มีอำนาจจะเป็นไปตามยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันหรือไม่ในทางการเมืองย่อมอ่านเกมกันไม่ยาก

ยิ่งมีการวิเคราะห์ตัวเลขผลการเลือกตั้งครั้งหน้าออกมาเบื้องต้นด้วยว่า หากใช้กติกาการเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ หารด้วย 100 พรรค พท. อาจจะได้ ส.ส.ทั้ง 2 แบบ บวก-ลบ ไม่ต่ำกว่า 200 เสียง รองลงมาจะเป็น พรรค ภท. และพรรค พปชร. อยู่ที่ตัวเลขพอๆ กัน คือบวก-ลบ 70 เสียง หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ดังกล่าว เสียงของฝ่ายค้านเดิม ที่มีพรรค พท.เป็นแกนนำ จะขึ้นแท่นรออยู่ที่ 200 เสียง ขาดอีกเพียง 50 เสียงขึ้นไป ก็จะคุมเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรไว้ได้ ยากที่พรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบันจะไปรวมเสียง ส.ส.มาตั้งรัฐบาลแข่งได้ แม้จะมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน คอยท่าร่วมโหวตตั้งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปไว้อยู่แล้ว ทุกอย่างจึงอยู่ที่ผลการเลือกตั้งของแต่ละพรรคว่าจะได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image