สัญญาณ การเมือง พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ สัญญาณ ปรับครม.

คอลัมน์หน้า 3 : สัญญาณ การเมือง พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ สัญญาณ ปรับครม.

ระฆังอันส่อแนวโน้มและความเป็นไปได้ในการ “ปรับครม.” เริ่มก้องกังวาน ขานรับเป็นทอดๆ ถี่ยิบและต่อเนื่อง

จาก “พลังประชารัฐ” ไปยัง “ประชาธิปัตย์” 

พรรคพลังประชารัฐโดยพื้นฐานอาจมาจากต้องการปรับ 2 ตำแหน่งที่ขาดหายไปนับตั้งแต่สถานการณ์เดือนกันยายน 2564

ตำแหน่ง “ธรรมนัส” ตำแหน่ง “นฤมล” 

Advertisement

ในเมื่อตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเมื่อตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงเป็นของพรรคพลังประชารัฐ

ก็ชอบที่จะ “เปิดทาง” ให้ “คนใหม่” เข้าไป

ขณะเดียวกัน กังวานอันดังมาจากภายในพรรคประชาธิปัตย์ต้องการปรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Advertisement

นี่ย่อมเป็นเรื่องที่ “ประชาธิปัตย์” สามารถเสนอได้ 

ไม่ว่าจะมองผ่านกระสวนอันมาจากพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะมองผ่านกระสวนอันมาจากพรรคประชาธิปัตย์

เป้าหมาย สอดรับ เป็นเอกภาพ

เหตุผลโดย “พื้นฐาน” ต้องการปรับในสัดส่วนอันเป็นโควต้าของตน และเพื่อเป็นการรับมือกับ “การเลือกตั้ง”

เพื่อให้ “รัฐมนตรี” ไปสร้าง “แรงสะเทือน” 

เพียงแต่มีความละเอียดอ่อนอยู่บ้างในการกดดันจากพรรคพลังประชารัฐคือ มีเป้าหมายอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยด้วย

โดยหวังใช้ “มหาดไทย” มาเป็น “เครื่องมือ” 

เครื่องมือในการผลักดันโอกาสให้กับพรรคพลังประชารัฐและพันธมิตร เครื่องมือในการสกัดแผน “แลนด์สไลด์” จากฝ่ายตรงกันข้าม

เป้าหมายสูงสุดเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ “ไปต่อ”

ความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งยวดอันทำให้การปรับต้องยืดเยื้อ เพราะตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา 

เป็นน้อง “ป้อม” เป็นพี่ “ประยุทธ์”

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นองค์ประกอบสำคัญภายใน “กลุ่ม 3 ป.” มีบทบาทหนุนช่วยการรักษาอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

จากเดือดพฤษภาคม 2557 กระทั่งเดือนสิงหาคม 2565

หากมอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กุมอำนาจ “บริหาร” บทบาทของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา คือมือไม้ผ่าน “มหาดไทย” 

การดัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไปแทนที่อาจมีน้ำหนัก

แต่น้ำหนักนั้นก็ต้องถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ก็ต้องถาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ว่าเต็มใจเพียงใด

นี่คือความละเอียดอ่อน นี่คือความอ่อนไหว

จากนี้จึงเห็นได้อย่างแจ่มชัดว่า เหตุใดการผลักดันเรื่องนี้จากพรรคพลังประชารัฐ จึงยืนหยัดในชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 

เนื่องจากอยู่ในฐานะ “พี่ใหญ่”

เป็นพี่ใหญ่ในแบบของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ทำเพื่อ “น้อง” ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

คำถามอยู่ที่ว่า “น้องๆ” เชื่อ และเห็นด้วยหรือไม่ 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image