สัญญาณ การเมือง โหวต เสียง‘ประชาชน’ สัญญาณ นวัตกรรม

คอลัมน์หน้า 3 : สัญญาณ การเมือง โหวต เสียง‘ประชาชน’ สัญญาณ นวัตกรรม

ไม่ว่าปฏิบัติการ “เสียงประชาชน” ในหัวข้อ “นายกรัฐมนตรีควรดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีหรือไม่” จะมาจากความริเริ่มของใคร

จาก “มหาวิทยาลัย” หรือจาก “สื่อ”

กระนั้น อุบัติแห่งปฏิบัติการ “เสียงประชาชน” ก็สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ 2 ส่วนที่ประสานเข้าด้วยกัน

1 เทคโนโลยี 1 ประชาธิปไตย

Advertisement

แม้จะผ่านการทดสอบเพียง 2 ครั้งจากการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ และในวาระ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่ก็สัมผัสได้ถึง “แนวโน้ม” แห่ง “อนาคต”

เป็นพัฒนาการที่ดำเนินไปอย่างมีลักษณะ “ก้าวกระโดด” และสอดรับกับวิถีแห่ง “ประชาธิปไตย” ที่อารยะ

Advertisement

สักวันหนึ่งจะกลายเป็น “อาวุธ” อันมากด้วย “กัมมันตะ”

ต่อประเด็นว่าด้วย “นายกรัฐมนตรีควรดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีหรือไม่” สังคมรับรู้ถึงความร่วมแรงอย่างแข็งขัน

จาก “นักวิชาการ” จาก 8 “สถาบัน”

เมื่อประสานเข้ากับการเคลื่อนไหวของปัญญาชน พลเมือง 99 คนที่ร่วมลงชื่อ เมื่อผนึกเข้ากับ 51 อาจารย์สอนกฎหมาย 15 สถาบัน

ก็มองเห็นความคึกคัก สัมผัสได้ในการมีส่วนร่วม

ขณะเดียวกัน เมื่อนักวิชาการจาก 8 สถาบันการศึกษาทำงานร่วมกันกับ 8 สำนักข่าว ยิ่งสมควรให้ความสนใจ

ไม่ว่าจะเป็น ไทยรัฐทีวี 32 ไม่ว่าจะเป็นพีพีทีวี 36

ไม่ว่าจะเป็น เดอะ เนชั่น ไม่ว่าจะเป็น ข่าวเวิร์คพอยท์ ไม่ว่าจะเป็น เดอะ โมเมนตัม ไม่ว่าจะเป็น เดอะ แมทเทอร์

ไม่ว่าจะเป็น เดอะ รีพอร์ตเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น เดอะ สแตนดาร์ด

โดยความเป็น “นักวิชาการ” โดยความที่ดำรงอยู่ใน “สถาบัน” การศึกษา เมื่อทำงานร่วมกับ “สื่อ” อันเป็นเงาสะท้อนแห่งยุคสมัย

เครื่องมือในการทำงานย่อมเป็น “สมาร์ทโฟน”

การที่เริ่มเปิดลงความเห็นในวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม และปิดการโหวตในวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม แล้วประกาศผลในวันที่ 22 สิงหาคม

ปรากฏมีประชาชนร่วมโหวร่วม 4 แสน

มองในเชิง “พื้นที่” อ่านผ่าน “ปริมาณ” ผ่านกระบวนการของ “เทศะ” ประสานเข้ากับ “กาละ” ย่อมตระหนักในความฉับไว

เป็นความฉับไวในการเข้าร่วม

ต้องยอมรับว่ารากฐานสำคัญแห่งระบอบประชาธิปไตยคือ การมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อดำรงอยู่บนรากฐานนี้ย่อมชี้ถึงอนาคต

อนาคตบน “เทคโนโลยี” อัน “ทันสมัย”

ประเมินได้เลยว่า พลันที่ “โหมด” แห่ง “การเลือกตั้ง” ที่จะเกิดขึ้นเมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรครบวาระในเดือนมีนาคม 2566

บรรยากาศแห่ง “การเลือกตั้ง” ย่อมคึกคัก

เป็นความคึกคักบนความร่วมมือระหว่าง “นักวิชาการ” กับสำนักข่าวซึ่งเป็นตัวแทนและเงาสะท้อนแห่งสื่อ “ใหม่”

นี่ย่อมเป็นโอกาสแห่งนวัตกรรมในยุค “ประชาธิปไตย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image