‘รบ.เศรษฐา’ ฝ่าแรงต้าน เดินหน้าเงินดิจิทัล 1 หมื่น เดิมพันสูงอนาคต ‘พท.’

‘รบ.เศรษฐา’ฝ่าแรงต้านเดินหน้าเงินดิจิทัล1หมื่นเดิมพันสูงอนาคต‘พท.’

รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มีพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแกนนำ เดินหน้าขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่วันแรกนับจากได้เข้ามาทำหน้าที่นายกฯ ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร ผ่านแนวทางการทำงานแบบ “ควิกวิน” คือ ทำเร็ว เห็นผลเร็ว สร้างผลลัพธ์ที่รวดเร็ว เห็นผลทันตา

โดยนโยบายผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ให้กับคนอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรัศมีการใช้จ่าย 4 กิโลเมตร ตามทะเบียนบ้านของผู้ที่ได้รับเงิน ซึ่งต้องใช้จ่ายให้หมดภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้รับเงิน ถือเป็นนโยบายสำคัญของพรรค พท. ในการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา

เมื่อพรรค พท.มาเป็นแกนนำรัฐบาลแบบข้ามขั้วทางการเมือง ซึ่งต้องแลกมาด้วยต้นทุนการเมืองแบบหมดหน้าตัก ผลงานผ่านการขับเคลื่อนนโยบายเติมเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ให้จับต้องได้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะฟื้นศรัทธาทางการเมืองให้กับพรรค พท.

ADVERTISMENT

การเดินหน้านโยบายเติมเงินดิจิทัล 1 หมื่น นำโดย “เศรษฐา” นายกฯ ที่นั่งควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงต้องเดินหน้าทำตามที่ได้หาเสียงไว้ โดยมีฝ่ายสนับสนุน อย่างพรรค พท.และประชาชนในพื้นที่หลายจังหวัดที่เรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการดังกล่าวในทันทีเป็นกำแพงให้พิง

ขณะเดียวกันคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตที่มี
“จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะอนุกรรมการ เดินหน้าประชุมหาข้อสรุปถึงที่มาของงบประมาณที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการ หลักเกณฑ์การใช้จ่ายให้ได้ข้อสรุป ก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายกฯเป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 24 ตุลาคมนี้

ADVERTISMENT

ท่ามกลางความเป็นจริงทางการเมือง ที่ต้องเผชิญกับเสียงคัดค้านของนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ และอดีตผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ร่วมกันเข้าชื่อออกแถลงการณ์คัดค้านและเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยการยกเหตุผลว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและงบประมาณของประเทศครั้งใหญ่ และไม่เชื่อมั่นว่า
นโยบายดังกล่าวจะช่วยกระชากเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตได้เต็มศักยภาพของประเทศไทย และกระจายเม็ดเงินไปทั่วประเทศ สู่ฐานราก ช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยปีละ 5% ได้จริง ตามคำกล่าวอ้างของฝ่ายรัฐบาล

ประสานกับการตรวจสอบขององค์กรอิสระอย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีมติตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยเชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย มาร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าวว่ามีข้อน่าห่วงใย หรือความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาการทุจริต หรือผลกระทบด้านเศรษฐกิจในระยะยาว ตามที่มีนักวิชาการและอดีตผู้ว่าการ ธปท.ท้วงติงมาหรือไม่ ซึ่งผลการศึกษาของคณะกรรมการของ ป.ป.ช.จะสรุปความเห็นนโยบายเติมเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท และส่งข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล เพื่อให้วางมาตรการป้องกันการทุจริตหรือข้อน่าห่วงใยที่อาจเกิดขึ้นกับการดำเนินโครงการต่างๆ ที่มีความสุ่มเสี่ยงได้

ซึ่งจะเหมือนกับโครงการจำนำข้าวที่ ป.ป.ช.เคยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาก่อนหน้านี้ ที่ ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะหรือข้อท้วงติงแจ้งไปยัง ครม.แล้ว หาก ครม.ไม่ปฏิบัติตาม แล้วเกิดความเสียหายขึ้นมาก็ต้องรับผิดชอบ เพราะถือว่าเตือนแล้วแต่ไม่ฟัง เมื่อเกิดปัญหาต้องรับผิดชอบ จนนำมาซึ่งการลงโทษจำคุกฝ่ายบริหารอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี “บุญทรง เตริยาภิรมย์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ “ภูมิ สาระผล” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตลอดจนข้าราชการระดับสูง และภาคเอกชน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว เป็นบทเรียนและข้อเตือนใจฝ่ายบริหารระมัดระวังในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจให้รัดกุม มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นด้วย

การเดินหน้านโยบายเติมเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของรัฐบาล จึงต้องฝ่าด่านการตรวจสอบ การคัดค้าน และแรงเสียดทานทางการเมืองอย่างเข้มข้น เป็นไปตามคำเตือนของ “วิษณุ เครืองาม” อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ที่ระบุไว้ว่า วันนี้รัฐบาลก็พยายามขับเคลื่อนนโยบายที่ได้เคยสัญญาเอาไว้ เพียงแต่ต้องอาศัยเวลา โดยการหาเสียงจะไม่ได้มีการพูดเงื่อนเวลา แต่เมื่อเข้ามาทำจริงก็รู้ว่าติดขัด และรัฐบาลก็ต้องรู้ว่ามีการติดขัดตัว P4 โดย P1 Power อยากทำ แต่ทำไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจ เหตุที่ไม่มีอำนาจเพราะติดข้อกฎหมาย ส่วน P2 Public budget อยากทำ มีอำนาจแต่ติดที่งบประมาณ ส่วน P3 Personnel ติดที่บุคลากร อยากทำแต่ไม่มีคนที่มีความรู้เรื่องนั้นๆ เช่น เรื่องดิจิทัลทั้งหลาย และP4 Public opinion ติดที่ความเห็นประชาชน มีเงิน มีงบประมาณและมีอำนาจตามกฎหมาย รวมถึงมีบุคลากรที่จะทำ แต่ประชาชนยังไม่ยอมรับจึงยังทำไม่ได้ ฉะนั้น จะต้องเห็นใจรัฐบาลในทุกรัฐบาลที่จะเจอสภาพ 4P นี้

เป็นคำเตือนที่รัฐบาลเศรษฐาจะต้องใช้ทั้งกลยุทธ์และสรรพกำลัง ในการเดินหน้านโยบายเติมเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ฝ่าด่านการตรวจสอบอย่างเข้ม ไม่ให้ซ้ำรอยและมีบทสรุปเช่นเดียวกับโครงการรับจำนำข้าวในอดีต ด้วยการทำให้นโยบายเติมเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เกิดขึ้นได้ตามที่ประกาศไว้

โดยมีเดิมพันสูงผ่านผลการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะชี้ชะตาอนาคตของ “พรรค พท.”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image