การปกครองราชอาณาจักรไทย สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ยุคกลาง : ในรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2411-2453) : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มปรับปรุงแผนการปกครองตามแบบอย่างคตินิยมตะวันตกไปบ้างแล้ว ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2411-2453) ได้ทรงปฏิรูปการปกครองให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

สาเหตุสำคัญในการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5

การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 มีสาเหตุสำคัญ ดังนี้ 1) เกิดจากภยันตรายที่มาจากการคุกคามของประเทศมหาอำนาจตะวันตก ถ้าคนไทยไม่มีการปรับปรุงตนเองให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศ อาจเป็นข้ออ้างที่ทำให้ชาติตะวันตกเข้ามาปกครองประเทศไทยได้ 2) การปกครองในระบบเก่า อำนาจการปกครองบ้านเมืองตกอยู่กับขุนนาง ถ้ามีการปฏิรูปแผ่นดินให้ทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปทางการปกครองแล้ว จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงดำเนินการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยตามแบบตะวันตกในทุกๆ ด้าน และทางด้านการเมืองการปกครองก็เป็นการปฏิรูปที่สำคัญประการหนึ่ง

พัฒนาการเมือง

Advertisement

รัชกาลที่ 5 ทรงจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเพื่อช่วยในการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนี้ คือ 1) การจัดตั้งสภาที่ปรึกษาบริหารราชการแผ่นดิน (Council of State) ซึ่งประกอบด้วยขุนนางข้าราชการทั้งหมดเป็นสมาชิก จำนวน 12 คน มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาราชการแผ่นดินแด่พระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ทางด้านตุลาการอีกด้วย งานสำคัญของสภานี้ คือการออก พ.ร.บ.เลิกทาสและปฏิรูปภาษีอากรแผ่นดิน 2) การจัดตั้งสภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ (Privy Council) ประกอบด้วย สมาชิก 49 คน มีทั้งพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการ มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในพระองค์ทั้งสองสภา เริ่มได้ตั้งใน พ.ศ.2417

3) คำถวายบังคมทูลของเจ้านายและข้าราชการให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ร.ศ.103 (พ.ศ.2427) ต่อมาใน พ.ศ.2427 (ร.ศ.103) ได้มีเจ้านายและขุนนางและข้าราชการกลุ่มหนึ่งจำนวนทั้งสิ้น 11 คน ซึ่งล้วนแต่ได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตก มองเห็นว่าตราบใดที่ยังไม่ปฏิรูปการปกครองให้ทันสมัยตามแบบตะวันตกอย่างแท้จริงแล้ว ประเทศไทยไม่สามารถรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกได้ จึงได้เสนอคำกราบบังคมทูลความเห็น การเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดิน แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยชี้ให้เห็นว่าการป้องกันรักษาเอกราชของชาติที่ได้ผลดีที่สุดในขณะนั้น คือ จะต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นแบบพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับอันตราย และทรงเห็นด้วยกับการดำเนินการใดๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชาติบ้านเมืองแต่ต้องกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเห็นว่าจะต้องทำการปฏิรูปการปกครองก่อนสิ่งใดทั้งหมด ถ้าการปกครองยังมิได้รับการปรับปรุงเรื่องอื่นๆ ก็จะดำเนินต่อไปไม่ได้ตลอด ต่อมาในปี พ.ศ.2430 พระองค์ทรงโปรดฯให้สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการฯ เสด็จไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะเสนาบดีตามแบบยุโรปที่ประเทศอังกฤษ และหลังจากนั้นไม่นานก็มีการปฏิรูปการปกครองขึ้นในประเทศไทย

Advertisement

การปรับปรุงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5

1) การปรับปรุงการปกครองส่วนกลาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศจัดตั้ง “เสนาบดีสภา” ขึ้นใน พ.ศ.2431 พระองค์ทรงเลือกคนที่มาดำรงตำแหน่งเสนาบดี มีการอบรมประชุมโดยพระองค์ทรงเป็นประธานในที่ประชุม ทรงให้คำปรึกษาเกี่ยวกับราชการและการบัญชางานแก่เสนาบดีแบบใหม่พอสมควรแล้ว จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศจัดตั้งกระทรวงแบบใหม่ขึ้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 โดยจัดสรรอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวงให้เป็นสัดส่วน มีด้วยกันทั้งหมด 12 กระทรวง ประกอบด้วย 1.กระทรวงกลาโหม 2.กระทรวงนครบาล 3.กระทรวงวัง 4.กระทรวงเกษตรพานิชการ 5.กระทรวงคลัง 6.กระทรวงต่างประเทศ 7.กระทรวงยุทธนาธิการ 8.กระทรวงโยธาธิการ 9.กระทรวงธรรมการ 10.กระทรวงยุติธรรม 11.กระทรวงมุรธาธิการ 12.กระทรวงมหาดไทย ภายหลังที่พระองค์ทรงประกาศจัดตั้งกระทรวงต่างๆ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 แล้ว ต่อมาทรงเห็นว่างานในกระทรวงต่างๆ ยังซ้ำซ้อนปะปนกันอยู่จึงทรงปรับปรุงใหม่แก้ไขเปลี่ยนแปลง ดังกล่าวนี้ พอสิ้นรัชกาลก็มีกระทรวงต่างๆ รวม 10 กระทรวง คือ 1.กระทรวงมหาดไทย 2.กระทรวงกลาโหม 3.กระทรวงนครบาล 4.กระทรวงวัง 5.กระทรวงต่างประเทศ 6.กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ 7.กระทรวงโยธาธิการ 8.กระทรวงยุติธรรม 9.กระทรวงธรรมการ 10.กระทรวงเกษตราธิการ

2) การปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาค ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงเปลี่ยนแปลงจัดระเบียบการปกครองครั้งใหญ่ใน พ.ศ.2435 เหตุการณ์ระหว่างประเทศตามชายแดนมีทีท่าว่าจะทำความรุนแรงมากขึ้น จำเป็นจะต้องจัดการรักษาพระราชอาณาจักรให้ทันท่วงที ดังนั้นพระองค์จึงได้ทรงจัดรวบรวมหัวเมืองตามชายแดนที่สำคัญๆ ขึ้นเป็นเขตการปกครองเรียกว่า “มณฑล” โดยมุ่งที่จะป้องกันราชอาณาจักรให้พ้นจากการคุกคามจากภายนอกเป็นหลัก และในขณะเดียวกันก็เป็นการทดลองจัดระเบียบการปกครองอย่างใหม่ ซึ่งพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยที่จะจัดให้มีขึ้นในประเทศต่อไป พระองค์ได้ทรงเลือกบุคคลที่ทรงคุณวุฒิมีความสามารถสูง และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยออกไปดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ประจำมณฑล บัญชาการต่างพระเนตรพระกรรณ กำกับว่าราชการซึ่งผู้ว่าราชการและกรรมการเมืองปฏิบัติอยู่ให้ดำเนินไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ด้วยความยุติธรรมและรวดเร็ว ดูแลทุกข์สุขของราษฎรโดยทั่วถึงซึ่งเรียกว่า “เทศาภิบาล”

(1) การปกครองแบบเทศาภิบาล : มีหลักการและสาระสำคัญ คือ รัฐบาลทำการปกครองหัวเมืองตั้งแต่ชั้นต่ำสุดถึงชั้นสูงสุด เริ่มต้นด้วยพลเมืองมีสิทธิที่จะเลือก “ผู้ใหญ่บ้าน” ผู้ใหญ่บ้านประมาณ 10 หมู่มีสิทธิเลือกตั้ง “กำนันของตำบล” ตำบลหลายๆ ตำบลมีพลเมืองประมาณ 10,000 คน รวมกันเป็น “อำเภอ” มีนายอำเภอเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด หลายอำเภอรวมกันเป็น “เมือง” มี “ผู้ว่าราชการเมือง” เป็นผู้ดูแล หลายเมืองรวมกันเป็น “มณฑล”

การที่ตัวเสนาบดีจะดูแลบังคับบัญชาโดยตรงถึงหัวเมืองทั้งปวง ก็เป็นอันสุดวิสัยที่จะทำได้ตลอด จึงต้องติดหัวเมืองที่ใกล้ชิดติดต่อไปมาถึงกันได้ง่ายๆ หลายๆ เมืองรวมกันเป็น “มณฑล” หนึ่ง มีตำแหน่ง “ข้าหลวงเทศาภิบาล” บังคับบัญชามณฑลละ 1 คน แบ่งอำนาจและหน้าที่ของเสนาบดีเจ้ากระทรวงไปไว้ในตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลประจำมณฑลเป็นผู้ตรวจตราบังคับบัญชาในท้องที่ “เสนาบดี” เป็นผู้รับกระแสพระราชดำริคิดอ่านกับข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลทั้งปวง จัดวางแบบแผนการปกครองให้สำเร็จตลอดทั่วพระราชอาณาจักร

(2) การปกครองท้องที่ นอกจากปกครองแบบเทศาภิบาลแล้ว ใน พ.ศ.2440 รัชกาลที่ 5 ยังได้ทรงตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องถิ่นสำหรับการจัดการปกครองระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เพิ่มขึ้นด้วย

3) การปรับปรุงการปกครองส่วนท้องถิ่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้ริเริ่มจัดการ “สุขภิบาล” ในเขตกรุงเทพฯ และตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อทดลองให้ประชาชนรู้จักการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นอีกด้วย

นอกจากการปรับปรุงการปกครองทั้งส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นแล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังเห็นความสำคัญของระบบสภาที่ปรึกษาซึ่งกำลังหมดบทบาทในภายหลังจากที่เคยมีมาแล้ว ดังนั้นใน พ.ศ.2435 พระองค์จึงได้ทรงจัดตั้ง “องคมนตรีสภา” (Privy Council) ทำหน้าที่คล้ายๆ สภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์แต่เดิมอีกด้วย ครั้นต่อมาใน พ.ศ.2437 โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งรัฐมนตรีสภา (Legislation council) โดยมีจุดมุ่งหมายให้ทำหน้าที่ตรากฎหมายโดยเฉพาะ ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นเสนาบดีหรือผู้แทนเสนาบดี เป็นผู้ที่ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอีกจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้นพระองค์จึงโปรดฯให้โอนงานกฎหมายไปขึ้นอยู่กับเสนาบดีสภา เมื่อ พ.ศ.2443 ของรัฐมนตรีสภาเป็นอันหยุดชะงักลง

4) ผลของการปฏิรูปการเมืองการปกครอง การปฏิรูปการเมืองการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้เกิดผลดังนี้ 1) ก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในราชอาณาจักร ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐเดียว ทั้งนี้ เป็นผลคือจากการปกครองส่วนภูมิภาคในรูปมณฑลเทศาภิบาล โดยมีศูนย์ราชการอยู่ที่กรุงเทพฯ 2) รัฐบาลไทยมีกรุงเทพฯ สามารถขยายอำนาจเข้าควบคุมพื้นที่ภายในพระราชอาณาจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการหยุดยั้งการถูกถามต่อบูรณภาพเขตแดนไทย ซึ่งเกิดจากมหาอำนาจตะวันตกในขณะนั้น 3) ทำให้กลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์จากการปฏิรูปการเมืองการปกครองปฏิกิริยาต่อรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ดังจะเห็นได้จากกรณีขบถผู้มีบุญภาคอีสาน ร.121 กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ รพ.121 และขบถเขตเจ็ดหัวเมือง ร.ศ.121 แต่รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้

5) การปฏิรูปยุติธรรมและการศาล การปฏิรูปยุติธรรมและการศาลขึ้นใน พ.ศ.2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพยายามริ่เริ่มปฏิรูปการศาลให้ดีขึ้น โดยการจัดตั้งศาลรับสั่งซึ่งขึ้นตรงต่อพระองค์ เพื่อพิจารณาคดีความที่อยู่ในกรมพระนครบาล มหาดไทย กลาโหม และกรมท่า เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงรวมอำนาจไปขึ้นส่วนกลาง ทำให้ค่าธรรมเนียมและรายได้ที่พวกขุนนางเคยได้จากศาลลดลง และไม่เปิดโอกาสให้ใช้จ่ายทางการศาลในทางที่ผิดได้อย่างสะดวกสบายอีกตลอดไป นอกจากนี้ยังโปรดฯให้จัดตั้ง… “กระทรวงยุติธรรม” ขึ้นใน พ.ศ.2435

ภายหลังจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมใน พ.ศ.2435 แล้ว ก็โปรดฯให้จัดตั้ง “ศาลยุติธรรม” สำหรับพิจารณาคดีอาญาและคดีแพ่งตามแบบใหม่ให้เรียบร้อยในกรุงเทพฯใน พ.ศ. 2437 และในหัวเมืองใน พ.ศ.2439-2440 โดยมอบให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งทรงสำเร็จกฎหมายจากประเทศอังกฤษดำเนินการ ต่อมาใน พ.ศ.2440 กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้ทรงคิดตั้งโรงเรียนกฎหมายเนติบัณฑิตสภา และวางระเบียบการสอบไล่เนติบัณฑิตไทยให้เป็นระบบระเบียบยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังทรงได้ระบบก่อการกระทรวงยุติธรรม การศาล และการศึกษากฎหมายให้สมัยตามแบบตะวันตกจนสืบเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้

การปรับปรุงการเมืองการปกครองในรัชกาลที่ 6

1) การเกิด “คณะพรรค ร.ศ.130” ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ.2453 แล้วต่อมาใน พ.ศ.2454 รัฐบาลได้ดำเนินการกวาดล้างจับกุมคณะนายทหารและพลเมืองกลุ่มหนึ่งที่วางแผนจะใช้กำลังยึดอำนาจการปกครอง เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เป็นการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2454 (ร.ศ.130) คณะนายทหารและพลเมืองกลุ่มนั้นเรียกตัวเองว่า “คณะพรรค ร.ศ.130” โดยมี ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์ (ขุนทวยหาญพิทักษ์) เป็นหัวหน้า

สาเหตุที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศของ “พรรค ร.ศ.130” คือความปรารถนาอย่างแรงกล้าของคณะนายทหารที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศในทุกๆ ด้าน ด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น “ระบอบประชาธิปไตย” ใช้ “กฎหมาย รัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองประเทศ” แต่ต้องประสบความล้มเหลวในที่สุด

2) การจัดตั้ง “ดุสิตธานี” เมืองทดลองประชาธิปไตย ภายหลังเกิดกบฏ ร.ศ.130 ในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงริเริ่มทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วยการจัดตั้ง “ดุสิตธานี” เมืองประชาธิปไตยขึ้นในบริเวณพระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ศ.2461 ในการสร้างเมือง “ดุสิตธานี” นั้น พระองค์ทรงกำหนดแผนผังที่จะจัดขึ้นเป็นเมืองดุสิตธานีข้างหน้าพระที่นั่งอุดรด้านตะวันออก เป็นสถานที่สร้างเมือง มีการแบ่งเขตเป็นอำเภอ ตำบล แบ่งพื้นที่สร้างเป็นสถานที่ทำการรัฐบาล วัดวาอารามและบ้านเรือนราษฎร พร้อมทั้งตัวถนนหนทางและแม่น้ำ ลำคลอง ตลอดทั้งไฟฟ้า ประปาให้สมกับบ้านเรือนที่สร้างขึ้นตามผังที่ถูกต้องจริงๆ แล้วให้ประชาชนเข้าไปอยู่ในเขตเมืองดุสิตธานี โดยได้มีการใช้รัฐธรรมนูญรักษาการปกครอง ออกมาใช้ในเขตดุสิตธานี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน
พ.ศ.2461

การปกครองดุสิตธานีก็ดำเนินตามแบบอย่างประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง “นครภิบาล” จึงเปรียบได้กับนายกเทศมนตรี นครภิบาลจะต้องได้รับเลือกเป็นเชษฐบุรุษมาก่อน “เชษฐบุรุษ” ซึ่งอาจเปรียบได้กับ “สมาชิกเทศบาล” ซึ่งต้องได้รับเลือกจาก “ทวยนาคร” หรือประชาราษฎรนั่นเอง จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเตรียมแผนพัฒนาประชาธิปไตยเบื้องต้นให้กับข้าราชบริพารของพระองค์เพื่อเป็นการทดลองก่อนที่เป็นประชาธิปไตยจริงในโอกาสต่อไป

3) การปรับปรุงการปกครองในส่วนกลาง รัชกาลที่ 6 ได้ทรงจัดตั้งกระทรวงใหม่ คือกระทรวงมุรธาธร กระทรวงทหารเรือ กระทรวงพาณิชย์ ส่วนกระทรวงนครบาลได้ทรงยุบเลิก และเปลี่ยนชื่อกระทรวงโยธาธิการเป็นกระทรวงคมนาคม ด้านอำนาจหน้าที่ของกระทรวงเหมือนรัชกาลที่ 5 กระทรวงต่างๆ ประกอบด้วย 1.กระทรวงมหาดไทย 2.กระทรวงกลาโหม 3.กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ 4.กระทรวงต่างประเทศ 5.กระทรวงยุติธรรม 6.กระทรวงวัง 7.กระทรวงทหารเรือ 8.กระทรวงเกษตราธิการ 9.กระทรวงพาณิชย์ 10.กระทรวงคมนาคม 11.กระทรวงศึกษาธิการ 12.กระทรวงมุรธาธร

4) การปรับปรุงการปกครองในส่วนภูมิภาค  ในส่วนภูมิภาค รัชกาลที่ 6 ท่านทรงจัดตั้งมณฑลเพิ่มขึ้นดังนี้ คือ มณฑลร้อยเอ็ด ทรงได้ตั้งขึ้นใน พ.ศ.2455 โดยแยกมณฑลอีสานออกเป็น 2 มณฑล คือมณฑลร้อยเอ็ดกับมณฑลอุบลราชธานี มณฑลร้อยเอ็ดมี 3 หัวเมือง คือ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ โดยมีผู้ปกครองที่ร้อยเอ็ดอีกมณฑลหนึ่งคือ มณฑลมหาราษฎร์ เป็นมณฑลที่แยกออกจากมณฑลพายัพ มี 3 หัวเมือง คือ ลำปาง น่าน และแพร่

นอกจากนี้เพื่อเป็นการประหยัด รัชกาลที่ 6 โปรดให้รวบรวมสองมณฑลหรือสามมณฑลเข้าเป็นภาคเรียกว่า “มณฑลภาค” สำหรับดำเนินการระหว่าง “มณฑล” กับ “กระทรวง” เป็นการแบ่งเบาภาระของกระทรวง งานสิ่งใดที่มณฑลจัดการได้ดีก็ไม่ต้องส่งถึงกระทรวง ให้มีข้าราชการชั้นสูงเป็นอุปราชประจำอยู่มณฑลภาค ดังบุคคลที่เป็นอุปราชไม่ตั้งคนใหม่คงเลือกจากข้าหลวงเทศาภิบาลที่เด่นกว่าโดยเกียรติคุณให้ดำรงตำแหน่งอุปราช

โปรดอ่านต่อฉบับหน้าเป็นยุครัชกาลที่ 7 ที่มีการปรับปรุงการเมืองการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยตามแบบอย่างประเทศตะวันตกอย่างแท้จริง ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image