ครูผู้สร้างชาติ นักศึกษาผู้สร้างแผ่นดิน ปริบทสังคมไทยในปัจจุบัน

ครูกับนักเรียนหรือนักศึกษาถือว่าเป็นองค์ประกอบที่แยกออกจากกันไม่ได้ ครูคือ ผู้ที่บอกกล่าวข้อความรู้ให้แก่ผู้ฟังซึ่งหมายถึง ผู้เรียนนั่นเอง ทุกเรื่องราวจะดีหรือไม่ดี เหมาะสมหรือไม่ก็ตาม บุคคลเหล่านี้ต่างถือว่าเป็นครูทั้งสิ้น แต่คนที่เป็นครูจริงๆ นั้น ต้องกอปรด้วยจิตวิญญาณที่งดงามและพร้อมที่จะเป็นบุคคลที่ชี้ทางบรรเทาทุกข์ชี้สุขเกษมศานต์ให้กับผู้เรียนในทุกๆ เรื่อง วาทกรรมหรือคำจำกัดความเกี่ยวกับครูมีมากมาย แต่ทั้งนี้ ล้วนเป็นความหมายที่แสดงถึงสมรรถนะที่พึงประสงค์และมีคุณค่ายิ่งในการนำวิถีหรือคุณลักษณะของครูไปเป็นสะพานในการสร้างความเข้มแข็งของรัฐชาติต่อไปในทุกๆ ด้าน

ภาพฉายของการสร้างชาติหรือการดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชาตินั้นจะถูกส่งผ่านโดยกระบวนการการจัดการศึกษาทั้งสิ้นไม่ว่าจะในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน หรือแม้แต่ “ระบบตามยถากรรม” (ตามอัตวิสัย) นั้น การสร้างชาติสร้างแผ่นดินจึงถือว่าเป็นเรื่องที่จะต้องช่วยกันจัดแบบจริงจัง ต่อเนื่อง มั่นคง เพราะการจัดการศึกษาของรัฐชาติไม่ใช่เรื่องที่จะต้อง “เห่อ” หรือให้ความสำคัญแบบ “ชั่วคราว” ฉะนั้น การศึกษาต้องเปลี่ยนกรอบในการสร้าง “ผลิตภัณฑ์ทางการศึกษา” ซึ่งหมายถึงครูและผู้เรียน/นักศึกษาให้มีคุณภาพ เพื่ออนาคตของชาติที่ยั่งยืนต่อไป

วิกฤตทางการศึกษาของวิชาชีพครูในปัจจุบันมีลักษณะดังนี้

1.ความล้าหลังของหลักสูตรครูที่ถูกบรรจุไว้ให้ผู้เรียนไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง

Advertisement

2.นโยบายการผลิตครูของประเทศไม่สอดรับปริบทของประเทศ กล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเรื่องการฝึกประสบการณ์ชีพ ระยะเวลาที่เรียน ตลอดจนเงื่อนไขที่รับนักศึกษาที่เข้าศึกษาในคณะศึกษาศาสตร์/คณะครุศาสตร์

3.การสร้างปริมณฑลข้อความรู้เชิงวิทยาการชั้นสูงของครู (Professional) ยังขาดความต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัฐชาติหรือกระทรวงศึกษาธิการต้องมีการจัดตั้ง “สถาบันวิชาชีพครูแห่งชาติ” (National Teacher Professional Institution) เพื่อให้มีอำนาจในการส่งเสริม ช่วยเหลือ และพัฒนาศาสตร์ทางด้านครูอย่างจริงจัง

4.พลังแรงงานของชาติที่อยู่ใน “คราบของครู” มีบางส่วนที่ไม่มีประสิทธิภาพและยังไม่มีคุณภาพ โดยเฉพาะความรับผิดชอบในการสอนแต่ละชั่วโมง การเอาใจใส่ต่อผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ

5.การศึกษาทางด้านครูไม่สร้างองค์ความรู้ใหม่ ตลอดองค์ความรู้ที่ใช้ในชีวิตประจำวันถูกเพิกเฉยขาดการประยุกต์ใช้

6.หน่วยงานทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับครูไม่มีลักษณะ Institutionalization บางยุคบางสมัยขาดความชัดเจนในการบริหารจัดการ หรือบางครั้งการดำเนินงานทางด้านบริหารจัดการมีความล่าช้าไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่

7.ผู้มีอำนาจทางการด้านศาสตร์ของครูหรือศาสตร์เกี่ยวกับวิชาการครู (Teacher Pedagogy) ไม่มีความกระจ่างและเชี่ยวชาญในการ “นำพา” หรือขับเคลื่อน

8.ยึดเอาการศึกษาทางด้านวิชาชีพครูของประเทศอื่นเป็นต้นแบบมากเกินไป

9.การผลิตครู ตลอดจนหน่วยงานหรือสถานที่ผลิตครูไม่มีลักษณะเป็นเทวาลัยเเห่ง การเรียนรู้ (Temple of Learning) ที่จะทำให้ผู้เรียนออกไปประกอบอาชีพครูด้วยจิตวิญญาณอย่างแท้จริง (Teacher at Heart)

TEACHER ความหมายและความลึกซึ้ง

ผู้เขียนขอเสนอฐานคติกับความหมายของครูในปริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน และปริมณฑลของความเป็นครูดังนี้

T = Technology ครูต้องทันต่อเทคโนโลยี ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ครูต้องแสดงถึงศักยภาพของตนเองในการใช้เทคโนโลยีมาเป็นสื่อในห้องเรียน ตลอดจนนำเทคโนโลยีที่หลายหลากมาใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอนของตนเองตลอดเวลา

E = Environment ครูต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่พึงประสงค์เพื่อการเรียนรู้สู่ผู้เรียน สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของการเรียนรู้ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเกื้อหนุนให้ผู้เรียน/นักศึกษาเกิดการใฝ่รู้ใฝ่เรียนยิ่งๆ ขึ้น สุดท้ายคือ ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้นั่นเอง

A = Academic Pursuit ครูต้องเชี่ยวชาญในศาสตร์ ถ่องแท้ ลุ่มลึก ครูผู้สอนต้องไม่แสดง “ความลุ่มๆ ดอนๆ” ในศาสตร์ของตน ถึงเวลาถ่ายทอดส่งผ่านข้อความรู้จะต้องสร้างพลังที่เด็ดเดี่ยว กล้าหาญและเข้มแข็งทางด้านวิชาการ (Academic strength / Academic Courage) ทั้งในที่ประชุมชนหรือในห้องเรียน รวมทั้งในที่ที่เป็นสาธารณวิทยา

C = Contemporary ครูต้องร่วมสมัย ทันสมัย หมายถึง ครูผู้สอนต้องเป็นที่ทันสมัยในวิธีคิด นำความร่วมสมัยต่างๆ มาเสริมสร้างคุณลักษณะของผู้เรียน หยิบยกประเด็นเหตุการณ์ในปัจจุบันมาสร้าง “รอยต่อ” ทางวิชาการให้กับผู้เรียน/นักศึกษาได้

H = High Standardization ครูต้องมีมาตรฐานในวิชาชีพที่สูง เป็น Profession ห้ามลดมาตรฐานทางวิชาชีพของตนเองลงเด็ดขาด แต่ทั้งนี้ มาตรฐานทางวิชาการต้องหมั่นเพิ่มพูนความรู้ ทักษะวิชาชีพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

E = Ethics ครูต้องมีจริยธรรมที่งดงาม จริยธรรมและคุณธรรมเบื้องต้นสำหรับครูคือ ผู้ที่ชี้ทางบรรเทาทุกข์ชี้สุขเกษมศานต์ ในปริบทของสังคมที่มีความถดถอยของจริยธรรมและคุณธรรมลงไปทุกที ครูจะต้องเป็นผู้สร้างและปลุกกระแสทางจริยธรรมและคุณธรรมให้มีความคงทนกับสังคมต่อไป และสิ่งหนึ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด คือ ครูต้องเปี่ยมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมก่อน

R = Research ครูต้องดำรงตนในการใฝ่รู้ใฝ่เรียน และรักการค้นคว้าอยู่เสมอ ครูห้ามละทิ้งหรือเพิกเฉยต่อการรับข้อความรู้ใหม่ๆ อนึ่ง ครูต้องจริตในการศัลยกรรมความรู้ สร้างมูลค่าเพิ่มในศาสตร์ของตนเองเสมอ

ฉะนั้น ด้วยอุดมคติของครูผู้สร้างพลังอำนาจของการพัฒนาประเทศในองค์รวม และ ท่ามกลางความพร่าเลือนของยุคสมัยใหม่ การจัดการศึกษาทางด้านศาสตร์ของครูคงไม่ถูกจัดวางเพียงเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง การบริหารจัดการบางครั้งเหมือนชายแปลกหน้าที่เข้ามาแล้วหายไป ความเปล่าเปลือยของชีวิตของผู้คนที่ได้รับการศึกษาทางด้านนี้ ดูเหมือนขาดความต่อเนื่อง ขาดภราดรภาพที่จะเดินบนทางสายนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่า ครู คือ แสงอำไพที่จะทำให้ทุกย่างก้าวของผู้เรียนมีการเคลื่อนที่ที่ถูกต้อง เหมาะสม และนำพาสังคมมิให้เสื่อมถอยไป

วิถีความเป็นครูของชาติจะเบ่งบานและเป็นบุพนิมิตใหม่ หากแต่ครูเข้าใจคำว่า “ครู” ได้อย่างถ่องแท้และลึกซึ้ง บนเส้นทางการพัฒนาสายนี้ ไม่มีความลับแต่อย่างไร เพียงแต่ใจเราเปิด “ในความเป็นครู” เท่านั้นเอง

STUDENT ยุค Thailand 4.0

ผู้เรียนกับผู้สอนหรือครูนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ บทบาทของครู คือ ผู้ให้ (Active) ส่วนบทบาทของผู้เรียน คือ ผู้รับ (Passive) ด้วยเหตุของการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการเรียนการสอนนั้น จำเป็นที่ผู้เรียนจะต้องดำรงตนและคงไว้ซึ่งลักษณะของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ดีดังนี้

S = Search ค้นคว้าเป็นนิตย์ คุณลักษณะที่โดดเด่นของนักเรียน/นักศึกษานั้นต้องมีการค้นคว้า หาข้อความรู้เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ สร้างนิสัยในการรักการอ่านเป็นเบื้องต้น ชอบถกแถลงประเด็นปัญหา และชอบเสนอวิธีแก้ไขหรือหาทางออก

T = Technology พิชิตเทคโนโลยี จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันในทุกๆ ด้าน ด้วยเหตุนี้ ผู้เรียน/นักศึกษาต้องเป็นคนที่รู้จักการเลือกและคัดสรรเทคโนโลยีต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตนเอง และใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางที่ดีต่อตนเอง และสังคมให้มากที่สุด

U = Unity สามัคคีกลมเกลียว ความสามัคคีของผู้เรียนจะเป็นพลังร่วมที่จะทำให้เกิดการพัฒนาต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้น ความปรองดอง การลดความรุนแรง ตลอดจนความเข้าใจในวัฒนธรรมต่างสี ของผู้เรียน/นักศึกษานั้นสามารถเข้าไปฝังลึกในจิตใจของตนเองให้ได้

D = Discipline แลเหลียววินัย วินัยจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกคนประสบผลสำเร็จ ผู้เรียน/นักศึกษาต้องรู้จักวินัยในตนเองก่อน และวินัยแรกที่ต้องเกิดขึ้นคือ วินัยความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองทั้งในส่วนที่ได้รับมอบหมาย หรือวินัยในหน้าที่ของตนเอง

E = Ethics มีใจศีลธรรม ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ผู้เรียน/นักศึกษาต้องเป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีศีลธรรม รู้ผิดชอบชั่วดี ตามครรลองของสังคม ตลอดจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านศีลธรรมให้ไม่ตกหลุมของสิ่งที่เป็นอัปมงคลทั้งปวง

N = New Paradigm น้อมนำพอเพียง (Sufficiency Economy) ผู้เรียนต้องมีความใส่ใจในฐานรากของการดำรงชีวิตภายใต้กรอบที่ยึดมั่นได้อย่างงดงามคือ เศรษฐกิจพอเพียง รู้จักปรับใช้ ประยุกต์เพื่อให้เกิดความปกติสุขของตนเอง

T = Thainess ชื่อเสียงคนไทย ผู้เรียน/นักศึกษา ต้องช่วยกันรักษาความเป็นอัตลักษณ์ไทย แสดงถึงความภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สั่งสมไว้ เมื่อมีโอกาสก็นำเสนอสิ่งที่ดีงามของไทยสู่สาธารณวิทยาให้ได้อย่างยอดเยี่ยม

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน การเรียนการสอนจะมีกลยุทธ์ มีวิธีวิทยาในการส่งผ่านข้อความรู้สู่ผู้เรียนมากมายขึ้น แต่ทั้งนี้ ผู้เรียน/นักศึกษา ต้องระลึกอยู่เสมอว่า ตน คือ พลังสติปัญญาของชาติในอนาคต และที่ขาดไม่ได้คือการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงด้วย เพราะความขลังทางการศึกษาที่จัดส่งมอบให้กับผู้เรียน/นักศึกษานั้น ไม่ได้หมายความว่า ผู้เรียนถึงพร้อมด้วยปัญญาทางด้านวิชาการ แต่หากสามารถเชื่อมโยงปัญญาที่ถูกบ่มเพาะมาปรับใช้ได้อย่างลุ่มลึก สอดคล้องกับตามจริตที่สังคมคาดหวัง

อนึ่ง ความขลังทางการศึกษาย่อมเกิดจากปัญญาที่ชาญฉลาดและปราดเปรื่อง แต่เมื่อไหร่ใช้ปัญญาที่ไม่ตระหนัก เกิดความตระหนก (Awaken) ความขลังก็จะกลายเป็น “ความขลาด” ในที่สุด

โดยภาพรวมแล้ว ครูและผู้เรียนคือ เนื้อเดียวกันที่แยกไม่ออก เมื่อใดที่มีการถ่ายทอด ส่งผ่าน เมื่อนั้นเกิดสภาพของความเป็นครูและผู้เรียน และที่สำคัญ ต้องตระหนักและทำความเข้าใจในจริตทางการศึกษาของผู้ที่ทำหน้าที่ในความเป็นครูว่า นอกจากจะรักการสอน ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว สิ่งที่ต้องสร้างให้เป็นจริตที่งดงามในสถานศึกษา คือ ความสามัคคี และการคัดสรรสิ่งที่ดีงามเพื่อที่จะมารักษาวัฒนวิถีและคุณค่าอัตลักษณ์ความงดงามของชาติไว้ ยิ่งไปกว่านั้น คือ การสั่งสอนให้ลูกศิษย์เข้าถึงสันติภาพที่แบ่งปัน และสันติภาพเพื่อการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน (Peace for Share and Peace for Care)

ท้ายสุด สิ่งที่จะก่อเกิดขึ้น คือ สังคมโลกร่มเย็นจาก….ความเป็นครูอย่างแน่นอน

ธงชัย สมบูรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image