Cloud Lovers : สีของเมฆ…บอกอะไรกับเรา? : บัญชา ธนบุญสมบัติ

นอกจากรูปร่างหลากหลายชวนให้จินตนาการแล้ว เมฆยังอาจมีสีสันต่างๆ ได้อีกด้วย ขึ้นอยู่กับว่าหยดน้ำ (หรือผลึกน้ำแข็ง) ในเมฆทำอะไรกับแสงที่มาตกกระทบ

ในภาพที่ 1 ส่วนต่างๆ ของเมฆสีขาวสว่างไม่เท่ากันขึ้นกับมุมที่แสงตกกระทบ ถ้าตรงไหนเมฆสะท้อนแสงมาหาเรามาก ตรงนั้นก็สว่าง แต่ถ้าตรงไหนไม่ค่อยมีแสงตกกระทบ ตรงนั้นก็ดูคล้ำ

Advertisement

ภาพที่ 1 : แสงเงาบนเมฆ
10 สิงหาคม 2560 16.55 น.
ภาพ : ทพญ.ลลิดา นิรชโรภาส

คราวนี้ดูภาพที่ 2 แม้มุมที่แสงตกกระทบเหมือนกัน แต่เมฆก้อนซ้ายดูขาวสว่าง ส่วนเมฆก้อนขวาดูคล้ำเป็นสีเทา ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าหยดน้ำในเมฆก้อนขวามีขนาดเฉลี่ยใหญ่กว่านั่นเอง (อาจจำง่ายๆ ว่าเมฆฝนมีสีเทา เพราะมีหยดน้ำขนาดใหญ่มากมายที่พร้อมตกลงมาเป็นหยดน้ำฝน)

ปรากฏการณ์ซึ่งขนาดหยดน้ำในเมฆมีผลต่อความสว่างของเมฆ เรียกว่า ปรากฏการณ์ทูมีย์ (Twomey effect) เป็นประเด็นในงานวิจัยด้านอุตุนิยมวิทยาเชียวนะครับ

Advertisement

ภาพที่ 2 : เมฆขาว vs เมฆเทา
8 สิงหาคม 2560 17.25 น.
บ้านส่างทิทย์ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น
ภาพ : อุทุมพร พรมสอน

พูดถึงเมฆฝน น่ารู้ด้วยว่าเราอาจเห็นบางส่วนของเมฆฝนมีสีเทาอมเขียว ดูภาพที่ 3 ครับ ถึงตรงนี้มีเกร็ดเล็กๆ ที่คนรักเมฆอาจนำไปสืบค้นต่อ 2 เรื่อง

ภาพที่ 3 : เมฆฝนซึ่งบางส่วนมีสีอมเขียว
22 กันยายน 2560 14.17 น.
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

เรื่องแรก เมฆสีเขียวๆ นี่ฝรั่งเรียกตรงๆ ว่า green cloud และบอกว่าเป็นเมฆฝนฟ้าคะนองที่รุนแรง เช่น อาจมีลูกเห็บ หรือในบางพื้นที่อาจมีทอร์นาโดได้

อีกเรื่องเป็นแนวตำนาน คือมีการตีความว่าการที่พระอินทร์หรือพระราม (บางครั้ง) มีผิวกายสีเขียวเป็นเพราะว่าทั้งคู่ต่างก็เป็นตัวแทนของฝน คุณผู้อ่านที่สนใจประเด็นนี้ ขอแนะนำหนังสือ เช่น “อุปกรณ์รามเกียรติ์” เขียนโดยท่านเสฐียรโกเศศ (หน้า 17-19) หรือ “ภารตะ-สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ” เขียนโดย อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง (หน้า 79)

ในที่นี้ผมจะขอเล่าตำนานเกี่ยวกับพระอินทร์เอาไว้สักเรื่อง ในคัมภีร์ฤคเวทของชาวอินโดอารยัน พระอินทร์ต่อสู้กับอสูรวฤตระ อสูรตนนี้เป็นพญางูยักษ์ซึ่งได้บำเพ็ญตบะจึงได้รับพรจากพระพรหมให้ไม่อาจตายด้วยอาวุธโลหะ ไม่ว่าในเวลากลางวันหรือกลางคืน เหล่าเทวดาจึงมิอาจเอาชนะได้ อสูรวฤตระได้ขโมย “วัวเมฆ” ยังผลให้โลกมนุษย์แห้งแล้งอย่างหนัก

พระพรหมได้แนะนำพระอินทร์ว่าต้องใช้อาวุธวิเศษคือวัชระซึ่งทำจากกระดูกมนุษย์ คำว่า “วัชระ” อาจหมายถึงเพชรหรือสายฟ้าก็ได้

แม้อสูรวฤตระจะมีฤทธิ์เดชมากเพียงใด แต่ในที่สุดพระอินทร์ก็สามารถสังหารได้ด้วยวัชระ (ซึ่งไม่ใช่โลหะ) ในเวลาพลบค่ำ (ซึ่งไม่ใช่ทั้งกลางวันและกลางคืน) พระอินทร์ฉีกร่างอสูรตนนี้ออกเป็นชิ้นๆ ปลดปล่อยน้ำที่ถูกกักขังไว้ในวัวเมฆ ออกมา

ชัยชนะของพระอินทร์ต่ออสูรวฤตระตีความได้หลายแบบ แบบหนึ่งคือ วฤตระเป็นบุคลาธิษฐานของความแห้งแล้งที่ผู้คนในสังคมเกษตรกรรมไม่ปรารถนา พระอินทร์คือผู้ทำให้เกิดฝน โดยการใช้วัชระ (สายฟ้า) ผ่าเมฆ ฝนจึงหลั่งลงมาจากฟ้า ทำให้ผืนดินชุ่มฉ่ำ น่ารู้ด้วยว่าคำว่า อินทรธนู (ธนูของพระอินทร์) หมายถึง รุ้ง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังฝนตก

อ่านตำนานอินเดียโบราณเพลินๆ แล้ว ขอชวนกลับมาดูเมฆกันต่อ หากแสงอาทิตย์ยามเช้าหรือยามเย็นเป็นเหลืองทอง เมฆซึ่งสะท้อนแสงนี้มาหาเราก็จะมีสีเหลืองทองด้วย ดูภาพที่ 4 ครับ

ภาพที่ 4 : เมฆสีเหลืองทอง
9 พฤศจิกายน 2558 06.07 น.
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

สุดท้าย เมฆอาจทำให้แสงแตกออกเป็นสีรุ้ง อาจโดยกลไกการแทรกสอดของแสง หรือโดยการเลี้ยวเบนของแสง เรียกว่าเกิดปรากฏการณ์สีรุ้ง (irisation หรือ iridescence) ดังภาพที่ 5

ภาพที่ 5 : เมฆสีรุ้ง
9 มิถุนายน 2558 17.49 น.
สนามบินน้ำ นนทบุรี
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

แหงนหน้าชมเมฆครั้งหน้า ลองสังเกตสีสันของเมฆให้ละเอียดอีกนิด การชมเมฆจะสนุกยิ่งขึ้นครับ 😀

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ชวนอ่านเรื่อง Colours of Clouds ได้ที่ http://www.weather.gov.hk/education/edu06nature/ele_cloudcolours_e.htm

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image