วัฒนธรรม ปะทะ : ไปดี เถิดหนา ขออวยพร : กับ‘เลขาธิการ’

มีความแตกต่างอย่างแน่นอนระหว่างบทเพลง “ไปดีเถิดหนา พี่ขออวยพร” อันดังก้องมาจากร้านอีสานเขียว กลางกรุงลอนดอน

กับบทเพลง “คำเรียกร้องของเลขาธิการ”

“ขณะนี้พรรคเห็นว่าควรหลีกเลี่ยงการโต้ตอบกล่าวหากัน และควรใช้ท่าทีที่พยายามรักษามิตรภาพที่เคยมีร่วมกันมา”

เหมือนกับ “คำเรียกร้องของเลขาธิการ” จะแย้งและสวน

Advertisement

กับบทเพลง “ไปดีเถิดหนา พี่ขออวยพร” อย่างแจ้งชัด แต่ที่ไม่ควรมองข้ามนอกเหนือจาก “ท่าทีที่พยายามรักษามิตรภาพที่เคยมีร่วมกันมา” แล้ว

หากความนัยสำคัญอย่างยิ่งคือ

“เราควรเคารพการตัดสินใจของทุกคนและจะรอการตัดสินใจของประชาชนในวันเลือกตั้ง โดยพร้อมเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามา”

Advertisement

มือระดับ “เลขาธิการ” ไม่มีทางจะขัดอย่างเด็ดขาด

ความจริง บทเพลง “ไปดีเถิดหนา พี่ขออวยพร” มิได้เป็นการเหวี่ยงแหอย่างไร้เป้า ตรงกันข้าม ดำเนินไปอย่างมีลักษณะจำเพาะ

จำเพาะไปยังคนที่ “ไป”

ตอนนี้เริ่มชัดแล้วว่ามี 1 กลุ่ม นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข แห่งจังหวัดเลย 1 กลุ่ม นายจำลอง ครุฑขุนทด แห่งจังหวัดนครราชสีมา

และ 1 กลุ่ม นายสุพล ฟองงาม แห่งจังหวัดอุบลราชธานี

นายสุพล ฟองงาม เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจำลอง ครุฑขุนทด เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อคนระดับ “รัฐมนตรี” ไปก็จำเป็นต้อง “อวยพร”

แต่ทุกอย่างก็ดำเนินไปเหมือนกับ “คำเรียกร้องของเลขาธิการ” นั่นเอง คือ ต้องรอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดในวันเลือกตั้ง

อุบัติการณ์แห่ง “พลังดูด” สามารถมองได้ 2 แนวทาง 1 มองในแง่ลบ เท่ากับเป็นการสูญเสีย เท่ากับบั่นทอน กำลังของพรรคเพื่อไทย

สะท้อนให้เห็นความขัดแย้ง ความแตกแยก

ขณะเดียวกัน 1 มองในแง่บวก เท่ากับเป็นโอกาสภายในวิกฤตหรือความสูญเสียที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้นั้นก็พลิกไปสู่การทดสอบครั้งยิ่งใหญ่

คนเหล่านั้น “แยกตัว” ออกไปแบบไหน

เป็นการแยกเฉพาะตัวเขาในเชิง “ปัจเจก” หรือว่าเป็นการแยกตัวออกไปโดยลากดึง “คะแนน” และความนิยมต่อ “พรรค” ออกไปด้วย

คะแนนนิยมต่อพรรคนี้ย่อมแวดล้อมอยู่กับ 2 ปัจจัย

ปัจจัย 1 คือ ปัจจัยอันเนื่องแต่พรรคไทยรักไทยในยุค นายทักษิณ ชินวัตร ปัจจัย 1 คือ ปัจจัยอันเนื่องแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในยุคพรรคเพื่อไทย

เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ย่อมมี “คำตอบ”

ไม่ว่าพรรคการเมืองในทางสากล ไม่ว่าพรรคการเมืองในสังคมการเมืองของประเทศไทย ความแตกแยกอันเนื่องแต่ขัดแย้งภายในมิได้หมายถึงความพินาศล่มจม

อย่างนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็คงพังตั้งแต่ นายเลียง ไชยกาล แยกตัวแล้ว

อย่างนั้นพรรคไทยรักไทยก็คงพังตั้งแต่เกิดพรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และเกิดพรรคภูมิใจไทยในยุคพรรคพลังประชาชนแล้ว

ตรงกันข้าม แม้เป็นพรรคเพื่อไทยก็ยังชนะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image