กองทุนเพื่อการศึกษา-การพัฒนาครู

หลังจาก พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 ใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 ความเคลื่อนไหวล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน จากกรรมการทั้งหมด 17 คน ที่เหลือเป็นโดยตำแหน่ง 9 คน

ตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ได้แก่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ประธานกรรมการ นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รศ.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ภาควิชาการ รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล ภาควิชาการ นายภัทระ คำพิทักษ์ ภาคประชาสังคม นายจเด็จ ธรรมธัชอารี ภาคประชาสังคม นายประสงค์ วินัยแพทย์ ด้านกฎหมาย ภาคเอกชน และนายชาลี จันทนยิ่งยง
ภาคเอกชน

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 คณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ก่อนมีคณะกรรมการตัวจริง มีการประชุมครั้งแรก โดยพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ย้ำว่ากองทุนต้องไม่ซ้ำซ้อนแต่เป็นการสมทบเงินเดิม เพิ่มเติมสิทธิใหม่ ให้เกิดความเสมอภาค เน้นช่วยเหลือกลุ่มคนที่ยังไม่มีหน่วยงานใดดูแล ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4.3 ล้านคน โดยมุ่งเน้นส่งเสริมให้เข้าถึงการศึกษาที่สอดคล้องกับความจำเป็นรายบุคคล เพื่อให้มีโอกาสสำเร็จการศึกษาและการพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ คาดว่าเดือนสิงหาคมนี้ กองทุนจะสามารถเดินหน้าทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบ

ครับ ติดตามการออกตัวช่วงเริ่มต้น ให้น้ำหนักไปที่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ความเสมอภาค เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษา มุ่งไปที่เด็ก ผู้เรียนเป็นด้านหลัก ว่างั้นเถอะ

Advertisement

ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 54 วรรคท้ายบัญญัติว่า ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษี รวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย

นั่นหมายความว่า งานอีกด้านหนึ่ง การเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู ต้องดำเนินการด้วย

ประเด็นนี้แหละครับ กองทุนจะให้น้ำหนักมากน้อยเพียงไร แค่ไหน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้พูดถึงมิตินี้อย่างชัดเจน จริงจังเท่าที่ควร จะใช้งบประมาณเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ และจะใช้กระบวนท่าอะไรในการพัฒนา

คณะกรรมการคงไม่มีใครลืมภารกิจนี้แน่นอน เพียงแต่อยู่ระหว่างการตั้งไข่ เพื่อหาบทสรุปว่าจะเริ่มเดินหน้าอย่างไร ให้เกิดความสมดุลระหว่างภารกิจสองด้านข้างต้น

ความเป็นจริงการพัฒนาครู มีกองทุนเพื่อการพัฒนากระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ไม่น้อย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจะทำงานเป็นพันธมิตร เป็นเครือข่ายร่วมด้วยช่วยกันอย่างไร ทำให้การพัฒนาครูส่งผลถึงเด็กจริงๆ ไม่ใช่แค่ประโยชน์ของครู

กลไกหรือหน่วยงานเดิมที่เคยมีบทบาทโดดเด่นในอดีตคือ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) ที่เรียกกันว่า สถาบันวัดไร่ขิง จะปลุกขึ้นมาอย่างไร หรือจะจัดตั้งกลไกขึ้นใหม่กันอีก ประเด็นเหล่านี้ล้วนรอการตัดสินใจอย่างเร่งด่วนทั้งสิ้น

ข้อมูลประกอบการพิจารณาเรื่องนี้ อย่างมีฐานทางวิชาการรองรับ ดูได้จากรายงานการศึกษาวิจัย เรื่องการพัฒนากลไกขับเคลื่อนระบบการผลิตและพัฒนาครูสมรรถนะสูงสำหรับประเทศไทย 4.0 โดย ศ.ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ และคณะ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผลการวิจัย การรับฟังความคิดเห็นประเด็นหน่วยงานที่ควรเป็นผู้รับผิดชอบจัดตั้งกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนการพัฒนาครู ผู้ตอบจัด 3 อันดับ ได้แก่ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (สคบศ.) รองลงมาคือ สถาบันคุรุพัฒนา และหน่วยงานใหม่ อาจใช้ชื่อว่าสำนักงานขับเคลื่อนระบบการพัฒนาครูแห่งชาติ ตามลำดับ

การที่ สคบศ.มีสภาพเป็นแดนสนธยาเปรียบเทียบกับสถาบันเพื่อการพัฒนาอื่นๆ เหตุเพราะโครงสร้างอยู่ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ขาดความเป็นอิสระ คล่องตัว กระฉับกระเฉง ไม่นานมานี้มีความพยายามดิ้นรนของผู้บริหารเพื่อให้มีอิสระ มีงบประมาณมากขึ้น โดยขอยกฐานะเป็นองค์การมหาชนภายใต้กระทรวงศึกษาธิการแต่ไม่สำเร็จ จึงดำเนินงานไปแบบแกนๆ ตามมีตามเกิด ทำเท่าที่ทำได้ ไม่สามารถทำงานเชิงรุกตามเสียงเรียกร้องมากมายได้

การเกิดขึ้นของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาควรใช้โอกาสนี้เดินหน้าฟื้นฟู สร้างความมีชีวิตชีวาให้กับกระบวนการพัฒนาครู และกลไก สถาบัน สคบศ.ให้คึกคัก เข้มข้น โดยไม่ต้องจัดตั้งหน่วยงานขึ้นซ้ำซ้อน เพียงให้ได้ชื่อว่าผลิตสิ่งใหม่ตามกระแสปฏิรูปเท่านั้นเอง

นอกจากนี้ยังมีอีกกองทุนหนึ่งที่จะมีผลต่อการปฏิรูปการศึกษาไม่น้อยเช่นกัน แต่สภาพความเป็นจริงไม่ต่างกัน นั่นคือ กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จัดตั้งมาหลายปีแล้ว ได้รับเงินประเดิมจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นับร้อยล้านบาท กับเงินรายปีอีกปีละ 20 ล้านบาท แต่ไม่มีการขยับเขยื้อนขอเอาไปใช้

ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน กลายเป็นกองทุนที่โลกลืม แม้แต่วงการการศึกษาเองก็ตาม ขณะที่ปากก็พูดแล้วพูดอีก การศึกษา 4.0 ไทยแลนด์ 4.0 เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ฟังดูคมขลัง โก้หรู ทันสมัย แต่ความเป็นจริงเป็นอีกอย่าง อนิจจา การศึกษาไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image