Cloud Lovers : ฝนตกหนักครั้งประวัติศาสตร์ที่ญี่ปุ่น : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

เหตุการณ์น้ำท่วมและดินถล่มที่ญี่ปุ่นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมเกิดจากฝนตกหนัก ความเสียหายมีมากมาย นับเฉพาะผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 225 คน สูญหายอีก 13 คน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2561) ส่วนอีก 8 ล้านคนได้รับคำแนะนำให้อพยพออกจากพื้นที่ประสบภัย เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นภัยพิบัติจากฝนฟ้าอากาศที่รุนแรงที่สุดในช่วง 36 ปี นับตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ที่นางาซากิในปี พ.ศ.2525

ภาพที่ 1 แสดงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบวัดจาก ปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วงวันที่ 28 มิถุนายน ถึง 8 กรกฎาคม

2018-07-09-Map-Impact Overview in Western Japan

Advertisement

ภาพที่ 1: แผนที่แสดงปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วงวันที่ 28 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม
ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/2018_Japan_floods

เหตุใดภัยพิบัติครั้งนี้จึงส่งผลกระทบรุนแรงมาก? คำตอบคือ มี 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ ปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา (นั่นคือทำไมฝนจึงตกหนัก) ปัจจัยทางภูมิประเทศ และปัจจัยทางสังคมของญี่ปุ่นเอง

ปัจจัยแรกคือ ปัจจัยด้านอุตุนิยมวิทยา ข่าวส่วนใหญ่มักพูดถึงพายุไต้ฝุ่น “พระพิรุณ (Prapiroon)” ซึ่งเริ่มจากการเป็นพายุดีเปรสชั่น (28 มิถุนายน) เมื่อทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนก็ได้รับชื่อว่า “พระพิรุณ” (29 มิถุนายน) ต่อมาได้ทวีกำลังแรงขึ้นอีกเป็นพายุไต้ฝุ่น ระดับ 1 (2 กรกฎาคม) และมีกำลังแรงสูงสุดในวันถัดมา (3 กรกฎาคม) พร้อมกับขึ้นฝั่งญี่ปุ่น แต่หลังจากนั้นก็ลดกำลังลงและสลายตัวไป

Advertisement

น่าสงสัยไหมครับว่าเหตุใดพายุไต้ฝุ่น เพียงแค่ระดับ 1 จึงสร้างความเสียหายได้อย่างมาก?

คำตอบคือ ยังมีปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาที่สำคัญอีกอย่าง ได้แก่ แนวปะทะอากาศคงที่ (stationary front) ซึ่งเป็นบริเวณที่มวลอากาศเย็นกับมวลอากาศอุ่นมาปะทะกัน แต่เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีกำลังพอๆ กัน ทำให้รอยต่อค่อนข้างอยู่นิ่ง (“คงที่”) บริเวณแนวปะทะอากาศคงที่อาจมีสภาวะฝนฟ้าอากาศได้หลายรูปแบบ แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ เกิดเมฆและฝน ดังภาพที่ 2

แผนภาพ-แนวปะทะอากาศคงที่

ภาพที่ 2: แนวปะทะอากาศคงที่

ภาพที่ 3 แสดงแนวปะทะอากาศคงที่ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นเส้นที่มีรูปครึ่งวงกลมสีแดงอยู่ฝั่งหนึ่งและรูปสามเหลี่ยมสีน้ำเงินอีกฝั่งหนึ่ง แนวปะทะอากาศคงที่ในบริเวณนี้มีชื่อเฉพาะเรียกว่า แนวปะทะอากาศเหมยหยวี่ ( 梅 雨 )

Meiyu front-and-TC-Prapiroon

ภาพที่ 3: แผนภาพแสดงแนวปะทะอากาศคงที่ และพายุหมุนเขตร้อนพระพิรุณ
ที่มา : AccuWeather

นั่นคือก่อนพายุพระพิรุณจะเข้ามา แนวปะทะอากาศเหมยหยวี่ก็ทำให้ฝนตกหนักอยู่แล้วหลายรอบ พอพระพิรุณขึ้นฝั่งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ก็ยิ่งทำให้ฝนตกหนักยิ่งขึ้นไปอีก อย่างเมืองโมโตยามะ จังหวัดโคชิ มีปริมาณน้ำฝนสูงถึง 584 มิลลิเมตรในช่วงวันที่ 6-7 กรกฎาคม หรือภูเขาไฟออนตาเกะก็มีปริมาณน้ำฝนสูงถึง 655.5 มิลลิเมตรในเวลาเพียงสามวัน

ปัจจัยที่สองคือ ภูมิประเทศ บริเวณนอกตัวเมืองส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขา มีบ้านเรือนปลูกสร้างกระจายอยู่ ฝนที่ตกหนักทำให้เกิดดินถล่มและโคลนไหล นอกจากนี้ นโยบายการฟื้นฟูป่าตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยังมีส่วนทำให้ต้นไม้ที่ปลูกในช่วงนั้นไม่มีรากที่ยึดเหนี่ยวกับดินได้ดีนัก เมื่อเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม ต้นไม้เหล่านี้จึงโค่นล้มและถูกพัดพาลงมาตามกระแสน้ำและโคลนไหล พุ่งเข้ากระแทกและสร้างความเสียหายให้กับสิ่งต่างๆ ตามรายทาง

ปัจจัยสุดท้ายคือ สังคมญี่ปุ่น แม้ว่าญี่ปุ่นจะขึ้นชื่อเกี่ยวกับมาตรการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะแผ่นดินไหวและสึนามิ แต่สำหรับน้ำท่วมและดินถล่ม เขตเทศบาลต่างๆ เพิ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดทำและเผยแพร่ “แผนที่เสี่ยงภัย (จากน้ำท่วมและดินถล่ม)” ในปี พ.ศ.2548 คือก่อนเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ราว 13 ปีเท่านั้น อาจารย์ทะคะชิ โอกุมะ แห่งมหาวิทยาลัยนีงาตะ กล่าวว่าญี่ปุ่นเน้นย้ำความสำคัญเกี่ยวกับการเตรียมรับมือแผ่นดินไหวและมีกฎข้อบังคับที่ทำให้อาคารบ้านเรือนทนต่อการสั่นไหว แต่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับภัยจากน้ำท่วมน้อยกว่า

ข้อมูลจากกระทรวงพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวระบุว่า ในปี พ.ศ.2556 มีเขตเทศบาลราว 95% ที่ได้จัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม และอีก 81% ที่ได้จัดทำแผนที่เสี่ยงภัยดินถล่ม

นอกจากนี้ ยังมีบ้านอีกหลายหลังที่ปลูกสร้างในพื้นที่เสี่ยงภัยก่อนแผนที่เสี่ยงภัยจะถูกแจกจ่าย อีกทั้งผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งไม่ได้หนีออกจากบ้านแม้ว่าทางการได้แจ้งเตือนหลายครั้ง ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าพวกเขาไม่รู้ว่าจะไปหลบภัยที่ไหน

ปัจจัยทั้งสามอย่างที่เล่ามานี้ต่างก็มีส่วนที่ทำให้ภัยธรรมชาติครั้งนี้หนักหนาสาหัสอย่างยิ่ง

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำเรื่อง 2018 Japan floods ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/2018_Japan_floods

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image