สถานีคิดเลขที่ 12 : อะไรจะเกิดขึ้น!! โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

นายทหารใหญ่ที่เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันเนื่องจากการเป็นผู้นำการรัฐประหารนั้น ในอดีตมีมาแล้วหลายคน แต่กล่าวสำหรับนายกฯคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้นำการยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 แล้วเข้านั่งเก้าอี้ในทำเนียบรัฐบาลเอง

ต้องนับว่ามีบุคคลิกที่ยังคงความเป็นผู้นำรัฐประหารและผู้นำกองทัพอย่างไม่แปรเปลี่ยน แม้ว่าจะเปลี่ยนสถานะมาทำหน้าที่ด้านการเมืองแล้วก็ตาม

เราจึงได้เห็นการพูดจาให้สัมภาษณ์ หรือการกล่าวปราศรัยในวาระต่างๆ

อันแสดงถึงความดุดันแข็งกร้าวอย่างสม่ำเสมอ

Advertisement

แน่นอนต้องมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบผู้นำเข้มแข็งเด็ดขาด คงต้องพออกพอใจที่เรามีนายกฯสไตล์นี้

แต่ก็ไม่ใช่ส่วนทั้งหมด มีชาวบ้านอีกจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่รู้สึกว่าประชาชนไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านผู้นำ

ไม่ชอบให้ใครมาคอยดุด่าสั่งสอน ชี้นิ้วสั่งโน่นนี่

ขณะเดียวกัน ถึงวันนี้ชัดเจนแจ่มแจ้งอยู่แล้วว่า กระบวนการปูทางให้นายกฯคนนี้ กลับมาดำรงตำแหน่งต่อไปอีกหลังการเลือกตั้งหนหน้า กำลังดำเนินไปอย่างขะมักเขม้น

แนวโน้มจะสำเร็จตามแผนการนี้มีอยู่สูงมาก เพราะไม่ใช่แค่การไล่ดูดอดีต ส.ส.เข้ามาร่วมในพรรคที่เตรียมเอาไว้เท่านั้น

แต่ยังเขียนกฎกติกามากมาย เพื่อให้การเมืองหลังเลือกตั้งลงล็อกตามนี้

คงต้องกลับมาเป็นนายกฯอีกสมัยแน่ๆ และเชื่อได้เลยว่าจะยังคงบุคคลิกผู้นำทหารอยู่เหมือนเดิม ยากที่จะปรับเปลี่ยนได้

แล้วอะไรจะเกิดขึ้น กับการเมืองหลังเลือกตั้ง เมื่อนายกฯยังคงบู๊ดุดันอยู่ดังเดิม แต่สภาพการต่างๆ ไม่เหมือนเดิม

ไม่ใช่รัฐบาลทหารอีกแล้ว ไม่ใช่สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งมากันเอง แล้วเป็นฝักถั่วในทุกวาระทุกเรื่อง

คราวนี้เป็นรัฐบาลในยุคที่ประชาธิปไตยกลับคืนมา ไม่มีอำนาจคณะรัฐประหารหนุนหลัง ไม่มี ม.44

ในสภาผู้แทนฯก็จะได้เจอกับ ส.ส.นักอภิปรายคารมคมคายและเชือดเฉือน ที่จะดาหน้าชำแหละรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในทุกวาระการประชุม

หวังว่าเราคงจะไม่ได้ยินคำตอบโต้จากผู้นำรัฐบาลด้วยถ้อยคำที่เคยได้ยินมาแล้วช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

เช่น “อย่ามาส่งเสียงกับผม” “ไอ้กระพี้” “เดี๋ยวทุ่มด้วยโพเดี้ยม” “ปัดโธ่เว้ย”

ไปจนถึง ออกแนว “นักชก”

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ บรรดาผู้ที่เตรียมการหนุนหลังให้นายกฯคนนี้กลับมาเป็นนายกฯอีก ในยุคการเมืองที่มีการเลือกตั้ง มีผู้แทนราษฎรจริงๆ

คงจะต้องไปขบคิดกันให้หนักๆ

อันที่จริงถ้าคิดจะเป็นนายกฯต่อ ถ้าโดดลงสนามการเมือง เป็นผู้นำพรรคการเมืองอย่างเปิดเผยด้วยตัวเอง เมื่อลงไปคลุกคลีด้วยตัวเอง อาจจะช่วยให้ปรับเปลี่ยนบุคลิกและอารมณ์จนสามารถกลมกลืนไปกับการเมืองแบบประชาธิปไตยได้

แต่นี่ก็ยังคงยืนอยู่ในจุดเดิม และที่เตรียมกันอยู่ขณะนี้ก็คือ มาในฐานะนายกฯคนนอก โดยมีพรรคพลังดูดทำหน้าที่เสนอชื่อให้

ผลก็คือเราคงจะได้ผู้นำหัวร้อน เผชิญกับสภาพการเมืองที่ไม่เหมือนกับ 4 ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

อะไรจะเกิดขึ้น!?!

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image