วีรพงษ์ รามางกูร : เตรียมรับมือน้ำท่วม

ข่าวเขื่อนเซเปียนกับเซน้ำน้อยแตกที่แขวงอัตตะปือ แขวงใต้สุดของลาว ชายแดนเขมรและเวียดนาม เพราะฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน เป็นเหตุให้เขื่อนทั้ง 2 แห่งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จและจะสามารถส่งไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯได้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้านี้เอง เขื่อนทั้ง 2 แห่งมีบริษัทราชบุรี ซึ่งเป็นบริษัทไทยมีหุ้นอยู่ด้วย 25 เปอร์เซ็นต์ บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่รับผิดชอบต่อการก่อสร้าง

ต้องชมเชยรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ประมุขของประเทศหรือประธานาธิบดีออกมาขอโทษ แสดงความเสียใจและแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้น้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง มีผู้เสียชีวิต ทรัพย์สินเสียหาย ประชาชนจำนวนมากไร้ที่อยู่ต้องอพยพไปอยู่ในที่สูง

อัตตะปือ หรืออึกระบือตามสำเนียงไทย เป็นชื่อแขวง เป็นคำเขมร แปลว่ามูลควาย เดิมคงจะเป็นเขตหรือจังหวัดหนึ่งของกัมพูชา ประชาชนส่วนใหญ่เป็นข่าและเวียดหรือญวน เพราะอยู่ติดชายแดนทั้งกัมพูชาและเวียดนาม ส่วนเซเป็นคำลาวที่ใช้เรียกแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ทางเหนือเรียก แม่ หรือน้ำ เหมือนทางอีสานและทางเหนือของไทย

เขื่อนแตกน้ำท่วมที่แขวงอัตตะปือเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เช่นเดียวกับข่าวหมูป่าติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ทั้งๆ ที่พม่า เมืองเมียวดีก็ฝนตกหนัก น้ำท่วมจนมิดหลังคาบ้าน ชาวบ้านต้องอพยพขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้านเช่นเดียวกับที่ลาว

Advertisement

เพราะอัตตะปือเป็นที่ตั้งของเขื่อนเซเปียนและเซน้ำน้อย จึงเป็นที่สนใจของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเอ็นจีโอสายต่างๆ ที่ต่อต้านการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าและหรือเพื่อเกษตรกรรมอยู่แล้ว ถ้าเซเปียนและเซน้ำน้อยอยู่ในเขตประเทศไทยเช่นเดียวกับแม่น้ำโขงในส่วนที่ไม่ได้อยู่ในเขตประเทศลาวทั้งลำน้ำ โอกาสที่จะสร้างฝายน้ำล้นที่แขวงไชยะบุรีก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ทั้งๆ ที่จีนสร้างเขื่อนในลำแม่น้ำโขงในส่วนที่อยู่ในจีนเป็นขั้นบันไดลดหลั่นก็ลงมาถึง 8 เขื่อน จัดการบริหารน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าและเกษตรกรรม

ปริมาณน้ำโขงที่ไหลออกทะเลผ่านลาวมีปริมาณถึง 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำทั้งหมด เนื่องจากมีทิวเขาทอดยาวกั้นเขตแดนระหว่างลาวกับเวียดนาม ทั้งลาวและเวียดนามจึงมีน้ำมีเซไหลลงสู่แม่น้ำโขงและไหลลงสู่ทะเลจีนเป็นจำนวนมาก ทางฝั่งเวียดนามนั้นได้มีการสร้างเขื่อนน้อยใหญ่ตั้งแต่เหนือจรดใต้มาเป็นเวลานับพันปีแล้ว เพราะภูมิประเทศของเวียดนามต้องประสบกับพายุไต้ฝุ่นจากทะเลจีนโดยไม่มีอะไรบังปีละกว่า 20 ลูก น้ำท่วมและฝนแล้งในหน้าแล้งเป็นปรากฏการณ์ปกติ

ส่วนลาวตั้งแต่เหนือจรดใต้มีเทือกเขาทอดยาวกว่า 1,400 กิโลเมตรกั้นอยู่ ทำให้พายุไต้ฝุ่นอ่อนกำลังลงเป็นร่องความกดอากาศต่ำกลายเป็นฝน ในช่วงฤดูมรสุมก็ได้รับพายุฝนเต็มที่เช่นเดียวกัน ขณะนี้ทั้งฝั่งประเทศพม่าและฝั่งประเทศลาวเกิดภาวะน้ำท่วมแล้ว

ถ้าฝนมาเร็วอย่างนี้ตั้งแต่ต้นฤดู โอกาสที่พายุร่องความกดอากาศต่ำหรือพายุดีเปรสชั่นจะพัฒนาเอาฝนมาตกทางภาคเหนือตอนบนไล่ลงมาถึงภาคเหนือตอนล่างช่วงปลายเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ต่อลงมาที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานครช่วงกลางเดือนกันยายน ประกอบกับระดับน้ำทะเลเริ่มสูงขึ้น ช่วงที่จะมีระดับสูงสุดประมาณวันเพ็ญเดือน 12 หรือวันลอยกระทง ตรงกับเวลาที่น้ำเหนือ ปิง วัง ยม น่าน ที่ไหลผ่านปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ลงมาประจบกับช่วงน้ำทะเลหนุนพอดี โอกาสน้ำจะท่วมกรุงเทพมหานครปีนี้จึงสูงมาก

อย่างไรก็ตามไม่มีใครเป็นขงเบ้งที่หยั่งรู้ดินฟ้าอากาศได้อย่างแม่นยำแน่นอน อย่างดีก็เพียงแค่พอคาดเดาคาดการณ์ได้ว่าปีนี้ฝนมาเร็ว การจัดการบริหารน้ำในลำน้ำที่มีเขื่อนและมีอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศก็อาจจะช่วยชะลอยืดเวลาหรืออาจจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ถ้าหากจะต้องรับมือกับพายุไต้ฝุ่นที่หอบเอาฝนมาตกติดต่อกันหลายวันจนเกิดภาวะน้ำท่วมได้

การเตรียมการเพื่อรับมือกับน้ำฝนที่น่าจะมีปริมาณมากจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง จะเป็นการทดสอบระหว่างรัฐบาลเผด็จการทหารกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลแบบไหนจะมีประสิทธิภาพกว่ากันในการจัดการบริหารน้ำ การตัดสินใจป้องกันก่อนฝนจะมา การไม่ให้เกิดน้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจ การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันน้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจตามภูมิภาคต่างๆ และการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภาวะน้ำท่วม

การเตรียมแผนงาน การตรวจตรา การซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น เขื่อน ฝาย ประตูน้ำ การระบายน้ำ ควรจะต้องทำเสียก่อนจะเกิดเหตุ หลายครั้งเมื่อเกิดเหตุน้ำหลากผสมกับน้ำทะเลหนุน ทำนบคูคลอง ประตูน้ำ เครื่องยนต์กลไกในการยกขึ้นยกลงบานประตูน้ำ ซึ่งจะต้องยกขึ้นยกลงตามระดับน้ำทะเลขึ้นลง เกิดขัดข้อง เสีย ใช้การไม่ได้เพราะไม่ได้ตรวจตราซ่อมบำรุงเนื่องจากไม่ได้ใช้มาเป็นเวลาหลายปี

สาเหตุสำคัญของเมืองไทยก็คือ มีหน่วยงานจำนวนมากกว่า 50-60 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ มีพื้นที่เมืองที่เป็นเขตเศรษฐกิจ เขตเมือง เขตอุตสาหกรรม เขตเกษตรกรรม ถ้าจะป้องกันกรุงเทพฯไว้ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ให้ระบายน้ำผ่านกรุงเทพฯเลย บริเวณรอบๆ กรุงเทพฯซึ่งเป็นเขตเกษตรกรรมที่มีทั้งพืชล้มลุก เช่น ที่ทำนา ทำไร่และสวนผลไม้ ไม้ยืนต้นที่มีราคาแพงต้องใช้เวลานานจึงจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งจะต้องจัดลำดับความสำคัญให้เหมาะสมและทันการณ์ ต้องอาศัยการตัดสินใจทางการเมือง รวมทั้งอำนาจแฝงทางการเมืองเหนือกรมชลประทานและกระทรวงเกษตรฯในการ “แบ่งปันภาระ” จากอุทกภัย

ในตำราเศรษฐศาสตร์กล่าวไว้ว่า “การแบ่งปันภาระที่จะต้องรับนั้น ยากเย็นกว่าการแบ่งปันผลประโยชน์กัน” แต่ละฝ่ายตกลงกันเองจะไม่ค่อยสำเร็จ และไม่มีสูตรสำเร็จว่าสูตรใดจะดีกว่ากัน สูตรที่ดีที่สุดทางเศรษฐกิจอาจจะเป็นสูตรที่เลวที่สุดในทางการเมืองก็ได้ การทำความเข้าใจและการได้รับการชดเชยที่คิดว่าเป็นธรรม โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์เป็นผู้จ่ายที่ยุติธรรมพอที่ทั้ง 2 ฝ่ายรับได้จึงจะสามารถหาข้อยุติได้ ซึ่งฝ่ายการเมืองเป็นผู้ตัดสิน

แต่ในกรณีประเทศที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร ไม่มีฝ่ายการเมืองที่จะเป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลโดยข้าราชการกับประชาชน ทั้งที่ต้องสูญเสียจากภัยพิบัติ ที่ถูกกระทบเสียหายจากมาตรการป้องกันภัยพิบัติและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ก็น่าจะเป็นสถานการณ์อันดีที่นักวิจัยทุกสาขาไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ การบริหารจัดการ รวมทั้งนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน จะได้พิสูจน์ว่าภายใต้รัฐบาลแบบใดที่จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ในการป้องกันภัยพิบัติและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้ดีกว่ากัน

ทัศนคติของรัฐมนตรีและข้าราชการประจำภายใต้ระบอบการปกครองทั้ง 2 ระบบต่อภัยพิบัติและต่อประชาชนที่ได้รับภัยพิบัติ เพราะเขาเพิ่งผ่านภาวะน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ไม่กี่ปีมานี้เอง ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานในการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เป็นการบริหารจัดการของข้าราชการชุดเดียวกัน ต่างกันตรงที่อยู่ภายใต้รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยกับรัฐบาลระบอบเผด็จการทหาร

โดยระบบโครงสร้างพื้นฐานระบบคูคลองหนองบึงที่รับน้ำที่ป้องกันน้ำเดียวกัน โดยกระทรวงทบวงกรมเดียวกัน แต่อยู่ภายใต้ผู้บริหารรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นที่มีที่มาต่างกัน คือที่มาจากประชาชนและที่มาจากการแต่งตั้ง โดยรัฐบาลที่กรุงเทพฯที่มาจากการทำปฏิวัติรัฐประหาร โดยคณะรัฐมนตรีที่เป็นคนดีมีความสามารถทำงานอย่างโปร่งใส แต่ไม่มีความสัมพันธ์อะไรกับประชาชนเลย นอกจากรับเงินเดือนจากภาษีของประชาชน

การจะวัดผลวัดความสามารถของผู้บริหารประเทศต้องดูในเวลาเกิดวิกฤตการณ์ ดูการป้องกันล่วงหน้า การบริหารจัดการสถานการณ์เมื่อมีวิกฤต การเผชิญหน้าและการเยียวยาผู้ประสบภัยเคราะห์ร้าย

ผู้บริหารในระบอบการเมืองการปกครองแบบใด ระหว่าง “รัฐปกครอง” “governing state” กับ “รัฐบริการ” “service state” รัฐบาลแบบใดจะมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาของประเทศได้ถูกต้อง ดีกว่ากัน

หรือดีแต่พูด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image