Cloud Lovers : ‘คลื่นความร้อน’ ที่ญี่ปุ่น…มาจากไหน? : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นถูกภัยธรรมชาติจัดหนัก เพราะหลังเกิดฝนตกหนักครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมและโคลนไหลแล้ว ก็เกิดคลื่นความร้อน (heat wave) ที่ถูกประกาศให้เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 80 คน และอีกราว 22,000 คน ถูกนำส่งโรงพยาบาลเนื่องจากเป็นโรคลมเหตุร้อน

คลื่นความร้อนครั้งนี้ยังสร้างสถิติใหม่ 2 อย่าง

สถิติแรก : ญี่ปุ่นในภาพรวม อุณหภูมิสูงสุด 41.1 องศาเซลเซียส เมื่อวันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม เวลา 14.16 น. ที่เมืองคุมะงะยะ จังหวัดไซตะมะ ใกล้กรุงโตเกียว

Advertisement

สถิติที่สอง : กรุงโตเกียว อุณหภูมิสูงสุด 40.8 องศาเซลเซียส ในเมืองโอเมะ

องค์การอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นซึ่งมีจุดตรวจวัดอุณหภูมิทั่วประเทศ 927 แห่ง พบว่ามี 624 แห่ง (67%) ร้อนกว่า 30 องศาเซลเซียส และมี 224 แห่ง (24%) ร้อนกว่า 35 องศาเซลเซียส

คำถามคือ คลื่นความร้อนครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

Advertisement

ลองดูภาพที่ 1 ครับ ความกดอากาศสูงแปซิฟิกตอนเหนือ (North Pacific High) ที่ระดับ 5,000 เมตร ปกคลุมญี่ปุ่นตอนกลางและตอนล่าง (ไม่คลุมเกาะฮอกไกโดทางตอนเหนือ) ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ความกดอากาศสูงทิเบต (Tibetan High) ที่ระดับ 15,000 เมตร เคลื่อนมาซ้อนทับ

ความกดอากาศสูงทั้งสองอัดอากาศที่อยู่ในระดับต่ำกว่า ทำให้อากาศที่ถูกอัดร้อนขึ้นด้วยกลไกที่เรียกว่า การอัดแบบแอเดียแบติก (adiabatic compression) กล่าวคือไม่มีความร้อนไหลเข้าหรือออกจากบริเวณที่กำลังพิจารณา ผลก็คือเกิดสภาพอุณหภูมิผกผันที่ระดับสูง (a high level inversion) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ ฝาภาชนะปิดกั้นไม่ให้อากาศอุ่นและชื้นที่พื้นผิวระบายออกไปโดยกลไกการพาความร้อน คนญี่ปุ่นที่อยู่บนพื้นจึงรู้สึกถึงความร้อนนี้นั่นเอง

ภาพที่ 1 : แผนภาพแสดงการทับซ้อนของ Tibetan High และ North Pacific High

พูดแบบชาวบ้านก็คือ ความกดอากาศสูงแต่ละระดับเปรียบเสมือน “ผ้าห่ม” และเนื่องจากมีถึง 2 ระดับ ก็คล้ายกับว่าญี่ปุ่นถูกคลุมด้วย “ผ้าห่ม 2 ชั้น” นั่นเอง! ส่วนเกาะฮอกไกโดไม่ได้ถูกห่ม จึงไม่โดนคลื่นความร้อนเล่นงาน

คุณผู้อ่านอาจเคยเห็นแผนภาพประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีตัวเลขอุณหภูมิสูงกว่าค่าสถิติคือ 41.1 องศาเซลเซียส เช่น 47 องศาเซลเซียส ดังภาพที่ 2 ผมขอเรียนว่าตัวเลขเหล่านี้คือ ดัชนีความร้อน หรือ heat index (พหูพจน์ คือ heat indices) ไม่ใช่อุณหภูมิของอากาศครับ

ภาพที่ 2 : ค่าดัชนีความร้อน เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.2018 ช่วงบ่าย
ที่มา : Facebook Meterologist Sayaka Mori

ดัชนีความร้อนเป็นค่าที่ได้จากการนำอุณหภูมิของอากาศมาคิดร่วมกับความชื้นสัมพัทธ์ พูดง่ายๆ คือ ดัชนีความร้อนจะสะท้อนว่าร่างกายของคนเรา “รู้สึก” ว่าอากาศร้อนแค่ไหน ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าหากความชื้นสัมพัทธ์สูง เหงื่อจะระเหยยาก ทำให้เรารู้สึก “ร้อนกว่า” อุณหภูมิจริงของอากาศ

ตัวอย่างเช่น ถ้าอากาศมีอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์ 80% จะพบว่าค่าดัชนีความร้อนคือ 38 องศา ภายใต้เงื่อนไขว่าเราอยู่ในที่ร่ม ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร แต่อาจมีลมพัดเบาๆ ดูภาพที่ 3 ครับ

ด้วยเหตุนี้ ดัชนีความร้อนจึงเรียกอีกอย่างว่า humiture มาจากคำว่า humidity (ความชื้น) + temperature (อุณหภูมิ) นั่นเอง

ภาพที่ 3 : แผนผังดัชนีความร้อน

ลักษณะอากาศแบบไหนถึงจะเรียกว่า “คลื่นความร้อน”?

คำตอบขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ แต่พูดกว้างๆ ได้ว่าอากาศร้อนจัดต่อเนื่องกินเวลานานหลายวัน เช่น เดนมาร์กระบุว่า 3 วันต่อเนื่องโดยที่พื้นที่ของประเทศเกินกว่าครึ่งหนึ่งมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยมากกว่า 28 องศาเซลเซียส และ ออสเตรเลียทางใต้ เมืองแอดีเลด ระบุว่า 5 วันติดต่อกันซึ่งมีอุณหภูมิอย่างต่ำ 35 องศาเซลเซียส หรือ 3 วันติดกัน ซึ่งมีอุณหภูมิอย่างต่ำ 40 องศาเซลเซียส เป็นต้น

คลื่นความร้อนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนและสัตว์ และทำให้พืชผลเสียหาย ในคนอาจเกิดตะคริวชักเหตุร้อน (heat cramp) การหมดแรงเหตุร้อน (heat exhaustion) ไปจนถึงโรคลมเหตุร้อน (heat stroke) ทั้งนี้ เหตุการณ์ร้ายแรงที่สุด ได้แก่ คลื่นความร้อนที่ยุโรปในปี ค.ศ.2003 ซึ่งคร่าชีวิตไปกว่า 70,000 คน!

น้ำท่วมใหญ่และคลื่นความร้อนที่ญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นตัวอย่างของเหตุการณ์ฝนฟ้าอากาศสุดขีด (Extreme Weather Events) ซึ่งอาจหมายถึงร้อนสุดสุด แล้งสุดสุด ฝนตกหนักสุดสุด พายุแรงสุดสุด หิมะตกหนักสุดสุด ฯลฯ

ทั้งนี้ ภาวะโลกร้อน (Global Warming) นอกจากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) แล้ว ยังทำให้เหตุการณ์ฝนฟ้าอากาศสุดขีดเกิดได้บ่อยขึ้น และในแต่ละเหตุการณ์อาจเกิดนานขึ้นด้วยครับ

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำเรื่อง 2018 Japan Heat Wave ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/2018_Japan_heat_wave

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image