สถานีคิดเลขที่ 12 : ปรับทัศนคติ : ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

คําว่า “ปรับทัศนคติ” คนไทยคุ้นเคยมาพักใหญ่แล้ว แต่คงไม่ใหญ่เท่ากับข่าวจากเวทีสหประชาชาติเมื่อเร็วๆ นี้ ว่ามีชนกลุ่มน้อยในมณฑลซินเจียงอุยกูร์ของจีนถูกกักไว้เป็น “ล้าน” เพื่อปรับทัศนคติ

ข่าวนี้ทำให้รัฐบาลจีนออกมาปฏิเสธแล้วว่าไม่จริงอย่างสิ้นเชิง

จีนชี้แจงด้วยว่า ชาวอุยกูร์ได้รับสิทธิเสรีภาพของตนเองอย่างเต็มที่ คนทุกเชื้อชาติในซินเจียงอยู่ และทำงานอยู่ด้วยกันอย่างสันติและมีความสุข เพราะบ้านเมืองสงบสุขและก้าวหน้า แต่ชาวอุยกูร์ที่มีแนวคิดทางศาสนาแบบสุดโต่งจะต้องถูกย้ายถิ่นฐานและถูกปรับทัศนคติ

ประโยคหลังนี้น่าสนใจมาก เพราะทำให้อยากรู้ว่า จากประชากรอุยกูร์ 45% ในซินเจียง มีกี่คนที่ถูกปฏิบัติเช่นนี้ หลังจากที่ปัญหาในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์เป็นจุดอ่อนจุดใหญ่ของจีนมายาวนาน และดูเหมือนจะจัดการได้ยากกว่าทิเบต เพราะชาวมุสลิมอุยกูร์มีกองกำลังและแนวร่วมผู้ต่อต้านที่เป็นตัวเป็นตนชัดเจนในต่างแดน

Advertisement

ยิ่งเมื่อ สี จิ้นผิง เป็นผู้นำไร้เทียมทานมีนโยบายที่สะท้อนว่าต้องการกำจัดจุดอ่อนนี้เสียที จึงน่าติดตามอย่างยิ่งว่าจีนจะใช้วิธีใดคลี่คลายปัญหาชาวอุยกูร์ซึ่งเป็นหนามตำใจในประวัติศาสตร์ และมีเหตุรุนแรงมาเป็นระลอก โดยเฉพาะปี 2557-2558 เกิดการสังหารหมู่ที่ผู้ก่อการใช้ทั้งมีดดาบไปจนถึงระเบิดและคาร์บอมบ์ ครั้งหนึ่งๆ มีผู้เสียชีวิตตั้งแต่หลักสิบไปถึงครึ่งร้อย

เหตุการณ์วางระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม หรือพระพรหมเอราวัณ ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2558 ก็เกี่ยวโยงรวมอยู่กับความขัดแย้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม สองปีหลังมานี้เหตุการณ์ร้ายต่างๆ เริ่มซาลง จนทำให้คิดว่าน่าจะมาจากการตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของจีน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของสี จิ้นผิง ที่ต้องการให้ซินเจียงเป็นฮับหนึ่งบนเส้นทางสายไหมเส้นใหม่

การผลักดันเศรษฐกิจเข้าไปในพื้นที่ดูจะเป็นยุทธวิธีหนึ่งที่สะท้อนออกมาว่าจีนต้องการใช้จัดการกับซินเจียง เหมือนที่ดันการท่องเที่ยวเข้าไปคุมทิเบต

กระทั่งเมื่อสมาชิกในคณะกรรมการด้านขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติของสหประชาชาติ ชื่อ เกย์ แม็กดักกัล รายงานต่อที่ประชุมยูเอ็นถึงข้อมูลว่า ทางการจีนบริหารจัดการชาวอุยกูร์ประมาณ 1 ล้านคนไว้ในศูนย์ปรับทัศนคติ หรืออาจเรียกว่าโรงเรียนการเมือง หรือค่ายกักกันขนาดใหญ่ จนจีนต้องออกมาปฏิเสธอย่างไวและหนักแน่น

การปรับทัศนคติเป็นยุทธวิธีที่คาดเดาผลได้ยาก ยิ่งเมื่อคนเรามีอุดมการณ์และวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไป การหาจุดที่อยู่ร่วมกันได้และแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างสันติกลับเป็นวิธีที่ง่ายกว่า

มีกรณีของประเทศอื่นที่รัฐบาลพยายามจะปรับทัศนคติคนจำนวนมากว่า การอยู่แบบไม่มีประชาธิปไตยนั้นอยู่สงบได้นาน ทั้งมีเศรษฐกิจดีเหมือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่สิ่งที่เห็นบ่งบอกว่า ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ อย่าหลอกตัวเองดีกว่า

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image