Cloud Lovers : รู้จัก ‘พายุงวงช้าง’ & ‘นาคเล่นน้ำ’ ให้ถึงแก่น (1) : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

ในบ้านเรามี “พายุงวงช้าง” เกิดขึ้นเป็นระยะและเป็นข่าวในบางครั้ง ในทางวิชาการพายุแบบนี้มีแง่มุมค่อนข้างซับซ้อน ผมจึงขอแยกเป็นประเด็นย่อยๆ เพื่อให้ความคิดคมชัด โดยเริ่มจากคำว่า ทอร์นาโดและเมฆซุปเปอร์เซลล์ก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่เรื่องหลักคือ พายุงวงช้างและนาคเล่นน้ำ ดังนี้ครับ

ถาม : ทอร์นาโด คืออะไร?

ตอบ : ทอร์นาโด (tornado) คือ พายุหมุนซึ่งมีลักษณะเป็นรูปกรวยหรืองวงยาว ปลายด้านบนมีเมฆก้อนขนาดใหญ่ ปลายด้านล่างแตะพื้นดินหรือผืนน้ำ

Advertisement

ถาม : ซุปเปอร์เซลล์ คืออะไร?

ตอบ : ซุปเปอร์เซลล์ (supercell) เป็นเมฆฝนฟ้าคะนองแบบหนึ่งซึ่งมีกระแสอากาศไหลวนอยู่ภายในตัวเมฆ กระแสอากาศนี้ เรียกว่า เมโซไซโคลน (mesocyclone) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 2-10 กิโลเมตร

ถาม : ทอร์นาโดมีกี่แบบหลัก?

ตอบ : หากใช้เมฆซุปเปอร์เซลล์เป็นเกณฑ์ อาจแบ่งทอร์นาโดได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ (1) ทอร์นาโดที่เกิดจากซุปเปอร์เซลล์ และ (2) ทอร์นาโดที่ไม่ได้เกิดจากซุปเปอร์เซลล์

ทอร์นาโดที่เกิดจากเมฆซุปเปอร์เซลล์ (supercell tornado) อาจมีความรุนแรงสูงสุดถึงระดับ EF-5 (เกินกว่า 324 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ตาม Enhanced Fujita scale ทอร์นาโดในข่าวต่างประเทศ (โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา) จัดเป็นทอร์นาโดในกลุ่มนี้

ทอร์นาโดที่ไม่ได้เกิดจากซุปเปอร์เซลล์ (non-supercell tornado) มักเรียกย่อว่า NST มีความรุนแรงไม่เกินระดับ EF-3 (218-266 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) แต่ส่วนใหญ่ไม่เกินระดับ EF-2 (180-217 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) นั่นคือ ทอร์นาโดแบบนี้รุนแรงน้อยกว่าทอร์นาโดแบบแรก

ถาม : ทอร์นาโดที่ไม่ได้เกิดจากเมฆซุปเปอร์เซลล์ หรือ NST มีแบบย่อยกี่แบบ?

ตอบ : หาก NST เกิดเหนือผืนน้ำ จะเรียกว่า วอเทอร์สเปาต์ (waterspout) ชื่อไทยที่ตรงที่สุด คือ “นาคเล่นน้ำ” หรือ “พวยน้ำ” (ดูภาพที่ 1) แต่หาก NST เกิดเหนือพื้นดิน เรียกว่า แลนด์สเปาต์ (landspout)

คำว่า landspout เสนอโดยนักอุตุนิยมวิทยาชื่อ โฮเวิร์ด บี บลูสไตน์ (Howard B. Bluestein) ใน ค.ศ.1985 โดยเลียนแบบคำว่า waterspout ส่วน National Weather Service ของสหรัฐอเมริกา เรียกอย่างเป็นทางการว่า dust-tube tornado (ทอร์นาโดแบบท่อฝุ่น)

ภาพที่ 1 : นาคเล่นน้ำ
บ้านอ่าวน้ำ ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่
29 ตุลาคม 2557 17.59 น.
ภาพ : อรรณนพ หอมกมล

ถาม : “พายุงวงช้าง” เป็นทอร์นาโดแบบไหน?

ตอบ : พายุงวงช้างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นทอร์นาโดที่ไม่ได้เกิดจากเมฆซุปเปอร์เซลล์ หรือ NST ดังนั้นจึงคลุมความหมายทั้งวอเทอร์สเปาต์ (นั่นคือ นาคเล่นน้ำ หรือพวยน้ำ) และแลนด์สเปาต์

ถาม : ทอร์นาโดที่ไม่ได้เกิดจากซุปเปอร์เซลล์ หรือ NST เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ตอบ : ดูภาพที่ 2 ครับ เริ่มจากลมเฉือนในแนวระดับที่ผิวพื้น ทำให้เกิดกระแสอากาศไหลวนขึ้นในแนวดิ่ง กระแสอากาศไหลวนนี้เรียกว่า ไมโซไซโคลน (misocyclone) คำอุปสรรค ไมโซ (miso) มาจากการที่แกนหมุนนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งจัดอยู่ในระดับขนาดทางอุตุนิยมวิทยาที่เรียกว่า ไมโซสเกล (misoscale) คือในช่วงประมาณ 40 เมตร ถึง 4 กิโลเมตร

ไมโซไซโคลนนี้หากหมุนเร็วขึ้นก็จะแคบเข้าและยืดยาวออกไปจนด้านบนเคลื่อนเข้าสู่ฐานเมฆ ส่งผลให้เมฆเติบโตมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนไมโซไซโคลนจะมีรัศมีแคบลงและหมุนอย่างรวดเร็วกลายเป็น ทอร์นาโดที่ไม่ได้เกิดจากซุปเปอร์เซลล์ หรือ NST

ภาพที่ 2 : การเกิดทอร์นาโดที่ไม่ได้เกิดจากซุปเปอร์เซลล์

ถาม : นาคเล่นน้ำมีพฤติกรรมหลักอย่างไรบ้าง?

ตอบ : ตามสถิติพบว่าพายุงวงช้างในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นนาคเล่นน้ำ จึงควรเข้าใจแง่มุมต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้

ขนาด : นาคเล่นน้ำส่วนใหญ่ยาวประมาณ 10-100 เมตร แต่ที่ยาวมากถึง 600 เมตรก็เคยพบ เส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่เล็กๆ แค่ 1 เมตร ไปจนถึงหลายสิบเมตร (เปรียบเทียบ : ทอร์นาโดที่เกิดจากซุปเปอร์เซลล์ยาวประมาณ 100-300 เมตร)

ความเร็วในการหมุนวน : นาคเล่นน้ำแต่ละเส้นอาจมีกระแสอากาศหมุนวนเพียงเส้นเดียวหรือหลายเส้นก็ได้ แต่ละเส้นหมุนเร็ว 20-80 เมตรต่อวินาที (เปรียบเทียบ : ทอร์นาโดที่เกิดจากซุปเปอร์เซลล์หมุนวนเร็วกว่า คือ 40-150 เมตรต่อวินาที)

ความเร็วลม : กระแสลมในนาคเล่นน้ำมักเร็วในช่วง 100-190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจสูงถึง 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อัตราเร็วการเคลื่อนที่ : นาคเล่นน้ำเคลื่อนที่เร็วในช่วง 3-130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่เคลื่อนที่ค่อนข้างช้าประมาณ 18-28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อายุ : นาคเล่นน้ำมีอายุไม่ยืนยาวนัก ส่วนใหญ่ประมาณ 2-20 นาทีก็จะสลายตัวไป แต่ที่นานถึง 30 นาทีก็เคยพบบ้าง

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำเรื่อง Waterspout ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Waterspout

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image