ไทยพบพม่า : พ่อค้าสก๊อตกับการค้ายุคแรกในพม่า

เมื่อกล่าวถึงประเทศเจ้าอาณานิคมที่ยิ่งใหญ่ในเอเชียตลอดศตวรรษที่ 18 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 คงต้องมีสหราชอาณาจักรอยู่ในนั้น อย่างไรก็ดี คนไทยไม่ค่อยคุ้นกับ “สหราชอาณาจักร” หรือ “บริเตนใหญ่” และมักเรียกหมู่เกาะนี้ว่า “เกาะอังกฤษ” และเรียกผู้คนร้อยพ่อพันธุ์แม่ที่อาศัยบนเกาะแห่งนี้ว่า “ชาวอังกฤษ” แน่นอน การเหมารวมเรียกคนในเกาะอังกฤษว่า “คนอังกฤษ” เป็นความผิดพลาดมหันต์ เพราะทำให้เราไม่เห็นพลวัตของคนแต่ละเชื้อชาติในสหราชอาณาจักรที่มีคาแร็กเตอร์ต่างกันราวฟ้ากับเหว และยังมีความถนัดทางวิชาชีพที่ไม่เหมือนกัน ในขณะที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าข้าราชการอาณานิคมส่วนใหญ่เป็นคนอังกฤษ แต่ชาวสก๊อตก็เป็นเรี่ยวแรงหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการค้าในอาณานิคมของสหราชอาณาจักรทั่วโลก

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะสกอตแลนด์มีเมืองการค้าที่สำคัญยิ่งอย่างกลาสโกว์ (Glasgow) เมืองท่าริมฝั่งแม่น้ำคลายด์ ซึ่งเป็นเมืองท่าที่บูมขึ้นมาในยุคอาณานิคม และเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างยุโรปกับอเมริกา ว่ากันว่าในยุคนั้น หากชาวโปรตุเกสและสเปนคือนักเดินเรือที่ยอดเยี่ยม ชาวสก๊อตก็คือพ่อค้าที่มากความสามารถเช่นกัน

ภายหลังวาสโก เด กามาค้นพบเส้นทางเดินเรือมาเอเชียผ่านแหลมกู๊ดโฮป การค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปก็เจริญขึ้นตามลำดับ แม้เป้าหมายหลักของโปรตุเกสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะอยู่ที่หมู่เกาะเครื่องเทศ (ปัจจุบันคืออินโดนีเซีย) และมะละกา แต่ก็ส่งคนเข้าไปในแถบตะนาวศรี มะตะบัน (เมาะตะมะ) และพะโค (หงสาวดี) เมืองการค้าแห่งแรกในพม่าคือมะตะบัน

หลังจากโปรตุเกสบุกเบิกเส้นทางการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ไม่นาน ราล์ฟ ฟิตช์ (Ralph Fitch) พ่อค้าจากลอนดอนเป็นคนอังกฤษคนแรกที่เดินทางถึงพม่า หลังจากฟิตช์กลับไปลอนดอนก็เป็นหัวหอกผู้ช่วยก่อตั้งบริษัทการค้าอินเดียตะวันออก (East India Company) หรือ EIC แห่งสหราชอาณาจักรขึ้น การค้าระหว่าง EIC กับพม่าเติบโตขึ้นตามลำดับเมื่อรัฐบาลที่ลอนดอนส่งกองทัพเข้ามาในพม่าและรบชนะพม่าครั้งแรกในปี 1826 (พ.ศ.2369)

Advertisement

นอกจากบทบาทของ EIC ที่เป็นผู้นำการค้าไม้ในพม่า การค้าของเอกชนก็เจริญขึ้น เริ่มจากกิจการโรงเลื่อยและอู่ต่อเรือของจอห์น ดาร์วูด (John Darwood) ชาวอังกฤษ ที่ร่ำรวยขึ้นจากอุตสาหกรรมตัดไม้ในป่าแถบเมืองอัตตะรัน (ใกล้เมืองมะละแหม่ง)

ในช่วงต้นจนถึงกลางศตวรรษที่ 19 เมื่อสหราชอาณาจักรรบชนะพม่าเป็นครั้งที่ 2 ศูนย์กลางการค้าอยู่ที่เมืองมะละแหม่ง ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของมะละแหม่งที่อยู่ติดทะเล เต็มไปด้วยป่าไม้ ใกล้กับสยาม และยังใกล้กับปีนัง อันเป็นส่วนหนึ่งของ Straits Settlements หรือนิคมช่องแคบ ทำให้ธุรกิจของรัฐและเอกชนของพ่อค้าชาวอังกฤษเจริญรุ่งเรืองขึ้น บริษัทเอกชนจากปีนังเข้ามาเปิดสาขาที่มะละแหม่ง บริษัท ที.ดี. ฟินด์เลย์ (T.D. Findley) ของชาวสก๊อต เข้าไปเปิดกิจการที่มะละแหม่ง หลัง “อิ่มตัว” จากการค้ายาสูบกับสหรัฐอเมริกา และเป็นพ่อค้าไม้ขนาดใหญ่ต่อมาอีกนับร้อยปี ที.ดี. ฟินด์เลย์ขนถ่านหิน เกลือ เครื่องแก้ว และผ้ามาจากกลาสโกว์เพื่อไปขายในพม่า และขากลับก็จะขนไม้สัก และข้าวจากอัคยัพ (เมืองท่าในรัฐยะไข่) กลับไปขายที่ยุโรป

บริษัทการค้าอื่นๆ ที่จะผุดขึ้นในพม่าตอนล่างล้วนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ ที.ดี. ฟินด์เลย์ เป็นลูกหลาน หรือเคยฝึกงานมากับ ที.ดี. ฟินด์เลย์ บริษัทอื่นๆ ที่เกิดในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เช่น บริษัทเดินเรือ Burma Steam Tug Company ที่มีกิจการเดินเรือกลไฟรับส่งผู้คนจากมะละแหม่งไปทวาย มะริด และวิคตอเรียพอยท์ (เกาะสอง) ซึ่งอยู่ห่างออกไปถึง 600 กิโลเมตร

Advertisement

เมื่อพม่าพ่ายแพ้ในสงครามพม่า-อังกฤษ ครั้งที่ 2 ในปี 1852 (พ.ศ.2395) ธุรกิจของบริษัทจากเกาะอังกฤษ ที่นำโดยตระกูลพ่อค้าจากกลาสโกว์มีบทบาทขึ้นอย่างก้าวกระโดด แม้แต่การวางผังเมืองหลวงแห่งใหม่อย่างย่างกุ้งก็เป็นผลงานของข้าราชการชาวสก๊อตจาก Bengal Engineers หรือฝ่ายวิศวกรรมแห่งกองทัพของ EIC นามว่าอเล็กซานเดอร์ เฟรเซอร์ (Alexander Fraser) ชื่อของเฟรเซอร์จะถูกนำไปใช้ตั้งชื่อถนนสายหลักในย่างกุ้งด้วย (ในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นถนนอโนรธา)

เมื่อพม่ากว้างขึ้น และการค้าเจริญขึ้น บริษัทของชาวสก๊อตที่เข้ามาเปิดในมะละแหม่งก็ย้ายมาเปิดสาขาที่ย่างกุ้ง บริษัท ที.ดี. ฟินด์เลย์เดิมเปลี่ยนสภาพเป็นบริษัท ท๊อด, ฟินด์เลย์ แอนด์ คอมปานี (Todd, Findlay & Company) กลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ขึ้น และมีกิจการหลากหลายขึ้น การผนวกพม่าตอนล่างเข้ามาได้สร้างโอกาสทางการค้าให้ EIC และบริษัทเอกชนอย่างมาก

โดยเฉพาะเมื่อข้าวกลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของพม่า และเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับบริษัทอย่างท๊อด, ฟินด์เลย์ แอนด์ คอมปานี และบริษัทขนส่งของสก๊อตอีกแห่งหนึ่งคือแพทริก เฮนเดอร์สัน แอนด์ คอมปานี (Patrick Henderson & Company) ที่ริเริ่มเส้นทางเดินเรือสินค้าระหว่างเมืองท่า 3 แห่งในพม่า (มะละแหม่ง อัคยัพ และย่างกุ้ง) กับลิเวอร์พูลและกลาสโกว์

กิจการของชาวสก๊อตในพม่ารุ่งเรืองมากจนไม่อาจพรรณนาได้หมด แต่คงไม่มีชาวสก๊อตคนใดที่มีอิทธิพลทางการค้าในพม่าเท่ากับวิลเลียม วอลเลซ (William Wallace) พ่อค้าจากเอดินเบอระ เมื่อวอลเลซเดินทางถึงเมืองตะนาวศรีในกลางทศวรรษ 1850 เขาเล็งเห็นโอกาสการค้าไม้ในพม่า จึงตั้งโรงเลื่อยของตัวเองขึ้นที่มะละแหม่ง และยังเป็นพ่อค้าคนแรกๆ ที่เข้าไปตั้งโรงเลื่อยในย่างกุ้ง ในช่วงที่มะละแหม่งยังเป็นเมืองท่าการค้าหลักของบริติชเบอร์ม่า วอลเลซติดตามเซอร์ อาเธอร์ แฟร์ ข้าหลวงใหญ่ในขณะนั้นเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้ามินดงที่มัณฑะเลย์

ว่ากันว่าพระเจ้ามินดงทรงชื่นชอบวอลเลซมากและทรงมอบสัมปทานการตัดไม้แถบป่านินจาน ในพม่าตอนบนให้กับวอลเลซ กิจการที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วทำให้วอลเลซต้องติดต่อวอลเลซ แอนด์ คอมปานี (Wallace & Company) ที่บอมเบย์ ซึ่งเป็นบริษัทของครอบครัว และขอเงินเพื่อมาลงทุนสัมปทานป่าไม้ในพม่า และในที่สุดได้ก่อตั้ง Bombay Burmah Trading Company หรือบริษัทการค้าบอมเบย์เบอร์ม่า บริษัทการค้าเอกชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมในพม่าขึ้น

แม้เมื่อวอลเลซหอบกำไรที่ได้จากบริษัทตัดไม้บอมเบย์เบอร์ม่ากลับไปลอนดอนในปี 1864 (พ.ศ.2404) แล้ว บริษัทก็ยังดำเนินกิจการต่อไปจนกระทั่งพม่าได้รับเอกราช และถูกโอนไปเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลพม่าในปี 1963 (พ.ศ.2506) หลังรัฐประหารของเน วิน เพียงแค่ 1 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image