บทเรียนจาก ‘ความเงิบ’ โดย : กล้า สมุทวณิช

มีผู้อธิบายว่า เงิบ เป็นศัพท์ทางถิ่นอิสาน* แปลว่าพลิกเอาด้านหน้าขึ้น หรือก้อนหินที่ยื่นออกมาจากภูเขาคล้ายเพิง ใช้หลบแดดหลบฝนได้ เรียก เงิบ เทิบ ก็ว่า เรือนที่มีหลังคาลาดไปทางเดียวก็เรียก เงิบ หรือ เทิบ เหมือนกัน

เพราะความหมายของการพลิกออกมาอีกด้าน และน้ำเสียงที่ฟัง “มันได้” ทำให้คำว่า “เงิบ” กลายเป็นศัพท์ที่ได้รับความหมายใหม่และใช้กันทั่วไปในสังคมทั่วไปที่หมายถึงการผิดไปจากที่คาดในทางที่เป็นผลลบต่อผู้เงิบ โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ “ความเงิบ” มีความหมายเฉพาะลงไปอีก นั่นคือ การที่เราวิพากษ์วิจารณ์หรือเทข้างไปในทางใดทางหนึ่งของกระแส “ดราม่า” แล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏออกมาพลิกไปจากข้อมูลเดิมที่ทำให้ฟันธงกันฉับๆ จึงทำให้ “เงิบ” ไปตามๆ กัน

เช่นเรื่องข่าวการจับยายขายข้าวหมากที่เป็นข่าวไปช่วงกลางสัปดาห์ว่าเจ้าหน้าที่สรรพสามิตเข้าจับกุมแม่ค้าวัย 60 ปี โดยในข่าวแรกที่ออกมานั้น ข้อเท็จจริงมีว่าแกขายข้าวหมากอยู่ตลาดนัด ห่อละ 5 บาท ได้กำไรวันหนึ่งก็หลักร้อย แต่ถูกจับปรับเป็นหมื่น เหมือนเป็นการรังแกคนจน

เรื่องของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” รังแก “คนจน” นั้นเป็นบาดแผลร่วมกันในสังคม เพราะไม่ใช่เพียงคนจนหรอก ผู้คนต่างเคยมีประสบการณ์ หรือความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐกันเป็นส่วนมาก อีกทั้งผู้ถูกกระทำเป็นยายแก่ๆ ขายสินค้าภูมิปัญญาชาวบ้าน ยิ่งเป็นภาพเปรียบต่างเข้าองค์ประกอบของการเกิด “ดราม่า” ได้เป็นอย่างดี

Advertisement

โดยทันทีทันควัน กรมสรรพสามิตก็ได้ชี้แจงผ่านทางเพจของหน่วยงานสรุปได้ว่า เรื่องนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมไปจับกุมคุณยายรายที่ว่านั้น ด้วยข้อหาขาย “สาโท” โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ไม่ใช่ข้าวหมากซึ่งไม่ใช่สินค้าในพิกัดสรรพสามิตอยู่แล้ว พร้อมภาพถ่ายวันจับกุมยายคนเดียวกันมีถุงใส่ของเหลวสีเหลืองขุ่นขายในกะละมังเป็นของกลาง โดยเรื่องนี้ต้องชื่นชมความรอบคอบของฝ่ายเจ้าหน้าที่ซึ่งใช้การถ่ายภาพเป็นหลักฐานมายืนยันข้อเท็จจริง

ส่วนฝ่ายคุณยายก็เหมือนยังไม่ยอมแพ้ พยายามสู้ต่อไปว่าที่เห็นนั้นคือน้ำข้าวหมากไม่ใช่สาโท แต่ก็ฟังไม่ค่อยขึ้นเท่าไรนัก เพราะการบริโภคข้าวหมากโดยทั่วไปนั้นเราไม่กินน้ำของมันเป็นสาระสำคัญ การกันน้ำข้าวหมากเอาไว้ขายต่างหากจึงชี้เจตนาขายเครื่องดื่มมึนเมาอย่างเถียงไม่ขึ้น

แม้จะมีการตั้งคำถามต่อมาเกี่ยวกับเสรีภาพในการผลิตสุรา การผูกขาดสุราของรัฐและนายทุน ที่มาทำลายเหล้าที่เป็นภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชาวบ้าน แต่เรื่องนี้ไม่ว่าฝ่ายไหน ก็คงต้องยอมรับว่า “เงิบ” กันถ้วนหน้าที่เล่นงานฝ่ายเจ้าหน้าที่ไปก่อน เพราะได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่ไม่ครบถ้วน

Advertisement

แต่ถึงอย่างนั้น ความเงิบนี้ก็ยังเป็นประโยชน์อยู่หลายประการ อย่างแรก คือทำให้ได้รู้จักคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 25/2547 (เรื่องนี้ผู้ที่ควรชื่นชมอีกท่าน คือ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม คุณธวัชชัย ไทยเขียว ที่จำคำวินิจฉัยที่ไม่ค่อยดังของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ได้)

โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติของพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 มาตรา 24 และมาตรา 26 ที่กำหนดให้แป้งข้าวหมักนั้นถือเป็นเชื้อสุราที่ต้องถูกควบคุมการทำหรือขายด้วย เป็นการขัดต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพในการประกอบกิจการโดยเสรีและเป็นธรรมเกินสมควร ทั้งยังไม่เป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย และเป็นบทบัญญัติที่บัญญัติขึ้นเกินความจำเป็นและกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จึงวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติสุราที่มีการโต้แย้งมา เฉพาะความหมายของ “เชื้อสุรา” ในส่วนที่หมายความถึง “แป้งข้าวหมัก” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องของเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม จึงใช้บังคับไม่ได้

ดังนั้น ผลของคำวินิจฉัยนี้ ข้าวหมากจึงไม่ถือเป็นสุรา แต่สาโท กระแช่ อุ และอื่นๆ นั้นไม่เกี่ยว ยังต้องบังคับไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ผลจาก “ดราม่า” คุณยายข้าวหมาก (ซึ่งภายหลังกลายเป็นยายสาโทไป) ก็นำพาไปสู่ประเด็นถกเถียง เรื่องของความชอบธรรมของรัฐในการออกกฎหมายและอื่นๆ มาจำกัดการผลิตหรือจำหน่ายสุราเมรัยพื้นบ้าน และรวมไปถึงเครื่องดื่มประเภทนี้อื่นๆ ที่เอกชนรายย่อยพอจะผลิตเองได้ เช่น เบียร์คราฟต์ ที่เคยเป็นประเด็นกันก่อนหน้านี้ ข้อวิจารณ์ต่อภาครัฐที่น่าพิจารณา คือการออกกฎหมายผูกขาดการผลิตสุราเมรัย อย่างที่คนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีทุนมีโรงงานขนาดใหญ่แทบไม่สามารถผลิตจริงได้โดยชอบด้วยกฎหมายเลย และแน่นอนว่านำไปสู่ข้อสงสัยว่า มาตรการและกฎหมายของรัฐนั้นเอื้อประโยชน์ให้นายทุนรายใหญ่ผูกขาดรังแกชาวบ้านชุมชนท้องถิ่น หรือการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อยหรือไม่

ฝ่ายเสรีนิยมทั้งต่ออำนาจรัฐและทางเศรษฐกิจก็มองว่า ของแบบนี้ปล่อยให้เป็นเสรีภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภคคัดกรองจำกัดจัดการกันเองตามกลไกตลาดหรือความนิยมด้านรสชาติราคาจะดีกว่าหรือไม่

ข้อพิจารณาอีกด้านของเรื่องนี้มีว่า สาโท สุรา เหล้าพื้นบ้าน เบียร์คราฟต์ นั้นไม่เหมือนสินค้าชาวบ้านประเภทผ้าไหมหรือกล้วยฉาบ เพราะมันคือเมรัยที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบ และในการผลิตนั้นจะต้องมีการหมัก หรือกล่าวอีกทาง คือต้องทำให้ข้าวนั้นบูดเสียด้วยวิธีที่เหมาะสมจนน้ำตาลแปรเป็นแอลกอฮอล์ แต่ต้องไม่กลายเป็นกรดหรือสารอันตรายอื่น ซึ่งเรื่องนี้ถ้าทำไม่ดีจะมีปัญหาต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้อย่างร้ายแรง ตั้งแต่อาหารเป็นพิษ ไปจนอาจจะตาบอดหรือป่วยเรื้อรังจากสารประกอบปลอมปนที่ไม่ควรพบในเครื่องบริโภค

เพราะเสรีภาพในชีวิตและร่างกายนั้นจะต้องมาก่อนเสรีภาพในการเลือกการเสพ เพราะคุณจะเลือกสาโทขวดใหม่ที่ดีกว่าได้อย่างไร ถ้าขวดก่อนหน้านั้นทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษหรือติดเชื้อตายไปก่อนแล้ว จึงไม่ใช่แค่เรื่องว่าไม่อร่อยก็เททิ้งแล้วไปหาซื้อขวดใหม่

และยังประเด็นพิจารณาว่าด้วยอันตรายต่อสังคมของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ต้องยอมรับว่ามีอยู่จริง ทั้งกรณีเมาแล้วขับหรือก่ออาชญากรรมเนื่องจากความยับยั้งชั่งใจลดลง การจำหน่ายจ่ายแจกเครื่องดื่มประเภทนี้จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมายมาควบคุม จริงอยู่ที่ผู้เขียนจะเคยกล่าวถึงบ่อยๆ ทั้งในคอลัมน์นี้หรือที่ไหนที่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นว่ากฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นยังมีปัญหาบางประการ รวมถึงเจือด้วยลักษณะของ “กฎหมายเชิงศาสนา” อยู่จางๆ แต่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเจตนารมณ์และสาระของกฎหมายนี้ เป็นกฎหมายเพื่อความปลอดภัยสาธารณะในการลดโอกาสการเกิดความเสียหายจากผู้ดื่มเสพเครื่องดื่มประเภทนี้

สามย่อหน้าข้างต้นคือข้อพิจารณาอีกแง่มุม สำหรับผู้ที่อาจจะมองภาพสุราสาโทเหล้าเบียร์แบบชาวบ้านอย่างสวยงามเกินจริง (Romanticized) จนเกินไป

บทเรียนสุดท้ายของเรื่องนี้ คือการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในยุคสื่อใหม่และเครือข่ายสังคม แม้เรื่องนี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องเท่าไรกับสื่อโซเชียลในเบื้องแรก เพราะเท่าที่ทราบ เรื่องนั้นเริ่มมาจากยายสาโทไปให้ข่าวต่อสื่อท้องถิ่น จากนั้นสื่อโซเชียลและสื่อหลักก็รับมากระจายต่อแทบจะในทันที ก็เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้น องค์ประกอบของเรื่องนี้เหมาะอย่างยิ่งแก่การเกิดดราม่าซึ่งสร้างยอดไลค์มหาศาล

แม้จะน่าเห็นใจว่า การทำข่าวสมัยนี้จำเป็นต้องช่วงชิงกันที่ความเร็ว การ “ตกข่าว” ของโลกยุคใหม่ อยู่ที่หลักวินาทีไม่ใช่วันครึ่งวันเหมือน 20-30 ปีที่แล้ว แต่การงับรับข่าวมากระจายทันทีของสื่อหลักก็ยังคงเป็นเรื่องน่าตำหนิ ที่เทข้อเท็จจริงตามปากของฝ่ายกล่าวหาโดยไม่สอบสวนทวนความกลับไปยังผู้เกี่ยวข้อง ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการทำงานที่หละหลวม และควรถือเป็นบทเรียน

ในยุคก่อนที่ว่านั้นหากใครยังจำได้ ในการเสนอข่าวอะไรก็ตามนอกจากการเสนอเรื่องหรือข้อมูลจากฝ่ายผู้ออกมาให้ข่าวแล้ว ผู้สื่อข่าวหรือนักข่าวสมัยนั้นจะต้องไปสอบถามหรือสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องอีกด้านอีกฝ่ายมาประกอบด้วย ตลอดจนความเห็นข้างเคียงหรือผู้คนแวดล้อมมาประกอบเพื่อฟังหูไว้หู ต่อให้มีธงในใจ หรืออยากให้น้ำหนักข่าวไปในทิศทางไหน แต่อย่างน้อยก็ต้องมีความเห็นหรือข้อมูลของอีกฝ่ายหนึ่งประกอบการชั่งน้ำหนักของผู้อ่านอยู่ด้วย

เพราะรูปแบบของสื่อดั้งเดิมนั้น จะมีความเป็น “องค์กรหรือสถาบัน” ซึ่งทำงานกันในรูปแบบของ “กองบรรณาธิการข่าว” ดังนั้น ข่าวทั้งหมดจะต้องผ่านผู้รู้เห็นมากกว่าหนึ่งจนไปสิ้นสุดที่บรรณาธิการข่าว ก่อนจะปล่อยออกไปเผยแพร่ พิมพ์ลงหนังสือพิมพ์หรือออกวิทยุทีวีตามช่องทาง

ต่อมาในยุคของสื่อออนไลน์เมื่อสักสิบปีที่แล้ว แม้จะใช้ความเร็วระดับรายชั่วโมง แต่บรรณาธิการข่าวก็ยังมีบทบาทอยู่ในระดับหนึ่ง จนกระทั่งถึงยุคที่สื่อทั้งหลายต้องเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับโลกโซเชียลเครือข่ายสังคมนี่แหละ ที่การกลั่นกรองในลักษณะนี้จะลดลงไป ก็ด้วยเหตุที่กล่าวไปข้างต้นว่าการตกข่าวสำหรับยุคนี้ อยู่ที่หลักวินาทีไม่ใช่ชั่วโมงหรือวัน

หากคำถามของเราคือ สื่อหลัก (ในที่นี้ยังหมายความรวมถึงสื่อที่เกิดมาเพื่อเป็นสื่อออนไลน์ แต่มีการทำงานเชิงองค์กรเป็นสำนักข่าว อย่างเช่น The Momentum The Matter หรือ The Standard ด้วย) จำเป็นจะต้องมาลงแข่งในสนาม “ความเร็ว” เช่นเดียวกับสื่อใหม่ในรูปแบบสื่อปัจเจกชน เช่น เพจหรือแอคเคาต์ต่างๆ ในสังคมออนไลน์จริงหรือ ? และการแข่งขันนั้นสื่อหลักสามารถ “เร็ว” แข่งกับเขาได้จริง หรือในที่สุดแล้ว สื่อหลักก็จะกลายเป็นแค่ผู้เสนอ “ข่าวสารมือสอง” ที่นำมาจากเพจ สเตตัสสาธารณะ หรือเว็บบอร์ดพันทิป ไปกระจายต่อในช่องทางของตนเท่านั้น

ทั้งที่จุดแข็งของสื่อหลักที่เหนือกว่าสื่อใหม่หรือสื่อปัจเจกชนที่รวดเร็วนั้น คือความเป็น “องค์กร” หรือ “สถาบัน” ของสื่อที่ต้องทำงานเป็นทีม และมีความน่าเชื่อถือในระดับที่ต้องไว้ใจได้ว่าคนแชร์ข่าวไปแล้วจะ “ไม่เงิบ” (หรือถ้ามีบ้าง นานๆ ทีก็พออภัยได้)

พูดง่ายๆ คือ “จ่า” อาจจะเงิบได้ “ควีนส์” อาจจะปิดเพจหนีได้ แต่สื่อหลักปิดหนังสือพิมพ์หรือช่องโทรทัศน์ไม่ได้ เช่นนี้ความเชื่อถือได้หรืออย่างน้อยก็น่าเชื่อถือ จึงเป็นจุดแข็งที่ยังเหลือ และยังเหนือกว่าเพียง “ความเร็ว” ที่ถึงเวลาก็ค่อยไปลงแก้ข่าว หรือชี้แจงให้ทีหลัง ถ้าเงิบหนักก็แค่ทำเป็นลืมๆ หรือปิดเพจหนีไปชั่วคราวสักพักก็มาเกิดในชื่อใหม่ก็ได้

เว้นเสียแต่ว่า ผู้คนในสังคมจะไม่แคร์อะไรที่จะเงิบ ก็เพียงแค่ทำลืมปล่อยผ่าน รอกระโดดงับดราม่าเรื่องใหม่ ที่เคยเงิบไปนั้นไม่กี่ชั่วโมงก็หมดอายุแล้ว ถ้าสังคมพร้อมใจกันเปลี่ยนค่านิยมกันถึงระดับนี้ การกลั่นกรองเพื่อความน่าเชื่อถือก็อาจจะเป็นเรื่องเปลืองเปล่าเสียเวลา

แต่ก็อย่าให้ถึงอย่างนั้น หรืออย่าช่วยกันนำพาไปในทางนั้นเร็วเกินไปนัก

*จากเว็บไซต์ https://esan108.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image