Cloud Lovers : เหตุใด ‘นาคเล่นน้ำจึงมักมากันเป็นครอบครัว’? : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

ในบทความตอนแรกก่อน ผมได้แนะนำลักษณะหลักๆ ของ “พายุงวงช้าง” และ “นาคเล่นน้ำ” ไปแล้ว คราวนี้มาดูรายละเอียดเพิ่มเติมกันครับ

ถาม : ลักษณะเด่นของนาคเล่นน้ำที่น่าสนใจคืออะไร?

ตอบ : บ่อยครั้งที่นาคเล่นน้ำมักจะเกิดขึ้นพร้อมกันหลายเส้น พูดง่ายๆ ว่า “นาคเล่นน้ำมักมากันเป็นครอบครัว” ดังเช่นภาพที่ 1 ซึ่งเกิดขึ้นในต่างประเทศ ส่วนในบ้านเราก็มีถึง 4 เส้นเช่นกัน สนใจข่าวให้ค้นคำว่า “พายุงวงช้าง 24 เมษายน 2561”

Advertisement

ภาพที่ 1 : นาคเล่นน้ำหลายเส้น
23 กรกฎาคม ค.ศ.1999
Adriatic Sea
ภาพ : Roberto Giucidi

ถาม : เหตุใด “นาคเล่นน้ำจึงมักมากันเป็นครอบครัว”?
เพื่อให้เข้าใจเบื้องหลังลักษณะเช่นนี้ ก็ต้องดูกลไกการเกิดทอร์นาโดแบบไม่มีเมฆซุปเปอร์เซลล์ หรือ NST (Non-supercell Tornado) ดังภาพที่ 2 ครับ

Advertisement

ภาพที่ 2 : พัฒนาการของทอร์นาโดที่ไม่ได้เกิดจากเมฆซุปเปอร์เซลล์

ระยะที่ 1 มวลอากาศเย็นเคลื่อนเข้ามา โดยมีลมเฉือนพัดที่ผิวพื้น (ตามแนวลูกศร) บริเวณรอยต่อของมวลอากาศ ทำให้เกิด
ไมโซไซโคลนหมุนวนในแนวดิ่ง

ระยะที่ 2 ไมโซไซโคลนที่อยู่ใกล้กันอาจรวมกันได้

ระยะที่ 3 ไมโซไซโคลนหมุนเร็วขึ้น และยืดสูงขึ้นจนเข้าสู่ฐานเมฆ ทำให้เมฆอวบขึ้นกลายเป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง ระยะนี้เรียกว่าเริ่มเกิด NST แล้ว

จุดสำคัญคือ ในระยะที่ 1, 2 และ 3 ทอร์นาโดแบบ NST อาจเกิดพร้อมกันได้หลายเส้นตามแนวรอยต่อระหว่างมวลอากาศ ถ้า NST เกิดเหนือผืนน้ำก็แปลว่านาคเล่นน้ำเกิดได้หลายเส้นนั่นเอง

อีกระยะที่เหลือ ได้แก่ ระยะที่ 4 ทอร์นาโดแบบ NST มีความรุนแรงสูงสุด ในขณะที่บางบริเวณจะเกิดฝนตกลงมาทำให้บริเวณนั้นกลายเป็นแอ่งอากาศเย็น ส่วนระยะที่ 5 สุดท้าย แอ่งอากาศเย็นจะทำให้ลำทอร์นาโดเอียงมากจนขาดและสลายตัวไปในที่สุด

ถาม: มีการคำนวณยืนยันคำอธิบายก่อนหน้านี้ไหม?

ตอบ : บรูซ ดี ลี และ โรเบิร์ต บี วิลเฮล์มสัน นักวิจัยแห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับบรรยากาศและศูนย์แห่งชาติทางด้านการประยุกต์ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยแห่งอิลลินอยส์ ที่เออร์บานา-แชมเปญ ได้ใช้คอมพิวเตอร์จำลองการเกิดทอร์นาโดแบบ NST ผลลัพธ์แสดงไว้ในภาพที่ 2

ขณะที่มวลอากาศเย็น (พื้นสีเข้ม ฝั่งด้านล่าง) รุกเข้าไปยังบริเวณที่เป็นมวลอากาศอุ่น (พื้นสีอ่อนกว่า ฝั่งด้านบน) พบว่าเกิดการหมุนวนของอากาศในแนวดิ่งขึ้นหลายตำแหน่ง บางตำแหน่งรวมกัน และเกิดทอร์นาโดแบบ NST ตามแนวรอยต่อของมวลอากาศ ในขณะที่เมฆด้านบนได้อวบใหญ่สอดคล้องกับภาพที่ 1

ภาพที่ 3 : คอมพิวเตอร์จำลองเหตุการณ์แสดงการเกิดทอร์นาโดแบบ NST
ที่มา : http://ww2010.atmos.uiuc.edu/(Gh)/guides/mtr/svr/modl/line/torn.rxml

ถาม : นาคเล่นน้ำเคยเกิดขึ้นพร้อมกันมากกว่า 4 เส้นไหม?

ตอบ : นาคเล่นน้ำเคยเกิดขึ้นพร้อมกันทีเดียว 7 เส้นที่เกรทเลคส์ตามแนวพรมแดนระหว่างแคนาดากับอเมริกา

ปรากฏการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์การเกิดนาคเล่นน้ำครั้งมโหฬารแห่งปี 2003 (The Great Waterspout Outbreak of 2003) เนื่องจากมีนาคเล่นน้ำปรากฏขึ้นอย่างน้อย 66 เส้น ในช่วงเวลา 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน ถึง 3 ตุลาคม ค.ศ.2003

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำเรื่อง นาคเล่นน้ำ: สะพานเชื่อมนภา & วารี ที่ https://www.gotoknow.org/posts/101100

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image