ด่านครอบครัว : คอลัมน์ แท็งก์ความคิด

แวะไปที่จังหวัดกาฬสินธุ์กันบ้าง

คราวนี้คณะจากสถาบันพระปกเกล้าเวียนไปหาเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์

มีนายกชื่อ นายจารุวัฒน์ บุญเพิ่ม

เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกแห่งที่เข้าชิงรางวัลพระปกเกล้าทองคำ

Advertisement

หลายคนคงคุ้นหูแล้วสำหรับรางวัลนี้

รางวัลพระปกเกล้าทองคำ เป็นรางวัลต่อยอดจากรางวัลพระปกเกล้า

รางวัลพระปกเกล้ามอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ส่งเสริมเครือข่าย และสร้างเสริมสมานฉันท์

Advertisement

หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไหนที่ได้รับรางวัลพระปกเกล้ามาแล้ว 2 ครั้งใน 5 ปี

ครั้งต่อไป สถาบันพระปกเกล้าจะติดต่อไป เพื่อดูการต่อยอดงานที่เคยทำ

ไปชมนวัตกรรมใหม่ที่สร้างสรรค์

หากผ่านมาตรฐานก็เดินทางมารับรางวัลพระปกเกล้าทองคำกันในช่วงปลายปี

สำหรับเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์นั้นมีชื่อเสียงด้านการจัดการขยะ

ผลงานการระดมเครือข่ายเข้ามาช่วยงาน ทำให้การกำจัดขยะของที่นั่นมีประสิทธิภาพ

และใช้ต้นทุนต่ำกว่าต้นทุนการกำจัดขยะของที่อื่น

ผลงานการกำจัดขยะได้รับการการันตีจากนานาชาติ เพิ่งไปรับโล่รางวัลที่ดูไบมาสดๆ ร้อนๆ

อีกตัวอย่างคือการรวบรวมเครือข่ายจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุขึ้นมา หลังจากนั้นได้พัฒนาขึ้นเป็นศูนย์พัฒนาผู้สูงวัย

เช่นเดียวกับศูนย์ต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวที่รวมตัวกันแน่ และจัดตั้งเป็นโรงเรียนครอบครัวขึ้นมาได้

ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากการประสานงานกันเป็นเครือข่าย

ท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

อีกความสำเร็จหนึ่งที่ได้ฟังแล้วมองเห็นภาพ นั่นคือ “ด่านครอบครัว รั้วชุมชน ถนนปลอดภัย”

โครงการนี้เริ่มขึ้นด้วยเจตนาของคนในเทศบาลที่ไม่ต้องการเห็นคนในชุมชนประสบอุบัติเหตุ

สูญเสียชีวิต สูญเสียทรัพย์สิน

เมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้อง อยากจะขจัดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ จึงระดมเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วย

ทั้งตำรวจ หน่วยบรรเทาสาธารณภัย ประธานชุมชน สมาคมชมรม และอื่นๆ

จัดการประชุม กำหนดเป้าหมาย และคิดหาวิธีการ

กระทั่งเกิดเป็นโครงการ “ด่านครอบครัว รั้วชุมชน ถนนปลอดภัย”

เริ่มจากสกัดต้นเหตุอุบัติเหตุตั้งแต่ที่บ้าน ใครเมา ใครง่วงไม่ให้ขับรถ

พร้อมทั้งให้ครอบครัวส่งสัญญาณเตือนภัยตั้งแต่ที่บ้าน ขี่รถจักรยานยนต์ออกจากบ้านให้สวมใส่หมวกกันน็อก

ตำรวจจัดอบรมให้ความรู้ด้านการจราจร ภาคเอกชนในจังหวัดมาส่งเสริมวิธีปลอดภัยในการขับ

มีกล้องซีซีทีวีที่ภาคเอกชนช่วยเหลือ จัดซื้อเพิ่มจำนวน ติดตามชุมชนต่างๆ

ทำไปทำมา กระบวนการป้องกันอุบัติภัยในเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จึงเริ่มต้นจากที่บ้าน

จากบ้านที่เข้มงวด พอออกมาก็จะพบกับด่านตรวจ

ด่านตรวจที่ตั้งก็เป็นด่านผสม ร่วมกันทำงานตำรวจ ประชาชน และเทศบาล

มีชาวบ้านร่วมบริหารจัดการเพื่อลดอุบัติเหตุ

ผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่องทำให้อุบัติเหตุลดลงอย่างน่าพอใจ

จากปี 2557 ที่มีคนตายจากอุบัติเหตุ 8 ราย พอเข้ามาถึงปี 2558-2559 ลดลงเหลือ 2 ราย

กระทั่งปี 2560 ไม่มีใครเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเลย

ไปรับฟังความคิด ไปนั่งฟังเครือข่ายของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์แล้วอยากให้ทุกชุมชนมี “ด่านครอบครัว”

“ด่านครอบครัว” นี้มีอานุภาพมากกว่าด่านใดๆ บนท้องถนน เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของความปลอดภัย

ถ้าคนในบ้านช่วยกันห้ามปรามสมาชิกที่ร่างกายไม่พร้อม ไม่ให้ขับรถ หรือออกไปข้างนอก

ถ้าคนในบ้านตักเตือนให้สวมใส่หมวกกันน็อกเวลาใช้รถจักรยานยนต์

ถ้าคนในบ้านมีความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัย

ด่านครอบครัวดังกล่าวจะกลั่นกรองไม่ให้สมาชิกในบ้านได้รับอันตราย

เรื่องนี้หลายบ้านทำกันสำเร็จแล้ว แต่ถ้าทุกบ้านในชุมชนทำกันสำเร็จล่ะ

เท่ากับว่าอัตราการสูญเสียของทุกบ้านในชุมชนย่อมลดน้อย

สถิติ 0 รายเกิดขึ้นให้เห็นแล้วที่เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์

สถิติ 0 รายนี้ก็น่าจะเกิดขึ้นอีกหลายพื้นที่

ด้วยกลไกที่ชุมชนช่วยกันทำให้สำเร็จ

กลไกที่เรียกชื่อว่า “ด่านครอบครัว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image