จิตวิวัฒน์ : ‘ติดดิน กินได้ ยืดหยุ่น’ การกำหนดกติกาการอยู่ร่วมด้วยธรรมนูญชุมชน : โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า

ปัจจุบันเมื่อกล่าวถึง “ชุมชน” คนส่วนมากเข้าใจถึงนิยามความหมายที่หลากหลายและพลวัตของสิ่งที่เรียกว่า “ชุมชน” และภายใต้ความเป็น “ชุมชน” ที่สร้างขึ้น ไม่ว่าพื้นที่เสมือนบนโลกออนไลน์ พื้นที่ทางสังคม หรือพื้นที่กายภาพ ต่างเชื่อมโยงกับตัวตนหรืออัตลักษณ์ของผู้คนใน “ชุมชน” นั้นๆ แต่ประเด็นคำถามที่น่าสนใจคือ ท่ามกลางความหลากหลายนั้น เราจะอยู่ร่วมกันอย่างเคารพความแตกต่างหลากหลายได้อย่างไร

22-23 พฤศจิกายน 2560 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้แทนชุมชน 43 ชุมชน ใน 14 จังหวัด ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมเครือข่ายประชาสังคมต่อต้านการทุจริตด้วยวิถีวัฒนธรรม ที่จังหวัดนครนายก เครื่องมือสำคัญที่แลกเปลี่ยนกัน คือการพัฒนาธรรมนูญชุมชน ซึ่งเป็นการกำหนดกติกาการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม โดยหลังจากการจัดกระบวนการครั้งนั้น ชุมชนต่างกลับไปพัฒนาหรือปรับปรุงธรรมนูญชุมชนในพื้นที่ตนเอง ก่อนมาแลกเปลี่ยนร่วมกันอีกครั้งในเวทีที่จัดในแต่ละภูมิภาค

ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2561 ทีมศูนย์คุณธรรม ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดทำธรรมนูญชุมชนในภูมิภาค เริ่มจากเวทีภาคตะวันตก จ.เพชรบุรี เวทีภาคเหนือ จ.พิจิตร เวทีภาคใต้ จ.พัทลุง เวทีภาคกลาง กรุงเทพฯ เวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ศรีสะเกษ และเวทีภาคตะวันออก จ.สระแก้ว

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แต่ละพื้นที่ทำให้เห็นถึงกระบวนการกำหนดกติกาการอยู่ร่วมผ่านธรรมนูญชุมชน ที่มีทั้งจุดร่วม และลักษณะเฉพาะที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่ โดยจุดร่วมนั้นพบในส่วนของกระบวนการจัดทำธรรมนูญชุมชน ที่เริ่มจากการสำรวจสถานการณ์ชุมชน ทั้งในแง่ของ “ทุนความดี” ที่มีอยู่ในชุมชน และประเด็นปัญหาที่ต้องการการแก้ไขด้วยการระดมความคิดเห็น ซึ่งชุดข้อมูลที่เกิดขึ้นนี้ คือต้นทุนของการจัดทำธรรมนูญชุมชน ที่มีตั้งแต่การกำหนดขึ้นใหม่ และทบทวนเพื่อปรับปรุงของเดิมที่เคยกำหนดไว้ให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไป

Advertisement

ในส่วนของการขับเคลื่อนธรรมนูญชุมชนให้มีผลในทางปฏิบัติ เมื่อมีการกำหนดกติการ่วมแล้ว หลายชุมชนกำหนดมาตรการทั้งในเชิงส่งเสริม เช่น การปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมของชุมชน ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนของชุมชน และมาตรการเชิงบังคับ เช่น โทษปรับเมื่อมีการละเมิด เพื่อนำเงินเข้ากองทุนของชุมชนโดยใช้โครงสร้างทางการปกครองมาสนับสนุน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือประธานชุมชนในกรณีของพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งมีการนำความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาใช้ เช่น การประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันที่ศาลทวดของชุมชนในจังหวัดพัทลุง

สำหรับประเด็นเฉพาะที่พบในกระบวนการจัดทำธรรมนูญชุมชนที่สัมพันธ์กับบริบทในพื้นที่ พบว่ามีประเด็นน่าสนใจ คือ ข้อตกลงที่กำหนดขึ้นสะท้อนถึงการนำกลไกทางวัฒนธรรมมาใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ชุมชนในจังหวัดพิจิตร กำหนดช่วงเวลาสูบน้ำในคลองชลประทาน เพื่อให้มีน้ำใช้ได้ตลอดปี ผู้ฝ่าฝืนจะโดนยึดเครื่องสูบน้ำ การห้ามจับงูสิง เนื่องจากช่วยกินหนูที่มากินข้าวในนา หรือการห้ามเผาตอซังข้าว และเปลี่ยนมาใช้วิธีไถกลบของชุมชนในจังหวัดเพชรบุรี เพื่อปรับปรุงคุณภาพดินควบคู่กับการลดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเผาตอซังข้าว หรือในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่ห้ามถอนต้นผักหวานป่าในป่าชุมชน ผู้ฝ่าฝืนโดนปรับ 500 บาท

การกำหนดข้อตกลงยังมีขึ้นเพื่อใช้จัดความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างวัดกับชุมชน เช่น ชุมชนในจังหวัดพัทลุงที่กำหนดให้มี “ปิ่นโตเวียน” โดยแบ่งเขตในหมู่บ้าน และหมุนเวียนนำอาหารไปถวายพระสงฆ์

ข้อตกลงบางเรื่องยังสัมพันธ์กับสถานการณ์ปัญหาสุขภาพในชุมชน เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งพบปัญหาผู้ป่วยพยาธิใบไม้ในตับเป็นจำนวนมากจากการบริโภคปลาร้าดิบ ชุมชนจึงรณรงค์ให้ต้มปลาร้าก่อนบริโภค โดยชุมชนนัดวันต้มปลาร้าด้วยกันใน “วันหวยออก” คือ ทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 ของเดือน หรือปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร ส่งผลให้ชุมชนในจังหวัดเพชรบุรี พัทลุง บุรีรัมย์ หันมาทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย และจัดทำตลาดชุมชนเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์แก่สมาชิกในชุมชน การทำโครงการธนาคารขยะเพื่อลดปัญหาขยะในชุมชนด้วยกระบวนการรีไซเคิล และนำขยะเปียกไปทำน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ย

ขณะเดียวกันก็มีอีกส่วนหนึ่งที่กำหนดข้อตกลงขึ้นเพื่อตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามา เช่น การห้ามรถบรรทุกสิบล้อผ่านถนนในหมู่บ้านของชุมชนในจังหวัดเพชรบุรี เนื่องจากถนนไม่สามารถรับน้ำหนักรถบรรทุกขนาดใหญ่ได้ หรือชุมชนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ห้ามรถบรรทุกวิ่งผ่านช่วงกลางคืนเนื่องจากรบกวนเวลาพักผ่อนของคนในชุมชน

สำหรับชุมชนในพื้นที่เมือง หรือกึ่งเมืองกึ่งชนบท การกำหนดกติกาในการอยู่ร่วมมีความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากมีคนหลากหลายกลุ่มอยู่ร่วมกัน และในแง่ของพื้นที่กายภาพมีทั้งชุมชนเดิมและหมู่บ้านจัดสรรที่สร้างใหม่ ชุมชนบ้านโคกพุทรา จังหวัดลพบุรี ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทพวน ได้ใช้กลยุทธ์ “ดึงเข้ามาเป็นพวน” คือ ใช้วัฒนธรรมประเพณีของชาวไทพวน เช่น การแต่งกาย การจัดประเพณีบุญกลางบ้าน มาสร้างความเป็นชุมชน โดยชักชวนทั้งคนในชุมชนเดิมและชุมชนใหม่เข้ามาร่วมกิจกรรมและเรียนรู้ร่วมกัน หรือในกรณีของพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างชุมชนนีรชา และชุมชนพร้อมสุข 1 เลือกใช้งานความรู้เป็นตัวนำ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้นำชุมชนและทีมงานของมูลนิธิกองทุนเวลาเพื่อสังคม เริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลชุมชน พูดคุย ทำแบบสำรวจชุมชน สัมภาษณ์เชิงลึก แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ กำหนดเป็นธรรมนูญชุมชนและเลือกทำกิจกรรมในช่วงวันสำคัญ เช่น เทศกาลสงกรานต์ เพื่อดึงดูดให้คนมาร่วมงาน

กติกาการอยู่ร่วมที่ยกตัวอย่างมานี้ สะท้อนถึงการใช้กระบวนการจัดทำธรรมนูญชุมชนเป็นเครื่องมือในการจัดความสัมพันธ์ ทั้งระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม และมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน และเมื่อพิจารณาในมิติคุณธรรม ทำให้เห็นว่า คุณธรรมคือส่วนหนึ่งของปฏิบัติการในชีวิตประจำวันที่อยู่บนพื้นฐานของการเคารพในกฎกติกาที่กำหนดร่วมกัน

แก่นแกนของธรรมนูญชุมชน จึงไม่ได้อยู่ที่ลายลักษณ์อักษรที่เขียนขึ้น แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้และกำหนดกติกาในการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมผ่านการสนทนาของคนในชุมชนทั้งแบบเป็นทางการจากที่ประชุมของกลุ่มองค์กรต่างๆ และการสนทนาแบบไม่เป็นทางการ เช่น สภากาแฟ วงโสเหล่ โดยกติกาเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนได้ตามบริบท ดังที่ผู้เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนจากจังหวัดบุรีรัมย์สะท้อนถึงหลักการจัดทำธรรมนูญชุมชนไว้ว่า “ติดดิน กินได้ ยืดหยุ่น”

ที่สำคัญ ธรรมนูญชุมชนยังเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมให้เกิดการทำงานข้ามศาสตร์ ข้ามภาคส่วน โดยมีชุมชนเป็นตัวตั้งได้เป็นอย่างดีในสถานการณ์ที่ชุมชนในปัจจุบันมีโครงการพัฒนามากมายหลากหลายรูปแบบเข้าไปในพื้นที่ การกำหนดธรรมนูญชุมชนจึงเป็นวิธีหนึ่งในการตั้งรับกับโครงการและนโยบายที่เข้ามาในพื้นที่ โดยเอาความต้องการของชุมชนเป็นตัวตั้ง และเป็นการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีอำนาจในการจัดการตนเอง

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image