เวเนซุเอลาในสื่อไทย : ดราม่า vs ความจริง (ภาค 2) โดย กานดา นาคน้อย

หลังการเผยแพร่บทความเรื่อง“เวเนซุเอลาในสื่อไทย : ดราม่า vs ความจริง” [1] มีผู้อ่านส่งดรามาเพิ่มเติมมาพร้อมคำถาม บางประเด็นมีประโยชน์ฉันจึงนำมาเรียบเรียงในบทความนี้

1. สหรัฐอเมริกามีบทบาทอย่างไร?

ดราม่า 1.1 : ไอ้กันมันวางยา ทำสงครามเศรษฐกิจ
ความจริง 1.1 : รัฐบาลชาเวซและรัฐบาลมาดุโรเลือกอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเอง

เอกวาดอร์ก็ส่งออกน้ำมันแต่ไม่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเหมือนเวเนซุเอลา นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของเวเนซุเอลาทำให้เกิดการเก็งกำไรใน“ตลาดมืด” ลุกลามจากตลาดเงินตราไปถึงตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ภาวะสินค้าขาดแคลน(แม้กระทั่งกระดาษชำระ)ทำให้พ่อค้าไปซื้อสินค้าที่ชายแดนโคลอมเบียแล้วนำมาขายต่อด้วยราคาที่สูงกว่าราคาสินค้าที่รัฐบาลกำหนด

ที่ตลาดชายแดนพ่อค้าจากเวเนซุเอลาที่ไม่มีเงินดอลลาร์ใช้เงินโบลิวาร์จ่ายแล้วได้เงินทอนเป็นเงินเปโซของโคลอมเบีย (คล้ายการที่คนไทยไปซื้อของที่ชายแดนลาวด้วยเงินบาทแล้วได้เงินทอนเป็นเงินกีบ) ส่วน“อัตราโบลิวาร์ต่อดอลลาร์”นั้นคำนวณด้วยการคูณ“อัตราโบลิวาร์ต่อเปโซ”ด้วย”อัตราเปโซต่อดอลลาร์” พ่อค้าชาวโคลอมเบียรับเงินโบลิวาร์ไปซื้ออะไร? สินค้าราคาถูกจากเวเนซุเอลาที่พ่อค้าโคลอมเบียต้องการคือน้ำมัน ยิ่งเงินทอนน้อยลงก็ยิ่งแปลว่าพ่อค้าชาวโคลอมเบียอยากได้เงินดอลลาร์มากกว่าเงินโบลิวาร์ เงินโบลิวาร์ก็ยิ่งอ่อนลง พ่อค้าชาวเวเนซุเอลาก็เอาไปขายต่อด้วยราคาสูงขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นภาวะอภิมหาเงินเฟ้อ รัฐบาลเวเนซุเอลาปิดชายแดนโคลอมเบียได้เพียงปีเดียวก็ต้องเปิดใหม่นื่องจากภาวะสินค้าขาดแคลน ชายแดนโคลอมเบียกลายเป็นช่องทางอพยพออกจากโคลอมเบียด้วย

Advertisement

คำว่า“ตลาดมืด”มีนัยยะลึกลับ แต่การให้หรือรับเงินดอลลาร์หลายแบบไม่ได้ลึกลับ สมมุติว่าคนเวเนซุเอลาที่ทำงานที่สหรัฐฯเดินทางไปเวเนซุเอลา ไม่เอาเงินโบลิวาร์ไปและให้พี่น้องออกค่าใช้จ่าย เมื่อพี่น้องมาสหรัฐฯก็ไม่เอาเงินดอลลาร์มาแล้วให้เขาออกค่าใช้จ่าย กรณีนี้ก็เป็น“ตลาดมืด” ถ้าเขาให้เงินดอลลาร์กับพี่น้องจะผิดกฎหมายเวเนซุเอลา แต่ยากที่รัฐบาลเวเนซุเอลาจะห้ามได้เพราะไม่สามารถบังคับให้ผู้โดยสารขาเข้าทุกคนเปลือยกายเพื่อตรวจหาเงินสด

นักเศรษฐศาสตร์นอกเวเนซุเอลาหลายคนเตือนแล้วว่ารัฐบาลควรเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน คนเตือนก็โดนเรียกว่า“พวกไอ้กัน” เว็บไซต์ที่เผยแพร่อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดก็โดนเรียกว่า“พวกไอ้กัน”เช่นกัน รัฐบาลพยายามปิดเว็บไซต์ไปมากหมายหลายเว็บ เหลือเว็บสุดท้ายที่ปิดไม่ได้ เจ้าของเว็บเป็นอดีตทหารชาวเวเนซุเอลาที่ลี้ภัยมาสหรัฐฯ เป็นไปได้ไหมว่าผู้สนับสนุนเขาคือ“ไอ้กัน” [2]

ตราบใดที่ชายผู้นี้ไม่โดนข้อหาฟอกเงินเจ้าหน้าที่ก็ขอดูบัญชีโอนเงินไม่ได้ อาจเป็น“พวกไอ้กัน”ก็ได้ อาจเป็นเศรษฐีเวเนซุเอลาที่อยู่ในสหรัฐฯ มีเศรษฐีเวเนซุเอลาในสหรัฐฯมานานตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น นักเบสบอลเมเจอร์ลีก (ปัจจุบันมีเกือบ 100 คน) นักเบสบอลหลายคนเรียกร้องทางโซเชียลมีเดียให้สหประชาชาติแทรกแซงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เวเนซุเอลา [3] หรืออาจเป็นเศรษฐีสัญชาติใดก็ได้ที่อยากได้บ่อน้ำมันที่เวเนซุเอลา ยากจะสรุปว่าใครสนับสนุน

Advertisement

ดราม่า 1.2 : ไอ้กันมันวางยา หลอกให้กู้จนหนี้ท่วมหัว
ความจริง 1.2 : ยังไม่มีหลักฐานว่าอดีตรัฐมนตรีคลังเวเนซุเอลาโดนเจ้าหนี้อเมริกันล่อลวง

เจ้าหนี้ต่างชาติมีทั้งสถาบันการเงินและบริษัทน้ำมันต่างชาติ มีสารพัดสัญชาติ อเมริกัน จีน รัสเซีย แคนาดา บราซิล ฯลฯ ส่วนเจ้าหนี้ในประเทศนั้นรัฐบาลเวเนซุเอลาขายพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินดอลลาร์ให้สถาบันการเงินและประชาชน ทำไมไม่ออกพันธบัตรสกุลเงินโบลิวาร์ขายในประเทศ? การเอาเงินสกุลดอลลาร์มาล่อก็คือการบอกประชาชนว่าเงินสกุลโบลิวาร์ไม่มั่นคงเท่าดอลลาร์

เป็นไปได้ว่าเจ้าหนี้ต่างชาติบางรายเชื้อเชิญให้รัฐบาลเวเนซุเอลากู้มากๆเพื่อล่อเข้า“กับดักหนี้” (Debt trap)เพราะอยากยึดทรัพย์สินในภายหลัง อาทิ หุ้นในบริษัทน้ำมันที่สหรัฐฯและยุโรป แท่นขุดเจาะน้ำมันและบ่อน้ำมันสำรองในเวเนซุเอลา แต่รัฐบาลเวเนซุเอลาเคยเผชิญวิกฤติหนี้สาธารณะในปี 2526 ไม่รู้จริงๆหรือว่าหนี้ระดับไหนไม่เกินกำลังการใช้หนี้? โดนหลอกอย่างไร้เดียงสามานานเกิน 10 ปีหรือ?

คนหนึ่งที่ควรรู้คำตอบคือชายชื่อ“อเลฮานโดร อันดราเด” (Alejandro Andrade) เขาเป็นอดีตรัฐมนตรีคลังคนหนึ่งของรัฐบาลชาเวซและออกนอกประเทศไปแล้ว สมาพันธ์สื่อมวลชนสืบสวนนานาชาติ (ICIJ) รายงานว่าเขาใช้บัญชีธนาคารที่สวิตเซอร์แลนด์ทำธุรกรรมในนามของรัฐบาล [4] หนังสือพิมพ์ไมอามี่เฮอร์ราลด์รายงานว่าเขาใช้ชีวิตอย่างมหาเศรษฐีกับครอบครัวที่มลรัฐฟลอริดาที่สหรัฐฯ และกำลังโดนสอบสวนด้วยข้อหาฟอกเงิน [5]

เป็นไปได้หรือไม่ว่าอดีตรัฐมนตรีคลังคนนี้หักหลังชาเวซและทำงานให้“ไอ้กัน”? การที่เขามีบ้านที่สหรัฐฯก็ไม่ได้หมายความว่าเขาใช้หนังสือเดินทางอเมริกัน เขาอาจมีหนังสือเดินทางชาติอื่นที่เข้าออกสหรํฐฯในระยะสั้นได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า ต้องติดตามต่อไปว่า“ไอ้กัน”จะเอาผิดเขาด้วยข้อหาฟอกเงินในอนาคตหรือไม่? ธนาคารที่สวิตเซอร์แลนด์จะโดนข้อหาฟอกเงินด้วยหรือไม่? “ไอ้สวิส”มีบทบาทอย่างไร?

สวิตเซอร์แลนด์ลอยตัวอยู่เหนือประเทศอื่นด้วยสถานะเป็นกลาง ทำให้ธนาคารสวิสได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายความลับทางการเงิน สวิตเซอร์แลนด์จึงกลายเป็นทางผ่านหรือปลายทางของเงินจากผู้มีอำนาจทั่วโลก สวิตเซอร์แลนด์ปฏิเสธไม่ร่วมเป็นสมาชิกสหประชาชาติตมาหลายทศวรรษ แต่ก็โดนกดดันจนยอมเป็นสมาชิกเมื่อ 16 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็บังคับใช้กฎหมายฟอกเงินกับธนาคารสวิสได้ง่ายขึ้นจนธนาคารสวิสบางแห่งปิดกิจการไป

2. นโยบายประชานิยมคืออะไรกันแน่?

นโยบายประชานิยมคือนโยบายที่ทำให้ประชาชนชื่นชมจนเลือกนักการเมืองจากพรรคการเมืองที่นำเสนอนโยบายหรือดำเนินนโยบายแล้ว นโยบายประชานิยมมักโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีผลเชิงบวกในระยะสั้นแต่มีผลเชิงลบในระยะยาว เช่น ไม่ยั่งยืนและอาจทำให้เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะ ทำให้ประชาชนงอมืองอเท้า ฯลฯ ข้อวิจารณ์ดังกล่าวอาจจริงหรือไม่จริงก็ได้ นโยบายประชานิยมอาจมีผลเชิงบวกในระยะยาวก็ได้หรือไม่มีผลระยะยาวก็ได้ ยกตัวอย่าง

ก) นโยบายสวัสดิการรักษาพยาบาลเป็นการรักษาสุขภาพและยกระดับคุณภาพแรงงาน เป็นการลงทุนที่นำไปสู่การเพิ่มผลผลิตในระยะยาว แนวคิดนี้สร้างความชอบธรรมให้สวัสดิการรักษาพยาบาลในประเทศต่างๆ

ข) นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ขี่จักรยานไปทำงาน [6] ถ้ารัฐมนตรีทุกคนและนายกรัฐมนตรีในอนาคตเลียนแบบก็จะช่วยลดงบประมาณด้านยานพาหนะในระยะยาว

ค) ผู้ชนะเลือกตั้งประธานาบดีเม็กซิโกขอลดเงินเดือนตัวเอง 60% [7] ถ้ารัฐมนตรีทุกคนและประธานาธิบดีในอนาคตเลียนแบบก็จะช่วยลดงบประมาณในระยะยาว

3. วิกฤตเวเนซุเอลาเป็นความล้มเหลวของสังคมนิยมหรือทุนนิยม?

วิกฤตเวเนซุเอลาเป็นความล้มเหลวของการผสมสังคมนิยมกับทุนนิยมด้วยสูตรของเวเนซุเอลา ประเทศต่างๆปัจจุบันผสมสังคมนิยมกับทุนนิยมด้วยสูตรต่างๆ สาระสำคัญอยู่ที่โครงสร้างกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน และกลไกการกระจายทรัพย์สินและแรงงาน

แม้แต่สหรัฐฯก็มีส่วนผสมที่เป็นสังคมนิยมไม่ได้เป็นทุนนิยม 100% เรียกกันสั้นๆว่าประเทศทุนนิยมหมายความว่ามีความเป็นทุนนิยมมากกว่าหลายประเทศ เอกชนที่สหรัฐฯไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ทุกอย่าง ยังมีทรัพย์สินของรัฐ อาทิ สนามบิน ท่าเรือ รถไฟฟ้า ทางด่วน โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย คอนโดมีเนียม สวนสาธารณะ สนามกอล์ฟ ป่าสงวน อุทยาน ฯลฯ คำว่า“ของรัฐ”อาจเป็นของเมือง ของมลรัฐ หรือของรัฐบาลกลางก็ได้ เพราะสหรัฐฯบริหารราชการแบบกระจายอำนาจ ยกตัวอย่าง สนามบินลอสแองเจลิสเป็นของเมืองลอสแองเจลิส สนามบินเจเอฟเคเป็นของเมืองนิวยอร์ค สนามบินโฮโนลูลูเป็นของมลรัฐฮาวาย สนามบินฐานทัพเป็นของรัฐบาลกลาง

ส่วนกลไกการกระจายทรัพย์สินและแรงงานในภาคเอกชนใช้กลไกตลาด แต่บางตลาดก็มีการควบคุมราคาและให้เงินอุดหนุน เช่น รัฐกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ รัฐอุดหนุนเกษตรกรบางประเภท บางเขตมีการควบคุมค่าเช่าบ้านและให้เงินอุดหนุนค่าเช่าบ้าน คอนโดมีเนียมบางยูนิตในบางเมืองโดนควบคุมเพดานราคาเพื่อขายให้ผู้มีรายได้น้อย ฯลฯ ในภาครัฐใช้กลไกผสมระหว่างการกำหนดราคาโดยรัฐและกลไกตลาด ค่าแรงในภาครัฐมีทั้งแบบกำหนดเป็นขั้นและแบบต่อรองสัญญากันเป็นรายบุคคล

ไม่มีประเทศทุนนิยม 100% แล้วมีประเทศสังคมนิยม 100% ไหม? ที่จริงรัฐบาลเกาหลีเหนือและคิวบาอนุญาตให้มีกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเอกชนบางอย่าง เกาหลีเหนือให้กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินแก่บริษัทเอกชนจากต่างชาติในเขตเศรษฐกิจพิเศษ [8] ภูฎานก็เช่นกัน [9] ส่วนคิวบาอนุญาตให้บางอาชีพมีรถยนต์ได้ เช่น แพทย์และนักการทูต [10] ผู้อ่านบางคนอาจแย้งว่าในอนาคตจะมีสังคมนิยม 100% นั่นก็เป็นเรื่องของอนาคตและผู้อ่านก็มีสิทธิเชื่อเช่นนั้น

 

หมายเหตุ : ผู้อ่านสามารถแลกเปลี่ยนทัศนะได้ที่ https://twitter.com/kandainthai

 

อ้างอิง

[1] กานดา นาคน้อย (2018). เวเนซุเอลาในสื่อไทย : ดราม่า vs ความจริง, มติชนออนไลน์

https://www.matichon.co.th/article/news_1103888

[2] Anatoly Kurmanaev (2016). Venezuela’s nemesis is a hardware salesman at a home depot in Alabama, The Wall Street Journal.

https://www.wsj.com/articles/venezuelas-nemesis-is-a-screw-salesman-at-a-home-depot-in-alabama-1479672919

[3] Ted Berg (2017). Venezuelan MLB players speak out about country’s humanitarian crisis, USA Today

https://ftw.usatoday.com/2017/05/mlb-players-venezuela-crisis-cervelli-miguel-cabrera-salvador-perez-speak-up

[4] International Consortium of Investigative Journalists (2015). Swiss Leaks: HSBC Files.

https://projects.icij.org/swiss-leaks/people/alejandro-andrade

[5] Jay Weaver and Antonio Maria Delgado (2018).  Ex-Venezuelan Treasurer close to Chavez is target of Florida money-laundering probe, Miami Herald. https://www.miamiherald.com/news/local/article207503694.html

[6] Henry Robertshaw (2017). Dutch PM forms new government; rides his bike to the palace to tell the King, Cycling Weekly.

https://www.cyclingweekly.com/news/latest-news/dutch-pm-forms-new-government-rides-his-bike-to-the-palace-to-tell-the-king-and-even-locks-it-up-355466

[7] Mattha Busby (2018). Incoming Mexican president takes 60% pay cut in governmenta austerity push, The Independent.

https://www.independent.co.uk/news/world/americas/mexico-president-elect-lopez-obrador-pay-cut-austerity-government-push-a8449186.html

[8] Eric Yong-Joong Lee (2003). The Special Economic Zones and North Korean Economic Reformation with a Viewpoint of International Law, Fordham International Law Journal https://ir.lawnet.fordham.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1937&context=ilj

[9] Tshering Dorji (2015). Indian investors explore Bhutan’s potential, Kuensel Online.

http://www.kuenselonline.com/indian-investors-explore-bhutans-potential/

  [10] Polly Mosendz (2014). Cuba Finally Makes It Easier to Buy Cars, but No One Can Afford Them, The Atlantic.

https://www.theatlantic.com/business/archive/2014/07/cuban-law-finally-makes-it-easier-to-buy-cars-but-no-one-can-afford-them/373764/

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image