รัฐประหารนายสิบของคิวบา โดย : โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

อดีตประธานาธิบดีบาติสตา

วันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2561) เป็นวันครบรอบ 85 ปี ของการรัฐประหารนายสิบที่คิวบาซึ่งเป็นแบบอย่างแรงบันดาลใจให้แก่ความพยายามของกบฏนายสิบของประเทศไทยอีก 2 ปีต่อมาซึ่งทั้งรัฐประหารนายสิบกับกบฏนายสิบทั้ง 2 ปรากฏการณ์นี้จบไม่สวยด้วยกันทั้งคู่ แต่ก็เป็นเรื่องรัฐประหารนายสิบของคิวบาเป็นประวัติศาสตร์ที่ควรเรียนรู้เพื่อเป็นอุทาหรณ์ในเรื่องการทำรัฐประหารต่อไปในอนาคต

นายฟุลเคนเซียว บาติสตา อี ซัลดีบาร์ (เรียกสั้นๆ ว่าบาติสตา) เป็นชาวคิวบาเลือดผสมระหว่างสเปน นิโกร อินเดียนแดงและจีน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเนื่องจากเกาะคิวบาเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชาวอินเดียนแดงเผ่าไทโน ถูกสเปนเข้าปกครองถึง 405 ปี สเปนใช้คิวบาเป็นแหล่งปลูกอ้อยเพื่อผลิตเป็นน้ำตาลซึ่งจำเป็นต้องใช้แรงงานทาสจำนวนมากจึงนำทาสนิโกรจากทวีปแอฟริกามาเป็นแรงงานปลูกอ้อย ต่อมามีการเลิกทาสแต่ยังต้องการแรงงานเพื่อทำงานหนักจึงมีการนำเข้ากุลีจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ผู้คนในหมู่เกาะของทะเลแคริบเบียนจึงมีเลือดผสมแบบนี้เป็นปกติ

นายบาติสตาเกิดเมื่อ พ.ศ.2444 อยู่กับแม่สองคนครั้นแม่ตายเมื่อเขาอายุได้ 14 ปี เขาต้องออกจากบ้านเร่ร่อนหางานทำโดยทำงานทุกอย่างตั้งแต่กรรมกรแบกหาม คนงานในไร่อ้อย คนขายของ ช่างเครื่องยนต์ ช่างตัดเสื้อ ฯลฯ แต่เนื่องจากเป็นคนรักความก้าวหน้าเขาได้มีโอกาสเรียนวิชาชวเลข (วิธีการเขียนข้อความอย่างย่อด้วยสัญลักษณ์ เพื่อเพิ่มความเร็วในการเขียนหรือการจดบันทึก เมื่อเทียบกับการเขียนปกติธรรมดาในภาษาหนึ่งๆ ขั้นตอนของการเขียนให้เป็นชวเลขเรียกว่าการเขียนชวเลข)
ซึ่งทำให้เขาได้สมัครเป็นทหารเหล่าสื่อสารได้ยศเป็นสิบตรีและทำหน้าที่เป็นเลขานุการของบรรดากลุ่มทหารชั้นประทวนของค่ายโคลัมเบียในกรุงฮาวานาที่ริเริ่มคิดการรัฐประหารในคิวบาเมื่อ พ.ศ.2476

โทรศัพท์ทองคำแท้ สัญลักษณ์คอร์รัปชั่น

หลังจากโค่นล้มการปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยมของเคราร์โด มาชาโด จากนั้น บาติสตาแต่งตั้งตนเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วยยศพันเอก และแต่งตั้งประธานาธิบดีของคิวบาให้เป็นหุ่นเชิดของเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขารักษาการควบคุมนี้ผ่านประธานาธิบดีหุ่นเรื่อยมาจนกระทั่งบาติสตาก็สมัครเข้าแข่งขันเป็นประธานาธิบดีเสียเองใน พ.ศ.2483 เมื่อตัวเขาเองได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคิวบาแล้ว จากนั้นประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งคิวบา พ.ศ.2483 ซึ่งจัดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้าเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในขณะนั้น และดำรงตำแหน่งกระทั่ง พ.ศ.2487

Advertisement

หลังหมดวาระการเป็นประธานาธิบดี เขาได้อพยพไปอาศัยในสหรัฐอเมริกาเมื่อตอนอายุได้ 43 ปี และกลับมาคิวบาเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกใน พ.ศ.2495 แต่เมื่อแน่ใจว่าตนจะแพ้การเลือกตั้ง บาติสตา
จึงทำการรัฐประหารอีกครั้งก่อนการเลือกตั้งโดยตั้งตัวเป็นประธานาธิบดีเองโดยไม่เสแสร้งอะไรทั้งสิ้น

หลังครองอำนาจอีกครั้ง ในตอนนี้บาติสตาระงับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2483 และเพิกถอนเสรีภาพทางการเมืองส่วนใหญ่ รวมทั้งสิทธิในนัดหยุดงานประท้วง เขาเข้าไปคบค้าสมาคมกับเจ้าของที่ดินที่มั่งคั่งที่สุดผู้เป็นเจ้าของไร่น้ำตาลขนาดใหญ่ที่สุด และเฝ้ามองเศรษฐกิจที่ซบเซาและเห็นช่องว่างระหว่างชาวคิวบารวยกับจนที่ขยายกว้างขึ้น

ฟิเดล คาสโตร (ซ้าย) กับเช เกบารา สหายศึกผู้โค่นล้มรัฐบาลบาติสตา

รัฐบาลที่คอร์รัปชั่นอย่างหน้าด้านๆ และกดขี่เพิ่มขึ้นของบาติสตานั้นเริ่มหาแสวงหาประโยชน์จากผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ของคิวบา โดยการเจรจาความสัมพันธ์ผลประโยชน์สูงกับมาเฟียอเมริกา ผู้ควบคุมธุรกิจยาเสพติด การพนันและโสเภณีในกรุงฮาวานา และบรรษัทข้ามชาติอเมริกาขนาดใหญ่ที่ได้ลงทุนด้วยปริมาณเงินมหาศาลในคิวบา

Advertisement

ในการปราบปรามความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้นในหมู่ประชาชน ซึ่งแสดงออกผ่านการจลาจลนักศึกษาและการเดินขบวนต่อต้านบาติสตาตามลำดับ บาติสตาจัดการเซ็นเซอร์สื่อ ขณะที่ใช้ประโยชน์จากตำรวจลับต่อต้านคอมมิวนิสต์และอาวุธที่สหรัฐอเมริกาจัดหาให้เพื่อดำเนินความรุนแรง การทรมานและการประหารชีวิตสาธารณะเป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นผลให้ชาวคิวบาเสียชีวิตมากถึง 20,000 คน

เมื่อรัฐบาลเป็นทรราชเช่นนี้ก็เกิดขบวนการโค่นล้มรัฐบาลนำโดยนายฟิเดล คาสโตร และส่วนกบฏชาตินิยมอื่นนำการลุกฮือแบบกองโจรทั้งในเมืองและชนบทต่อรัฐบาลบาติสตาเป็นเวลาสองปี ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของของฝ่ายรัฐบาลโดยกบฏภายใต้การบัญชาการของเช เกบารา ณ ยุทธการที่เมืองซันตากลาราในวันขึ้นปีใหม่ของ พ.ศ.2502

บาติสตาบินหลบหนีออกจากเกาะทันทีพร้อมกับทรัพย์สินส่วนตัวที่เขาสะสมไว้ไปยังสาธารณรัฐโดมินิกันก่อน ต่อมาบาติสตาลี้ภัยทางการเมืองไปยังโปรตุเกส ที่ซึ่งเขาอยู่อาศัยกระทั่งเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2516 ที่ประเทศโปรตุเกสนั่นเอง

ครับ ! เป็นอุทาหรณ์เรื่องรัฐประหารแหละครับ แล้วแต่ใครจะได้ข้อคิดบทเรียนอะไร ก็ตัวใครตัวมันนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image