วนลูปปฏิรูปการศึกษา โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ข่าวเรื่องสภาแต่งตั้งของ คสช.อนุมัติงบประมาณสำหรับลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาลงสิบเท่า ทำให้ผมต้องไปอ่านและฟังเรื่องเกี่ยวกับปฏิรูปการศึกษา ซึ่งคนที่ได้รับแต่งตั้งจาก คสช.อีกนั่นแหละได้คิดขึ้น เป็น “แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579”

อ่านและฟังแล้วก็ไม่ซาบซึ้งอะไรนัก เพราะกว่าสิบปีมาแล้วที่ต้องมีหน้าที่ฟังเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาอยู่บ่อยๆ ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ก็ได้ยินสำบัดสำนวนนี้ และแนวคิดทำนองนี้อยู่เสมอ จนรู้สึกว่าเป็น “ภาษาถิ่น” อีกอย่างหนึ่งที่เผ่านักปฏิรูปการศึกษาใช้ในชีวิตการประชุม

ในฐานะคนนอกกระแสและแก่เสียจนตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ผมมีข้อสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับกระแสความคิดเรื่องปฏิรูปการศึกษาของ คสช. 4 ประการ

1.ขอเริ่มจากเรื่องต้องการเงินจำนวนมาก เพื่อเอาเด็กยากจนมาเข้าโรงเรียน ความคิดเรื่องเอาเด็กเข้าโรงเรียนนั้นมีในหมู่นักการศึกษาไทยมานานแล้ว อย่างน้อยที่ผมนึกออกก็มีมาตั้งแต่ครั้ง “ถนอม-ประภาส” แล้ว แต่สิ่งที่ไม่ค่อยนึกกันก็คือทำไมไม่คิดเอาโรงเรียนไปหาเด็กบ้าง พูดอีกอย่างหนึ่งคือจัดรูปแบบการศึกษาให้มีความหลากหลาย พอที่จะตอบสนองชีวิตที่หลากหลายของผู้คน เช่น โรงเรียนที่สอนเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ โรงเรียนที่ไม่สอนอะไรเลย แต่มีครูประจำการเพื่อช่วยตอบคำถามแก่ผู้เรียนด้วยตนเอง (ต่อหน้าผู้เรียนหรือผ่านสื่ออื่นก็ตาม) โรงเรียนคือห้องสมุดชุมชนที่ดีพอสมควรกระจายทั่วประเทศ โรงเรียนคือห้องเรียนที่อาสาสมัครช่วย “สอนน้อง” ได้สะดวก ฯลฯ คิดไปเถิดครับ การทำให้คนต่างสถานะทางเศรษฐกิจ, ปูมหลังครอบครัว, วัฒนธรรม, ชาติพันธุ์ ฯลฯ สามารถเรียนรู้ได้นั้น มีรูปแบบนับไม่ถ้วน

Advertisement

ดังนั้น แทนที่จะเอาเงินสองหมื่นห้าพันล้านไปแจกให้เด็กยากจนได้ไปโรงเรียน เอาเงินจำนวนนี้หรือมากกว่านี้ก็ได้ ไปจัดให้โรงเรียนเข้าถึงเด็กยากจนไม่ดีกว่าหรือ (หรือถึงไม่ยากจนแต่ตกอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่อาจไปหรือไม่อยากไปโรงเรียนด้วย)

ใน “แผน 20 ปี” พูดถึงโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 120 ซึ่งก็แน่นอนว่าได้งบประมาณน้อย จึงไม่มีคุณภาพ ตั้งเป้าจะลดโรงเรียนประเภทนี้ลงด้วย แต่จะลดอย่างไรไม่ทราบได้ หากไม่มีความคิดว่า ด้วยงบประมาณจำกัด จะทำให้โรงเรียนเช่นนี้มีคุณภาพได้อย่างไร เรียนในรูปแบบเดิมนั้นไม่ได้แน่ แต่ในรูปแบบอื่นล่ะ จะทำให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพในโรงเรียนขนาดเล็กได้หรือไม่

รูปแบบที่หลากหลายของการเรียนรู้เช่นนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แต่การศึกษาระดับประถม-มัธยม แม้แต่อุดมศึกษาก็อาจทำได้ไม่ต่างจากกัน ควรคิดถึงการนำมหาวิทยาลัยไปถึงที่ทำงาน, บ้านเรือน, สลัม, ท้องนา, ฯลฯ อย่ามัวแต่คำนึงถึงการลงทุนด้านอุดมศึกษาในมาเลเซียว่าสูงกว่าเรา 6 เท่า และไต้หวัน 10 เท่า ก็ยอมรับกันไม่ใช่หรือว่าประเทศไทยลงทุนด้านการศึกษา โดยเฉพาะในระดับภาคบังคับสูงมาก แต่คุณภาพแย่มาก

ใน “แผน 20 ปี” ยังระบุความประสงค์จะให้อัตราเฉลี่ยประชากรที่ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น ถ้าต้องการอย่างนั้นจริง ก็ควรรื้อรั้วของมหาวิทยาลัยลงเสียบ้าง

2.“แผน 20 ปี” เอาความต้องการของรัฐเป็นตัวตั้งในแผนการศึกษา เท่าที่ผมอ่านเข้าใจประกอบด้วย 5 ส่วนคือได้คุณภาพตาม “มาตรฐาน”, ได้กำลังคนตามความต้องการทางเศรษฐกิจ, สถิติผู้สำเร็จการศึกษาได้งานทำเพิ่มขึ้น, สัดส่วนของผู้เรียนสายต่างๆ เหมาะสมกับความต้องการของประเทศ และคุณภาพของวัยแรงงานเพิ่มขึ้นโดยรวม

จะขอไม่พูดถึงเรื่องว่า พวกนักปฏิรูปเหล่านี้ รู้ความต้องการของประเทศได้อย่างไร ใครเป็นคนเข้าฝัน พิจารณาจากความต้องการห้าข้อนั้นแล้วก็เห็นหน้าคนเข้าฝันได้ชัดว่ามาจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งไม่เคยเห็นคนเป็นคนมากไปกว่า “แรงงาน”

ความคิดของคนโบราณอย่างผมก็คือ การศึกษามีไว้เพื่อผู้เรียน ไม่ใช่คนอื่นใดทั้งสิ้น แต่ความคิดว่าการศึกษามีไว้เพื่อคนอื่น นับตั้งแต่พระเจ้าลงมาถึงองค์กรสงฆ์, เจ้านาย, และพ่อค้ายิ่งโบราณขึ้นไปกว่านั้นเสียอีก

ในโลกข้างหน้า รู้กันอยู่แล้วว่าฝีมือแรงงานจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรมากขึ้นกว่าที่ได้ผ่านมาแล้ว ปัญหาก็คือคนส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรในสองด้าน คือจะเลี้ยงตัวได้อย่างไร และจะใช้เวลาว่างในชีวิตที่เพิ่มขึ้นไปในทางใด ผมไม่คิดว่าจะมีใครให้คำตอบแทนคนอื่นได้จริง ดังนั้น อย่างมากที่สุดที่การศึกษาจะทำได้คือ เพิ่มสมรรถภาพในทุกทางให้แก่คน และต้องทำตลอดชีวิตของเขาด้วย การศึกษาไม่ใช่การกันเวลาจำนวนหนึ่งในวัยเด็กและหนุ่มสาว เอามาฝึกฝีมือเพื่อเข้าสู่โรงงานหรือออฟฟิศอีกต่อไปแล้ว การศึกษาจึงไม่จำกัดอยู่แต่ในสถาบันการศึกษา แต่ต้องอยู่ทั่วไปในชีวิตคน แม้ว่า “แผน 20 ปี” จะพูดถึงสังคมแห่งการเรียนรู้ แต่ก็แทบไม่ได้พูดถึงการสร้างเครื่องมือและสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่สังคมดังกล่าว นอกจากอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทุกหมู่บ้านตำบล ห้องสมุด, วงเสวนา, ห้องเรียนชั่วคราว, สื่อ, ฯลฯ อันเป็นเวทีแห่งการเรียนรู้เสียยิ่งกว่าห้องเรียน ถูกละเลยหรือปล่อยไว้เหมือนเดิมทุกอย่าง

และเพราะนักปฏิรูปการศึกษาไม่ได้คิดถึงประโยชน์แก่ผู้เรียนเท่ากับประเทศชาติ “แผน 20 ปี” จึงเต็มไปด้วยการแข่งขัน ทั้งแข่งด้านคุณภาพการศึกษา และด้านผลิตภาพอันอาจเกิดจากการศึกษา มาตรวัดที่นักปฏิรูปการศึกษาถือเป็นสากลทั้งหลายถูกนำมาใช้เพื่อจัดลำดับในการเปรียบเทียบ โดยไม่มีการตั้งคำถามความน่าเชื่อถือของมาตรเหล่านั้น (ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันเกิดคำถามเชิงสงสัยมากขึ้นทุกที)

การเปรียบเทียบนั้นมีประโยชน์แน่ เพราะประสบการณ์ของประเทศอื่นอาจให้คำตอบแก่ปัญหาบางอย่างในบ้านเราที่ยังแก้ไม่ได้ แต่เปรียบโดยไม่มีคำถามอะไรเลย ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเหมือนกัน หรือตั้งคำถามที่ตื้นเขินเกินไป ก็จะเหนื่อยเปล่าๆ นักปฏิรูปการศึกษาควรทบทวนตัวเองให้ดีว่า ที่เอาประเทศไทยไปเทียบกับประเทศโน้นประเทศนี้ทั่วโลกนั้น มาจากคำถามอะไรในใจ คำถามนั้นแหลมคมหรือตื้นเขิน?

3.ยุทธศาสตร์แรกของ “แผน 20 ปี” คือการศึกษาเพื่อความมั่นคง หนึ่งในสิ่งที่ต้องการเพิ่มขึ้นในการศึกษาขั้นพื้นฐานคือ “ความรักและการธำรงรักษาสถาบันหลักของชาติ” นอกจากนั้นก็ความเป็นพลเมืองและสำนึกต่อสังคมพหุวัฒนธรรม น่าเสียดายที่ไม่มีการระบุชัดเจนว่าความเป็นพลเมืองนั้น หมายถึงพลเมืองของรัฐประชาธิปไตยหรือรัฐกึ่งประชาธิปไตย หรือรัฐเผด็จการ นักปฏิรูปฯคงรู้อยู่แล้วว่า รัฐสามอย่างนี้ต้องการสำนึกพลเมืองที่ต่างกันมาก

สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้าใจและใช้กันในเมืองไทยมีความหมายแคบมาก คือมุ่งเอาความต่างด้านชาติพันธุ์เป็นหลัก แต่ความต่างด้านนี้เสียอีกที่โดยธรรมชาติของสังคมสมัยใหม่แล้ว จะค่อยๆ ลดน้อยถอยลง จนเหลือสัญลักษณ์เพียงบางอย่างที่ถูกยึดไว้เป็นอัตลักษณ์เท่านั้น พหุวัฒนธรรมที่โดดเด่นในสังคมสมัยใหม่คือวิถีชีวิต, ความคิดทางสังคมและการเมือง, ระบบคุณค่า, รสนิยม, ฯลฯ ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วของคนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ถ้าฝึกให้คนไทยมีความสามารถจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมแบบนี้ได้สำเร็จ นิยามของยุทธศาสตร์ความมั่นคงสองข้อแรกก็คงต่างกันอย่างมากในบรรดาคนไทยด้วยกันเอง

มันยุ่งอย่างนี้แหละครับพี่น้อง เพราะสังคมและรัฐของโลกปัจจุบันและข้างหน้ากำลังเปลี่ยนไป แตกต่างจากจินตกรรมเกี่ยวกับสังคมและรัฐที่นักปฏิรูปฯ (หรือแม้คนในวัยผู้ใหญ่ทั่วไป) มีอยู่ในหัวเป็นอย่างยิ่ง

อันที่จริงไม่ต้องมีการศึกษาเพื่อความมั่นคงเลยก็ได้ หรือถ้าต้องมีให้ได้ (ด้วยเหตุใดก็ตาม) ลองเริ่มคิดจากโลกที่เป็นจริงของรัฐและสังคมปัจจุบันที่เห็นอยู่ไม่ดีกว่าหรือ

4.ใครทำแผนการศึกษาปัจจุบันโดยไม่พูดถึงดิจิทัลคงเป็นไปไม่ได้ นักปฏิรูปคนหนึ่งพูดเรื่องนี้ทางทีวีว่า กำลังคิดกันว่าจะมี platform ที่เป็นความรู้ข่าวสารข้อมูล ซึ่งให้การเรียนรู้แก่ใครที่ต้องการได้ ผมไม่ทราบว่าท่านพูดถึง platform หรือ platforms เพราะที่จริงเวลานี้เรามีเวทีแบบนี้อยู่เต็มสื่อออนไลน์อยู่แล้ว ให้ข่าวสารข้อมูลและความรู้ซึ่งขัดแย้งกันเองด้วย และดีที่มันขัดแย้งกันเอง เพราะแสดงว่าไม่มีใครหรือหน่วยงานใดในโลกนี้ที่ผูกขาดความรู้ข่าวสารข้อมูลได้ ความคิดที่ว่าควรมีความรู้ที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวรวบรวมไว้ใน “สารานุกรม” นั้น เป็นความคิดที่ตกยุคไปแล้วในปัจจุบัน และที่จริงควรตกไปก่อนหน้านี้ตั้งนานแล้วด้วย สารานุกรมคือการผูกขาดความรู้ด้วยหมึกพิมพ์ ไม่จำเป็นต้องทำอย่างเดียวกันด้วยขั้วบวกลบของไฟฟ้าอีก

ข้อมูลและความเห็นที่ไม่ตรงกันนั้นกลับเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างความรู้ในโลกปัจจุบัน เพราะความรู้ไม่จำเป็นต้องมีด้านเดียวและเด็ดขาด (absolute) เมื่อมองจากเงื่อนไขอย่างนี้ ความรู้ก็เป็นอย่างหนึ่ง มองจากอีกเงื่อนไขหนึ่ง ความรู้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ที่สำคัญกว่าตัวเนื้อหาคือ สมรรถภาพจะวินิจฉัยได้ว่าเนื้อหาอย่างนี้ มาจากเงื่อนไขอะไรต่างหาก

สมรรถภาพในการประเมินความจริงจากแหล่งข้อมูลที่แตกต่างหลากหลายมีความสำคัญ อย่างที่นักปฏิรูปฯท่านนั้นแสดงความกังวลว่า ต้องรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลอยู่อย่างหนาแน่นบนโลกออนไลน์ แต่ “รู้เท่าทัน” ไม่ควรมีความหมายแต่เพียงรู้ว่าใครผิดใครถูก แต่ควรรู้ไปถึงว่า ที่ว่าถูกหรือจริงนั้น ในเงื่อนไขอะไร และที่ว่าผิดหรือไม่จริงนั้น ในเงื่อนไขอะไร

ความรู้ในโลกปัจจุบันต้องการสมรรถภาพเชิงวิเคราะห์มากกว่าผิด-ถูก จริง-เท็จ เพราะสมรรถภาพเชิงวิเคราะห์ที่แคบเพียงเท่านั้น เปิดโอกาสให้เกิดการครอบงำได้ง่าย การศึกษาในปัจจุบันและอนาคตยิ่งต้องให้ความสำคัญแก่การการปลดปล่อยให้เหนือกว่าการครอบงำ

ถึงเวลาที่จะจัดการศึกษาเพื่อความเป็นไทเสียที หลังจากจัดการศึกษาเพื่อความเป็นไทยมานานจนประเทศถอยหลังลงคลองมาถึงเพียงนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image