สถานีคิดเลขที่12 : เลือก หน.ปชป.

ปี่กลองการเมืองดังขึ้นแล้ว แม้จะยังเปิดเสียงดังไม่ได้ ต้องรอคลายล็อก ปลดล็อกก่อน

ในพื้นที่ต่างๆ คงเห็นการขยับตัว เคลื่อนไหวของนักการเมือง พรรคการเมือง ที่เคยหายหน้าหายตา ตอนนี้ต้องปรากฏตัวให้บ่อยขึ้น มาเองไม่ได้ก็ต้องมีตัวแทน หัวคะแนน ทีมงาน มาแทน

ในภาพกว้าง สื่อต่างๆ รายงานข่าวการตั้งพรรคนั้นพรรคนี้ การย้ายพรรค การดึงตัวในรูปแบบต่างๆ ทั้งในระดับแต่งตั้งให้มีตำแหน่ง และการเดินสายดูดดึงของกลุ่มสามมิตร

พร้อมกับข้อถกเถียงต่างๆ ที่ติดตามมา

Advertisement

ไฮไลต์ที่หลายคนสนใจ คือ การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

หลังจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ประกาศว่า ทางพรรคจะจัดการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ก่อนเข้าสู่การเลือกตั้ง

สำหรับพรรค ปชป.เป็นพรรคเก่าแก่สุดในการเมืองไทยขณะนี้

Advertisement

เป็นตัวละครสำคัญของการเมืองไทยมาตลอด มีระบบแบบแผนหลายอย่างที่พรรคอื่นไม่มี หรือไม่ยอมทำ

ที่เห็นชัด คือการเลือกหัวหน้าพรรค

หัวหน้าพรรค ปชป.เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายคน และไม่ได้เป็นก็หลายคน

ยุคหลังๆ ที่ได้เป็นนายกฯ ได้แก่ นายชวน หลีกภัย และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ที่น่าเสียดายแทน คือ นายพิชัย รัตตกุล ที่นำพรรค ปชป.ชนะเลือกตั้งในปี 2529 ควรจะได้เป็นนายกฯ

แต่พรรคที่สองที่สามคือชาติไทยกับกิจสังคมชิงจับมือกัน ในครั้งนั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ

นายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค ปชป.ที่นำพรรคชนะเลือกตั้งในปี 2535 และก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้นายกฯ และได้เป็นสมัยที่สองในปี 2540 หลังจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เจอเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ

หลังจากนายชวนหมดวาระ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ได้รับเลือกให้ขึ้นทำหน้าที่ ในระหว่างปี 2546-2548 โดยลาออกหลังจากไม่สามารถนำพรรคชนะเลือกตั้งได้

นายอภิสิทธิ์ได้รับเลือกให้เป็นแทน จากปี 2548 จนปัจจุบัน ด้วยความขัดแย้งทางการเมืองที่ชุลมุนชุลเก ทำให้ได้เป็นนายกฯ ในช่วงปี 2551-2554 ต่อมาเมื่อแพ้เลือกตั้งในปี 2554 ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรค แต่ได้รับเลือกกลับมาใหม่

หลังจากพรรคไทยรักไทยเกิดขึ้นในปี 2544 ปชป.พ่ายแพ้ต่อพรรคนี้มาตลอด แม้ว่าไทยรักไทยจะโดนยุบ เปลี่ยนชื่อมา 3 รอบ ปัจจุบันคือพรรคเพื่อไทย

ในการเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 นายอภิสิทธิ์และพรรค ปชป.ประกาศคว่ำบาตร ไม่ส่งผู้สมัคร ก่อนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ

รอบนี้ นายอภิสิทธิ์ประกาศจุดยืนทางการเมือง ที่อาจจะมีบางกลุ่มในพรรคเห็นต่าง การแสดงสปิริตให้เลือกหัวหน้าพรรคก่อนเลือกตั้งถือว่า เป็นจังหวะก้าวที่ดี

ในการเลือกหัวหน้าพรรค อาจมีแทคติคชิงความได้เปรียบบ้าง ก็เป็นเรื่องปกติ แต่สุดท้าย นี่เป็นการใช้กระบวนการประชาธิปไตย ใช้ความเห็นและเหตุผลตัดสินปัญหา ไม่ต้องล้มโต๊ะล้มกระดานกันให้วุ่นวาย

ถ้าพรรคอื่นๆ และนักปฏิรูปทั้งหลาย ใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้บ้าง การกลับสู่การเมืองปกติตามโรดแมป น่าจะเป็นไปโดยราบรื่น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image