Cloud Lovers : ชำแหละข่าว ‘พายุหมุนพร้อมกัน 10 ลูก’ : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

ช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับพายุหมุนเขตร้อนซึ่งมีข้อความพาดหัวคล้ายๆ กัน เช่น “นักวิชาการยังประหลาดใจ เกิดพายุหมุนเรียงรายบนโลกพร้อมกันถึง 10 ลูก” และ “สุดประหลาด….! เกิดพายุหมุนพร้อมกันบนโลก 10 ลูก” ข่าวนี้ถูกแชร์อย่างกว้างขวาง ส่วนเพื่อนผมบางคนก็ถามว่าข่าวนี้จริงไหม?

เพื่อให้ประเด็นคมชัด ผมจะขอใช้รูปแบบถาม-ตอบดังนี้ครับ

ถาม : ประเด็นต้นเรื่องของข่าวนี้มาจากไหน?

Advertisement

ตอบ : ข่าวนี้ มาจากทวิตเตอร์ของ Tim Heller นักอุตุนิยมวิทยาและผู้ประกาศข่าวพยากรณ์อากาศของช่อง ABC13 ดูภาพที่ 1 ครับ

 

 

Advertisement

 

Tim Heller ABC13-So much activity in the tropics
ภาพที่ 1 : ข้อความจากทวิตเตอร์ของ Tim Heller

Tim Heller เขียนว่า “In my 35 years forecasting the weather on TV, I have NEVER seen so much activity in the tropics all at the same time” กล่าวคือ “ตลอดช่วงเวลา 35 ปีที่ผมพยากรณ์อากาศออกทีวี ผมไม่เคยเห็นกิจกรรม (ทางลมฟ้าอากาศ) ในแถบเขตร้อนมากมายเช่นนี้เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งหมดมาก่อน”

ส่วนภาพประกอบก็เป็นแผนที่ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาอยู่กลางภาพ และมีวงกลมๆ 8 วงพร้อมคำบรรยายสั้นๆ จากซ้ายไปขวาดังนี้ “Tropical Storm Olivia”, “Tropical Depression Paul”, “30% Chance”, “70% Chance”, “Hurricane Florence”, “Tropical Storm Isaac”, “50% Chance” และ “Hurricane Helene”

ถาม : ข่าวไทยที่ระบุว่า “พายุหมุน 10 ลูก” ไม่ถูกต้องอย่างไร?

ตอบ : Tim Heller เขียนว่า “activity in the tropics” ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่พายุเฮอริเคน 2 ลูก (ได้แก่ Florence และ Helene) พายุโซนร้อน 2 ลูก (ได้แก่ Olivia และ Isaac) พายุดีเปรสชั่น 1 ลูก (ได้แก่ Paul) และบริเวณที่อาจก่อตัวเป็นพายุหมุนเขตร้อนอีก 3 แห่ง ซึ่งระบุด้วยค่าความน่าจะเป็น (chance) ได้แก่ 30%, 70% และ 50%

ดังนั้น หากนับเฉพาะพายุหมุนเขตร้อนซึ่งคงตัวอยู่พร้อมกันที่ Tim Heller กล่าวถึง ก็มีเพียง 5 ลูกเท่านั้น เป็นเฮอริเคน 2 ลูก โซนร้อน 2 ลูก และดีเปรสชั่น 1 ลูก (พายุหมุนเขตร้อนซึ่งคงตัวอยู่พร้อมกัน ภาษาอังกฤษเรียกว่า simultaneous tropical cyclones หรือ multiple tropical cyclones)

แม้ว่าจะนับรวมพายุไต้ฝุ่นมังคุด (Typhoon Mangkhut) และพายุโซนร้อนบารีจัต (TS Barijat) ซึ่งเกิดทางแถบแปซิฟิกตะวันตกเข้าไปด้วยอีก 2 ลูก ก็จะพบว่าทั้งโลกมีพายุหมุนเขตร้อนที่อาละวาดพร้อมกันรวม 7 ลูก ดูภาพที่ 2 ครับ

Seven Simulataneous TCs
ภาพที่ 2 : พายุหมุนเขตร้อนเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ.2018

ถาม : การเกิดพายุหมุนเขตร้อนจำนวนมากในช่วงเดือนกันยายนนี้ถือว่าปกติหรือไม่?

ตอบ : ลองดูสถิติการเกิดพายุหมุนเขตร้อนทางแถบซีกโลกเหนือ จะพบว่า

มหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตก : พายุไต้ฝุ่นและพายุโซนร้อนจะพีคในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน (ภาพที่ 3 บนสุด)

มหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันออก : พายุเฮอริเคนและพายุโซนร้อนจะพีคในช่วงปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน (ภาพที่ 3 กลาง)

มหาสมุทรแอตแลนติก : พายุเฮอริเคนและพายุโซนร้อนจะพีคในช่วงต้นเดือนกันยายนจนถึงราวกลางเดือน (ภาพที่ 3 ล่าง)

ดังนั้น การเกิดพายุหมุนเขตร้อนจำนวนมากในเดือนกันยายนจึงมีโอกาสเป็นไปได้ค่อนข้างสูง

Typhoon-Hurricane Season-Circled_September
ภาพที่ 3 : ความถี่ในการเกิดพายุไต้ฝุ่น/เฮอริเคน และพายุโซนร้อนในช่วงเดือนต่างๆ (วงกลมตรงกับเดือนกันยายน)
บน: มหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตก กลาง : มหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันออก ล่าง : มหาสมุทรแอตแลนติก

 

ถาม : มหาสมุทรแอตแลนติกเคยมีพายุหมุนเขตร้อนสูงสุดพร้อมกันกี่ลูก?

ตอบ : 5 ลูก ทั้งนี้มีอย่างน้อย 2 เหตุการณ์

เหตุการณ์แรก เกิดในช่วงวันที่ 10-12 กันยายน ค.ศ.1971 มีพายุเฮอริเคน 4 ลูก ได้แก่ Ginger, Edith, Fern กับ Irene และพายุโซนร้อน 1 ลูก ได้แก่ Heidi

เหตุการณ์ที่สอง เกิดในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ.1995 มีพายุเฮอริเคน 3 ลูก ได้แก่ Humberto, Iris และ Luis และพายุโซนร้อน 2 ลูก ได้แก่ Jerry และ Karen

ถาม : มหาสมุทรแปซิฟิกเคยมีพายุหมุนเขตร้อนพร้อมกันสูงสุดกี่ลูก?

ตอบ : 8 ลูก คือ เมื่อวันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.2017 โดยแปซิฟิกฝั่งตะวันตกมีพายุ 4 ลูก ได้แก่ Noru, Kulap, Roke และ Eight-W ส่วนแปซิฟิกกลางและฝั่งตะวันออกมีพายุอีก 4 ลูก ได้แก่ Fernada, Greg, Ten-E และ Nine-E

พายุหมุนเขตร้อนยังมีแง่มุมสนุกๆ อีกหลายอย่าง เอาไว้จะทยอยนำมาเล่าให้อ่านกันครับ!

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
สนใจชมพายุหมุนเขตร้อนเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ.2018 ให้สแกน QR Code

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image