กลยุทธ์ ทักษิณ ชู รัฐประหาร ขึ้นสูงเด่น ประเด็น หาเสียง

บทสรุปจากผลพวงแห่งรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ส่งแรงสะเทือนอย่างลึกซึ้งถึงรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

สัมผัสได้จากท่าทีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

สัมผัสได้จากท่าทีของหลายคนจากพรรคประชาธิปัตย์ และบางส่วนของพรรครวมพลังประชาชาติไทย

รัฐประหาร 2557 จึงสัมพันธ์กับรัฐประหาร 2549

Advertisement

การเปิดเกมผ่านข้อความ 12 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ของ นายทักษิณ ชินวัตร จึงมิได้เป็นการโพสต์อย่างโดดๆ

ตรงกันข้าม โยงไปยังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ตรงกันข้าม วางหมากไว้ล่วงหน้าตียาวไปยัง “การเลือกตั้ง” ไม่ว่าจะเป็นภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นภายในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 ก็ตาม

นี่คือ “ยุทธวิธี” อันมีลักษณะในทาง “ยุทธศาสตร์”

โดยพื้นฐานหากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ประสบผลสำเร็จสามารถแก้ปัญหาได้อย่างราบรื่นและงดงามคงไม่ต้องสรุปออกมาในแบบนี้

ความล้มเหลว 1 เห็นได้จากการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550

ความล้มเหลว 1 เห็นได้จากการปูทางและสร้างเงื่อนไขกระทั่งเกิดรัฐประหารซ้ำในเดือนพฤษภาคม 2557 พร้อมกับความเห็นที่ว่า

รัฐประหาร 2549 เสียของ

ขณะเดียวกัน หากเมื่อประเมินแล้วทั้งรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ผนวกเข้ากับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ประสบผลสำเร็จ

คงไม่มีการประเมินออกมาในลักษณะอย่างนี้

รูปธรรมแห่งความล้มเหลวอย่างมีนัยสำคัญที่สุด คือ การยื้อ ถ่วง หน่วงโรดแมป “การเลือกตั้ง” ครั้งแล้วครั้งเล่า

ยื้อ ถ่วง หน่วงเพราะ “ความกลัว”

ประสบการณ์ทางการเมืองไม่ว่าที่สหราชอาณาจักร ไม่ว่าที่ฝรั่งเศส หรือเยอรมนี หากว่ารัฐบาลประสบความสำเร็จก็มักจะตัดสินใจยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้ง

เพราะรู้ว่าหากเลือกตั้งก็ชนะ

เพราะรู้ว่า ผลงานและความสำเร็จจากการบริหารย่อมเข้าตาประชาชน และประชาชนย่อมจะไว้วางใจให้กลับเข้ามาบริหารอีก

ถามว่าแล้วเหตุใน คสช.จึงต้องยื้อ ถ่วง หน่วง

ยื้อจาก “ปฏิญญาโตเกียว” ถ่วงจาก “ปฏิญญานิวยอร์ก” หน่วงจาก “ปฏิญญาทำเนียบขาว” กระทั่งเมื่อประกาศและบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.แล้วก็ยังไม่มีความมั่นใจ

นั่นก็เพราะไม่มั่นใจว่าจะได้ชัยชนะ

นั่นก็เพราะผลการสำรวจชี้ออกมาอย่างเด่นชัดว่าไม่มีทางที่พรรคการเมืองในเครือข่ายจะสามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้

ในที่สุดแล้วก็คือ กลัวความพ่ายแพ้

จากนี้จึงเห็นอย่างเด่นชัดว่า เมื่อมองความล้มเหลวของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ก็มองเห็นความเป็นจริงของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ปัญหานี้จึงมิได้เป็นเรื่องเฉพาะส่วน

ตรงกันข้าม นี่จะกลายเป็นกระบวนท่าและยุทธวิธีหนึ่งในการจะบรรลุชัยชนะในทางยุทธศาสตร์ต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเร็ว ไม่ว่าจะช้า

ประเด็น “รัฐประหาร” จะเป็นหัวข้อสำคัญในการต่อสู้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image