เดินหน้าชน : จะเลือกใคร โดย : เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

เหลือเวลาอีก 4 เดือน ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 7 ปี ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหนนี้อย่างน้อยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง โดยจะมีคนได้สัมผัสบรรยากาศการเลือกอนาคตของตัวเองผ่านนักการเมือง ผ่านพรรคการเมือง เป็นครั้งแรกจำนวนมากพอสมควร

หากนับเอาวันที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นหนล่าสุด เป็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มีการเปิดคูหาก็จริง แต่เกิดเหตุชุลมุนวุ่นวายในบ้านเมือง ลงเอยที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวเป็น “โมฆะ”

ทำให้ต้องนับการเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย เป็นหนล่าสุดอย่างเป็นทางการ

มติชนออนไลน์ นำเสนอเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 ระบุว่า สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้สรุปจำนวนรวมผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศปีการเลือกตั้ง 2562 (เกิดก่อนวันที่ 3 มกราคม 2544) มีทั้งสิ้น 51,564,284 คน เป็นชาย 24,886,213 คน หญิง 26,678,071 คน

Advertisement

ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ยังไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้ง (การเลือกตั้งครั้งล่าสุดคือการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557) คือบุคคลที่เกิดระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2539-2 มกราคม 2544 มีทั้งสิ้น 4,510,052 คน เป็นชาย 2,301,535 คน เป็นหญิง 2,208,517 คน ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวประมวลผลล่าสุด ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2561 ประมาณการจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย หลังจากนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย

ดังนั้น จำนวนตัวเลขวัยรุ่นไทยที่มีสิทธิเลือกตั้ง 4.5 ล้านคน จะส่งนัยยะต่อการประเมินผลคะแนนเสียงได้เช่นกัน คาดว่ามีอีกเป็นล้านๆ เสียงที่ยังไม่คิดเจาะจงเลือกคนเลือกพรรคไหนเป็นพิเศษ ประกอบกับเป็นยุคโลกข่าวสารในกำมือ กดๆ แล้วสไลด์หน้าจอเครื่อง การหาเสียงผ่านโซเชียลจึงเข้มข้นเป็นลำดับ เหล่านักวางแผนการตลาดน่าจะถูกจ้างมาร่วมวางแผน เพราะต่างมีข้อมูลกลุ่มผู้ใช้งานในโลกออนไลน์อยู่แล้ว ตั้งแต่อายุ เพศ การศึกษา อาชีพ พฤติกรรมหรือรสนิยม การกิน การเป็นอยู่ การช้อปปิ้ง เป็นต้น ที่ไม่ใช่แค่เพียงกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าวเท่านั้น ยังมีตัวเลขของคนในวัยกลางคน ผู้หลักผู้ใหญ่ จนถึงผู้อาวุโสที่สร้างโลกออนไลน์ของแต่ละคน

จึงอยู่ที่วิธีการที่จะนำเสนอให้มีความน่าสนใจ และต้อง “ถูกใจ” ในเนื้อหา

Advertisement

เมื่อย้อนกลับไปที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะใช้วิธีเลือกตั้งหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคคนใหม่ภายในสิ้นปีนี้ ผ่านแอพพ์ด้วยแล้ว ถือว่าแยบยลพอสมควร นอกจากจะได้ฐานข้อมูลของสมาชิกพรรคที่ร่วมโหวตเลือกจำนวนมากแล้ว ก็ยังสามารถจะใช้ฐานข้อมูลสมาชิกเดียวกันนี้ ทำการเผยแพร่การหาเสียงของ ส.ส.ทั่วประเทศผ่านช่องทางนี้ได้อีก หลังพ้น 90 วันระหว่างนี้ เข้าสู่โหมดหาเสียงอย่างเต็มรูปแบบ

มีการส่องกล้องกันว่า สุดท้ายแล้ว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ปีนี้อายุ 54 ปีแล้ว น่าจะได้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง ด้วยความเป็นบุคคลสาธารณะที่กลุ่มวัยรุ่นยังรู้จักชื่อเสียงกันอยู่ ก็ยังพอมีอะไรให้เชื่อมไปยังกลุ่มคะแนนวัยรุ่นเหล่านี้บ้าง

แต่เมื่อไปเปรียบเทียบกับพรรคพลังหนุ่มอื่นๆ บนสนามการเมืองด้วยแล้ว คงเป็นการบ้านสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรคเพื่อไทย และพรรคอื่นๆ อีก ที่นำโดยคนเก่าคนแก่จากแวดวงการเมือง นักวิชาการ ที่มากประสบการณ์

พรรคอนาคตใหม่ นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อายุ 39 ปี พาพรรคพวกที่ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว เดินสายรับฟังปัญหาบ้านเมืองไปทั่วเจ็ดย่านน้ำมาตลอด ความเป็นพรรคใหม่ไม่มีอะไรด่างพร้อย ใจถึงพึ่งได้ เชื่อมั่นตัวเองสูง ลงไปหาข้อมูลเพื่อเอาไอเดียมานำเสนอเป็นนโยบายในช่วงหาเสียง หรือจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา ที่กลุ่มแกนนำอาวุโสต่างผลักดันสายเลือดใหม่ขึ้นมา โดยจะมีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่เร็วๆ นี้ ก็น่าจะเป็น วราวุธ ศิลปอาชา ในวัย 45 ปี เข้ามากุมบังเหียนต่อสู้ในฐานะผู้นำพรรคครั้งแรก

ทำให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 62 ค่อนข้างชัดเจนและแตกต่างไปจากเดิมๆ ที่มักจะเป็นสองพรรคใหญ่ห้ำหั่นกัน แต่ครั้งนี้จะมีตัวเลือกเป็น “คนรุ่นใหม่” ที่ขอพิสูจน์ตัวเอง

เป็นการพิจารณาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง “คนรุ่นเก่า” กับ “คนรุ่นใหม่” ใครสมควรได้โอกาสมากกว่ากัน

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image